Strategy 4.0

ปัจจุบันเป็นยุคของ 4.0 ที่ทุกๆ อย่างรอบตัวเป็น 4.0 กันหมด ตั้งแต่ Industry 4.0

Thailand 4.0 Marketing 4.0 Education 4.0 จนล่าสุดเห็นแม้กระทั่ง คนไทย 4.0 ผมก็เลยลองนึกย้อนไปถึงวิชาที่ผมสอนมายี่สิบกว่าปี ว่าพอจะมี Strategy 4.0 หรือ กลยุทธ์ 4.0 บ้างไหม นึกไปนึกมาก็พอจะจัด กลยุทธ์ ให้เข้าสู่ยุค 4.0 ได้เช่นกัน

สำหรับกลยุทธ์ที่แบ่งเป็นยุคต่างๆ นั้นจะเป็นเรื่องของวิธีการในการคิดทางกลยุทธ์ ที่สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไป เริ่มจากยุค Strategy 1.0 ที่ถือเป็นยุคแรกของการคิดเชิงกลยุทธ์ เป็นยุคที่มองว่ากลยุทธ์คือการวางแผน กลยุทธ์ในยุค 1.0 นั้น มุ่งเน้นในเรื่องของการตั้งวัตถุประสงค์หรือเป้าหมาย จากนั้นก็กำหนดแผนงานต่างๆ ที่จะทำเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้า ถึงแม้กลยุทธ์ 1.0 จะเป็นจุดเริ่มต้นของการคิดแบบกลยุทธ์ แต่ในปัจจุบัน องค์กรจำนวนมากก็ยังคิดกลยุทธ์ภายใต้มิติของความเป็น 1.0 อยู่

Strategy 2.0 ซึ่งเป็นยุคของการคิดกลยุทธ์ ที่มุ่งเน้นในด้านของคุณภาพ ประสิทธิภาพ และต้นทุน ซึ่งเป็นการสอดคล้องกับลักษณะของอุตสาหกรรมที่พอเริ่มเติบโตขึ้น ก็จะเน้นในเรื่องของคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับกลยุทธ์ 2.0 นั้น จะพบว่าองค์กรจะมีการคิดกลยุทธ์ที่เน้นคุณภาพของสินค้าและบริการ ให้เป็นไปตามความต้องการของลูกค้า รวมทั้งมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพ และการลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด

Strategy 3.0 จะเป็นการพัฒนาต่อจากกลยุทธ์ 2.0 เมื่อองค์กรสามารถนำเสนอสินค้าและบริการที่มีคุณภาพเท่าเทียมหรือไม่แตกต่างกันแล้ว กลยุทธ์ 3.0 จึงกลายเป็นยุคที่แนวคิดในเรื่องของการสร้างคุณค่าหรือ Value Creation เฟื่องฟู ภายใต้กลยุทธ์ 3.0 กลยุทธ์ขององค์กรต่างๆ จะมุ่งเน้นแต่เรื่องของการสร้างคุณค่าหรือ Value Creation ด้วยสรรพวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างคุณค่าด้วยความแตกต่างจากเทคโนโลยี จากภาพลักษณ์ จากบริการ อย่างไรก็ตามเมื่อองค์กรต่างๆ มุ่งเน้นการสร้างคุณค่ามากขึ้นเรื่อยๆ คุณค่าที่องค์กรให้ก็จะเริ่มเกินสิ่งที่ลูกค้าหรือผู้บริโภคต้องการ ซึ่งก็นำมาสู่ยุค 4.0

Strategy 4.0 เป็นการคิดกลยุทธ์ในยุคปัจจุบันที่สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมของธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนไป กลยุทธ์ 4.0 แตกต่างจากยุค 3.0 เนื่องจากพฤติกรรมของลูกค้าทั้งในการค้นหาและการซื้อสินค้าและบริการที่เปลี่ยนไป คู่แข่งขันใหม่ๆ ที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนโผล่ขึ้นมามากขึ้น ดิจิทัลเทคโนโลยีที่เปลี่ยนบริบทในการแข่งขัน และตัวอย่างที่เริ่มมากขึ้นขององค์กรขนาดใหญ่ที่เคยเป็นที่หนึ่งมาก่อนแล้วล่มสลาย

กลยุทธ์ 4.0 เป็นยุคที่มีการปรับมุมมองและวิธีการในการคิดทางกลยุทธ์ที่แตกต่างจากกลยุทธ์ 3.0 ในหลายๆ ด้าน อาทิเช่น การสร้างคุณค่าเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ อาจจะกลายเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดคู่แข่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนที่เข้ามาจับตลาดระดับล่าง หรือ แทนที่จะทำให้สินค้าและบริการมีความซับซ้อนมากขึ้น กลับเน้นสินค้าบริการท่ีง่าย ตอบสนองความต้องการพื้นฐานได้ดีขึ้นภายใต้ราคาที่ถูกลง หรือ แทนที่จะเน้นในการเอาชนะคู่แข่ง กลับเป็นการคิดในมุมของการทำให้คู่แข่งขันล้าสมัย หรือ แทนที่จะมุ่งเน้นกลยุทธ์แบบใต้รูปแบบธุรกิจ (Business model) เดิมๆ กลับมีการสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ (Business model innovation) เกิดขึ้น หรือ แทนที่จะมุ่งเน้นในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) เป็นหลัก กลับคิดในแง่ของการตั้งเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ทั้งสังคมและธุรกิจต่างได้รับประโยชน์ ฯลฯ

อย่างไรก็ดี ใช่ว่ากลยุทธ์ 4.0 จะต้องตัดขาดจากกลยุทธ์ในยุคก่อนหน้านี้ จริงๆ แล้ว เมื่อองค์กรหนึ่งกำหนดกลยุทธ์ขึ้นมา ก็อาจจะเป็นการผสมผสานระหว่างกลยุทธ์ตั้งแต่ 1.0 - 4.0 เลยก็ได้ เช่น “มองภาพกลยุทธ์เป็นการวางแผน โดยมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับคุณภาพและต้นทุน รวมถึงการสร้างคุณค่าให้กับลูกค้า แต่ขณะเดียวกันก็พยายามสร้าง Business model ใหม่ๆ ด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี”

ประเด็นที่สุดคือเมื่อบริบทและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและการดำเนินงานเริ่มเปลี่ยนไป องค์กรยังคิดและใช้ วิธีการคิดในทางกลยุทธ์แบบเดิมๆ อยู่หรือไม่?