โลกในมุมมองของ Value Investor

โลกในมุมมองของ Value Investor

ห้างหุ้นส่วนบัฟเฟตต์

ประวัติการลงทุนในตลาดหุ้นของ วอเร็น บัฟเฟตต์ ที่มุ่งมั่นจริงจังและเป็นการลงทุน “เพื่อชีวิต” นั้นน่าจะเริ่มตั้งแต่เขาจัดตั้ง “ห้างหุ้นส่วนบัฟเฟตต์” ที่รวบรวมเงินจากญาติสนิทมิตรสหายได้เงินมาประมาณหนึ่งแสนเหรียญในปี 1956 ขณะที่เขามีอายุเพียง 26 ปีและเป็นปีที่กองทุนของ เบน เกรแฮม ที่บัฟเฟตต์ทำงานอยู่ปิดตัวลง เนื่องจาก เบน เกรแฮม ตัดสินใจเกษียณ และบัฟเฟตต์ตัดสินใจกลับบ้านเกิดที่โอมาฮา ในเวลานั้นบัฟเฟตต์คงได้ตัดสินใจแล้วว่าจะก้าวเดินในสายของการลงทุนด้วยตัวเอง แทนที่จะเกาะไปกับกองทุนของ เบน เกรแฮม ที่ได้เสนอให้บัฟเฟตต์รับช่วงเป็นหุ้นส่วนในบริษัทจัดการกองทุนต่อไป เหตุการณ์หลังจากนั้น ทุกอย่างของห้างหุ้นส่วนก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของ “ตำนาน” ของวอเร็น บัฟเฟตต์ นักลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกที่ยังมีชีวิตอยู่

หลักการและเงื่อนไขสำคัญของห้างหุ้นส่วนบัฟเฟตต์หรือก็คือ “กองทุนรวมบัฟเฟตต์” นั้นแตกต่างจากกองทุนรวมทั่ว ๆ ไปแต่จะคล้าย ๆ กับกองทุนเฮดจ์ฟันด์ในปัจจุบันนั่นก็คือ มันกำหนดขึ้นเพื่อให้ผู้บริหารมีแรงจูงใจในการบริหารเต็มที่และไม่มีผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันนั่นก็คือ ถ้ากองทุนทำผลตอบแทนได้ดี ผู้บริหารกองทุนก็จะได้ผลตอบแทนที่ดีด้วย แต่ถ้าบริหารไม่ดี ผู้จัดการก็จะไม่ได้อะไรตอบแทนและอาจจะขาดทุนด้วย นอกจากนั้นบัฟเฟตต์ยังกำหนดให้ตนเองมีอิสรภาพในการตัดสินใจเต็มที่โดยไม่ต้องกังวลต่ออารมณ์หรือความรู้สึกของผู้ลงทุนในระยะสั้น และต่อไปนี้ก็คือเงื่อนไขหลัก ๆ ที่บัฟเฟตต์ตั้งขึ้นในการบริหารและจัดการกองทุนของเขา

เริ่มตั้งแต่ผลตอบแทนการลงทุนที่จะทำได้ บัฟเฟตต์ตั้งเป้าว่ากองทุนน่าจะทำผลตอบแทน “ระยะยาว” ซึ่งก็คืออย่างน้อย 3-4 ปีขึ้นไป สูงกว่าดัชนีตลาดเช่นดัชนีดาวโจนส์ ประมาณปีละ 10% ซึ่งก็คือประมาณ 15-18% ต่อปีแบบทบต้นเนื่องจากดัชนีดาวโจนส์นั้นเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 5-8% ต่อปีแบบทบต้นในช่วงเวลานั้น แต่นี่ก็ไม่ใช่การรับประกัน คนที่มาลงทุนในครั้งแรกซึ่งมีไม่ถึง 10 คนต่างก็เป็นญาติและเพื่อนที่ไว้ใจและเชื่อมั่นในตัวบัฟเฟตต์และว่าที่จริงเป็นคนที่ขอร้องให้บัฟเฟตต์ช่วยบริหารเงินเอง

บัฟเฟตต์ไม่คิดค่าธรรมเนียมในการบริหารเงินแต่จะขอส่วนแบ่งจากกำไรจากการลงทุน ถ้าปีไหนห้างหุ้นส่วนหรือกองทุนกำไรเกิน 6% เขาจะขอส่วนแบ่งส่วนที่เกิน 25% เช่นถ้ากำไรต่อปีเท่ากับ 16% ส่วนที่เกินจาก 6% คือ 10% เขาจะได้ส่วนแบ่ง 2.5% แต่ในกรณีที่กำไรไม่ถึง 6% หรือขาดทุนในปีไหน เขาก็จะไม่คิดค่าบริหารในปีนั้น และก็จะไม่คิดค่าบริหารในปีต่อไปถ้าเงินลงทุนนั้นยังไม่กลับขึ้นมาเท่าเงินก่อนที่จะเกิดการขาดทุน พูดง่าย ๆ ถ้าช่วงปีไหนที่เงินไม่งอกเงยขึ้นเกิน 6% แบบทบต้น คนลงทุนก็ยังไม่ต้องจ่ายค่าบริหารกองทุน

บัฟเฟตต์อนุญาตให้ถอนเงินลงทุนได้เพียงปีละครั้งเพื่อที่จะทำให้เม็ดเงินลงทุนไม่ผันผวนจากคนที่อาจจะถอนหน่วยลงทุนในระหว่างปีโดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์ย่ำแย่ ซึ่งจะทำให้การบริหารเงินลงทุนมีปัญหาต้องขายหุ้นอย่างรวดเร็วในยามที่ไม่เอื้ออำนวย

บัฟเฟตต์ลงทุนแบบ Focus มาก หุ้นตัวหลัก ๆ ของเขาแต่ละตัวนั้นคิดเป็น 10-20% ของกองทุน ในช่วงหนึ่งนั้นเขากำหนดว่าตัวใดตัวหนึ่งต้องไม่เกิน 40% ของกองทุนซึ่งถือว่าสูงมากและอาจจะเป็นความเสี่ยงที่สูง อย่างไรก็ตาม ในกรณีแบบนั้นก็มักจะเกิดขึ้นเนื่องจากเขาเห็นโอกาสมหาศาลจากหุ้นบางตัวโดยที่ความเสี่ยงกลับต่ำ เข้าทำนองเป็นหุ้น “ตีแตก” อย่างในกรณีของหุ้นอเมริกันเอ็กซ์เพรส หรือหุ้นดิสนีย์ที่เขาเข้าซื้อจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ทำกำไรให้กองทุนมหาศาล

ห้างหุ้นส่วนบัฟเฟตต์ดำเนินมาต่อเนื่องถึงปี 1969 หรือ 13 ปี โดยที่คนลงทุนได้ผลตอบแทนหลังจากค่าบริหารประมาณ 24% ต่อปีแบบทบต้น เงิน 1 เหรียญกลายเป็นประมาณ 16 เหรียญ หรือโตขึ้น 15 เท่าในเวลา 13 ปี ในส่วนของบัฟเฟตต์เองซึ่งได้ค่าบริหารทุกปีด้วยนั้นสามารถทำผลตอบแทนแบบทบต้นได้ปีละประมาณ 30% เงิน 1 เหรียญกลายเป็น 29 เหรียญ ในขณะที่ดัชนีดาวโจนส์โตขึ้นเพียงปีละ 7.4% เงิน 1 เหรียญกลายเป็นเพียง 2.5 เหรียญ สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ ในช่วง 13 ปีนั้น กองทุนไม่เคยขาดทุนเลยในขณะที่ดัชนีดาวโจนส์ติดลบไป 5 ปี นอกจากนั้น ดูเหมือนว่าผลงานการลงทุนของบัฟเฟตต์นั้นมีความสม่ำเสมอสูงมาก เขาไม่เคยทำกำไรให้กองทุนสูงขนาด 50% ต่อปีขึ้นไปเลยและมีน้อยมากที่กำไรน้อยกว่า 10% ส่วนใหญ่แล้วเขาก็จะทำได้ตั้งแต่ 20-40% ต่อปีเป็นหลัก ซึ่งนี่ก็อาจจะแสดงให้เห็นถึงการกระจายหุ้นลงทุนในระดับที่พอเพียงไม่ใช่แบบบางคนที่อาจจะใช้วิธีการทุ่มลงทุนในหุ้นตัวใดตัวหนึ่งจนทำให้ผลตอบแทนบางปีสูงลิ่วแต่บางปีก็ตกต่ำรุนแรง

กลยุทธ์เลือกหุ้นของบัฟเฟตต์ในห้างหุ้นส่วนนั้นเน้นไปที่หุ้น 3-4 กลุ่ม ไล่ตั้งแต่กลุ่มที่น่าจะมากที่สุดก็คือกลุ่ม “นายพล” หรือหุ้นตัวเอกขนาดใหญ่ที่เขาดูว่ามี Value หรือคุ้มค่าตามหลักการของเบน เกรแฮม กลุ่ม “Workout” หรือกลุ่มที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงหรือมีเหตุการณ์พิเศษเช่น มีการประกาศเทคโอเวอร์หรือมีโอกาส Arbitrage ซื้อขายทำกำไรโดยไม่มีความเสี่ยง และกลุ่ม “Control” ซึ่งก็คือกลุ่มที่บัฟเฟตต์เข้าไปถือหุ้นในสัดส่วนที่มากกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดที่มีอำนาจในการจัดการบริษัท โดยที่หุ้นทุกกลุ่มนั้น จุดมุ่งเน้นส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นเรื่องของราคาหุ้นที่ถูกมากเมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทและนี่ก็คือแนวทางแบบเบน เกรแฮม ซึ่งก็น่าจะเหมาะกับสถานการณ์ของตลาดหุ้นในช่วงนั้นที่มีหุ้นราคาถูกมากมายประกอบกับการที่พอร์ตของบัฟเฟตต์ยังไม่ใหญ่นักที่ทำให้เขาสามารถเข้าซื้อหุ้นได้ทุกขนาด การปรับตัวเองมาลงทุนในหุ้น “ซุปเปอร์สต็อก” ของบัฟเฟตต์ นั้น เกิดขึ้นภายหลังเมื่อเขาปิดห้างหุ้นส่วนและเปลี่ยนมาใช้บริษัทเบิร์กไชร์แฮททาเวย์เป็นเครื่องมือของการลงทุนต่อมาจนถึงทุกวันนี้