การค้าเสรีที่ไม่พึงปรารถนา (2)

การค้าเสรีที่ไม่พึงปรารถนา (2)

ครั้งที่แล้วผมเขียนถึงบทความล้อเลียนการกีดกันทางการค้าเมื่อ 170 ปีที่แล้ว ซึ่ง

กุเรื่องการร้องเรียนของผู้ผลิตเทียนไขฝรั่งเศสว่าถูกการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นการนำเสนอหลักการสำคัญของการค้าเสรีคือการที่ทุกประเทศควรมุ่งเน้นผลิตสินค้าที่ตนผลิตได้ดีและนำเอาส่วนเกินของผลผลิตดังกล่าวมาแลกเปลี่ยนค้า-ขายกันอย่างเสรี โดยไม่ควรมีมาตรการกีดกันทางการค้า คือการทำให้ราคาสินค้าจากต่างประเทศแพงขึ้นเพื่อให้เกิด ความเป็นธรรม กับผู้ผลิตภายในประเทศ เพราะประเด็นหลักคือจะต้องยึดโยงผลประโยชน์ของผู้บริโภค ไม่ใช่ผู้ผลิต ทั้งนี้เนื่องจากเศรษฐศาสตร์มีสมมุติฐานหลักคือในโลกนี้มีทรัพยากรจำกัด กล่าวคือมีความขาดแคลน (scarcity) เพราะมนุษย์มีความต้องการที่ไม่มีที่สิ้นสุด (unlimited wants) ดังนั้นระบบเศรษฐกิจจึงจะต้องจัดสรรทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์ในการสร้างผลผลิตให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

ตรงนี้จะมีคนแย้งว่ามนุษย์ไม่ควรโลภมากจนไม่มีขอบเขต ซึ่งหากมนุษย์มีความต้องการที่มีขอบเขตจำกัดจริง และเมื่อระบบเศรษฐกิจผลิตสินค้าและบริการได้ครบถ้วนตามด้วยความต้องการดังกล่าวจริง วันนั้นก็สามารถยกเลิกการเรียนการสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ไปได้ เพราะวิชาเศรษฐศาสตร์เกิดขึ้นจากสมมุติฐานว่าโลกนี้มีความขาดแคลน แต่ผมเชื่อมั่นว่าวันนั้นจะยังไม่มาถึงในอีกหลายร้อยปีข้างหน้า เพราะแม้แต่ประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ก็ยังมีความต้องการให้เศรษฐกิจขยายตัว (ผมยังไม่เคยเห็นรัฐบาลของประเทศใดประกาศว่าไม่ต้องการให้เศรษฐกิจของประเทศตนขยายตัวให้ใหญ่กว่าที่เป็นอยู่) และภายในทุกประเทศที่ร่ำรวย ก็ยังมีคนจนอยู่เป็นแสนเป็นล้านที่ยังจะต้องพึ่งพาและพึ่งหวังให้ระบบเศรษฐกิจเกื้อให้ตนและครอบครัวมีงานทำที่ดีขึ้นและมีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนั้นวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นในโลกนี้ทำให้กระบวนการผลิตและการใช้ทรัพยากรต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว (เช่นในอดีตจากการใช้ถ่านหินเป็นน้ำมันและต่อไปน่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์) และความต้องการสินค้าและบริการก็เปลี่ยนแปลงไป เช่นปัจจุบันมีผู้สูงอายุมากขึ้นก็ย่อมต้องผลิตยาและบริการด้านสุขภาพมากขึ้น 

นอกจากนั้นการทุ่มเททรัพยากรเพื่อค้นคว้าทำยารักษาโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคความจำเสื่อม ฯลฯ ก็ต้องอาศัยทรัพยากรและบุคลากรในการวิจัยค้นคว้ามากมาย ทำให้ไม่สามารถนำเอาทรัพยากรดังกล่าวไปทำอย่างอื่นที่ประชาชนเรียกร้อง เช่นการพัฒนาความปลอดภัยของระบบขนส่งทางบก เป็นต้น 

กล่าวคือปัญหาหลักในเชิงเศรษฐศาสตร์คือการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในการตอบสนองความต้องการที่ไม่มีที่สิ้นสุดของมนุษย์นั้น น่าจะอยู่ไปกับโลกนี้ไปได้อีกนานแสนนาน โดยวันที่ไม่ต้องคิดในเชิงเศรษฐศาสตร์คือวันที่มีระบบหุ่นยนต์ผลิตสินค้าและบริการทุกประเภท ทำให้ไม่มีใครต้องทำงานเลย โดยที่หุ่นยนต์ดังกล่าวสามารถทำทุกอย่างโดยอาศัยพลังงานจากแสงอาทิตย์และยังบำรุงรักษาตัวเองได้ ในวันนั้นปัญหาเศรษฐกิจที่เหลือจะเป็นการแบ่งบันผลผลิตของหุ่นยนต์ให้เป็นธรรมกับมนุษย์ทุกคน เป็นต้น

การค้าระหว่างประเทศจึงเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ เพราะแต่ละประเทศย่อมมีทรัพยากรและความชำนาญแตกต่างกัน ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าแตกต่างกัน ดังนั้นการค้าเสรีจึงจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายและจะเพิ่มผลผลิตรวมของโลก เนื่องจากแต่ละประเทศจะมุ่งเน้นผลิตสินค้าที่ตนมีความเชี่ยวชาญและต้นทุนต่ำ เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนกัน เหมือนกับการดำเนินชีวิตของแต่ละบุคคลในภาวะปัจจุบัน ซึ่งตัวผมเองผลิตบริการอย่างเดียวคือการวิเคราะห์เศรษฐกิจ แต่ผมสามารถบริโภคสินค้าและบริการหลายพันหลายหมื่นประเภทจากระบบเศรษฐกิจที่ค้า-ขายสินค้าโดยเสรี คำว่าเสรีนี้แปลว่าเป็นกิจกรรมและธุระกรรมที่ทำโดยสมัครใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นทุกฝ่ายย่อมจะได้ประโยชน์ เพราะหากเสียเปรียบ ก็คงจะไม่ยอมทำธุระกรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่องโดยสมัครใจ

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นประเด็นพื้นฐานที่หลายคนอาจมองว่าไม่สะท้อนถึง “ความเป็นจริง” ที่เกิดขึ้นในเวทีการค้าของโลก ความกังวลว่าจะต้องมีการค้าที่ “เป็นธรรม” (ซึ่งพูดได้ แต่จะไม่สามารถตกลงคำนิยามหรือความหมายในเชิงปฏิบัติได้) รู้สึกว่าการส่งออกและการเกินดุลการค้าเป็นสิ่งที่ดี แต่ทุกประเทศในโลกย่อมเกินดุลการค้าไม่ได้ เพราะต้องมีประเทศที่ขาดดุลการค้า หากบางประเทศต้องการเกินดุลการค้าครับ