การจัดการการเงินภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง (3)

การจัดการการเงินภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง (3)

หลังจากคุยกันเรื่องการจัดการรายได้ เงินออม ค่าใช้จ่าย และการลงทุนแล้ว สัปดาห์นี้เราจะมาคุยกันถึงการจัดการหนี้สิน สำหรับท่านที่ไม่มีหนี้สิน

ก็อาจจะข้ามไปไม่อ่านบทความนี้ และไปอ่านในสัปดาห์หน้าได้เลย แต่สำหรับผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ผู้มีหนี้สินปกติ และผู้ที่คิดจะมีหนี้สิน กรุณาแวะอ่านก่อนนะคะ


การจัดการหนี้สิน

แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงจะยึดหลักพอประมาณ ซึ่งหมายถึงว่าถ้าคิดจะมีหนี้ ต้องสามารถชำระคืนได้ในอนาคต ไม่ใช่ก่อหนี้แล้ว แต่ไม่ทราบว่าจะหาเงินที่ไหนมาชำระคืน ดังนั้น การก่อหนี้จึงต้องมีเหตุผลว่า ก่อหนี้ไปใช้ในการทำอะไร

ยึดหลักง่ายๆค่ะ การก่อหนี้คือการนำเงินในอนาคตมาใช้ก่อน ดังนั้น การใช้จึงต้องก่อให้เกิดประโยชน์ เช่น นำไปใช้ในการศึกษา เพื่อเพิ่มพูนความรู้ เพื่อจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการมีความรู้เพิ่มขึ้น อย่างนี้ ในอนาคต ก็สามารถนำรายได้ส่วนที่เพิ่มขึ้นมาใช้คืนหนี้ได้

หรือบางคน ก่อหนี้เพื่อนำไปซื้อรถ เมื่อมีรถใช้เองก็จะทำให้ประหยัดค่ารถสาธารณะที่เดิมใช้อยู่ เงินค่ารถสาธารณะที่เคยจ่ายอยู่นี้ คือเงินที่จะนำมาผ่อนรถ ซึ่งโดยทั่วไปจะไม่เพียงพอ จึงต้องวางแผนนำรายได้อื่น หรือรายจ่ายอื่นที่ประหยัดได้มาเป็นค่าผ่อนชำระด้วย

ถัดไปคือการประมาณว่าจำนวนหนี้ที่แต่ละคนสามารถมีได้คือเท่าไร คำตอบคือ จำนวนที่มีแล้วสามารถผ่อนชำระได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับรายได้และกระแสในการจ่ายเงินของแต่ละคน หรือแต่ละครอบครัว โดยทั่วไประดับหนี้ที่สามารถทำให้การเงินไม่ตึงเกินไปคือ ระดับการผ่อนชำระที่ไม่เกินกว่า 35%ของรายได้

เมื่อคิดอย่างมีเหตุผลในลักษณะนี้แล้ว การก่อหนี้ที่มีเหตุผลไม่สมควร หรือการก่อหนี้ที่มีขนาดเกินตัว ก็จะลดลงไป

ขั้นตอนในการบริหารหนี้หลักๆคือ รวบรวมข้อมูลรายรับรายจ่ายของครัวเรือน การทำบัญชีรับจ่ายครัวเรือนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับผู้มีหนี้สิน ทั้งนี้เพื่อประเมินความสามารถในการก่อหนี้ของตนเอง

เคยเขียนไว้แล้วในบทก่อนๆว่า รายจ่ายไม่ควรมากกว่ารายรับ มิฉะนั้นจะไม่เกิดความยั่งยืน ดังนั้น ถ้ารายรับยังไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ไม่ควรก่อหนี้ค่ะ

อาจมีคำถามว่า ถ้ารายได้ไม่พอใช้จ่าย ไม่กู้หนี้ยืมสินมา ก็ไม่พอใช้

ตอบว่า ตามหลักการของเศรษฐกิจพอเพียง ต้องใช้เท่าที่มี แต่ถ้ารายจ่ายเกินกว่ารายรับ วิธีแก้ไขมีสองอย่างเท่านั้นคือ 1. เพิ่มรายรับ กับ 2. ลดรายจ่าย เราจะไม่กู้ยืนมาใช้จ่ายเด็ดขาด

อย่าลืมนะคะว่า พอมีหนี้แล้ว ค่าผ่อนชำระหนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของรายจ่ายด้วย แต่หนี้บางอย่าง เงินต้นที่ผ่อนก็ไม่ได้ถือเป็นรายจ่ายทั้งหมด แต่อาจเป็นเงินลงทุนบางส่วน เช่น เงินกู้ที่อยู่อาศัย ดอกเบี้ยที่ผ่อนถือเป็นรายจ่ายจริงๆ คือจ่ายแล้วก็หมดไป แต่เงินต้นที่ผ่อนเสมือนเป็นการลงทุน เพราะพอผ่อนหนี้หมด หลังจากนั้นก็เสมือนอยู่บ้านได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าเช่านั่นเอง

นอกเหนือจากรายรับรายจ่ายแล้ว เรายังต้องสำรวจทรัพย์สินด้วยค่ะ ว่าเรามีทรัพย์สินทั้งหมดเท่าใด ทรัพย์สินแต่ละประเภทให้ผลตอบแทนเท่าใด และสำรวจหนี้สินว่า หนี้สินแต่ละอย่างมีจำนวนเงินตั้งต้นเท่าใด มีหนี้คงค้างเท่าใด อัตราดอกเบี้ยเท่าใด มีอะไรเป็นหลักประกัน ระยะเวลากู้ยืม และเงื่อนไขการชำระเป็นอย่างไร ทั้งนี้เพื่อให้เราสามารถวางแผนบริหารจัดการในขั้นตอนต่อไปได้

ขั้นตอนต่อไปคือ ประเมินความสามารถในการชำระคืนของตนเอง โดยหากยังต่ำกว่า 35-40% ถือว่าท่านมีความสามารถในการชำระคืนเพิ่ม ให้ชำระคืนเพิ่ม เพื่อให้หนี้สินหมดไปเร็วขึ้น หากสูงกว่านี้ ให้รีบหาที่ปรึกษาค่ะ

แหล่งเงินที่สามารถนำมาชำระคืนหนี้ได้ เช่น เงินออมที่มีอัตราผลตอบแทนต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และเป็นส่วนที่เกินจากสภาพคล่องที่ควรจะมีไว้เผื่อฉุกเฉิน เพืื่อใช้จ่ายได้ประมาณ 6 เดือน

นอกจากนั้น การประหยัดเพิ่ม หรือหารายได้พิเศษเพิ่ม ก็ช่วยให้มีเงินคืนหนี้เพิ่ม หรือการหาแหล่งเงินกู้ใหม่ที่มีอัตราดอกเบี้ยลดลง ก็ทำให้มีภาระการผ่อนลดลง และ อาจจะสำรวจเพื่อขายทรัพย์สินบางส่วนที่ไม่ได้ใช้ เพื่อนำไปชำระหนี้ เป็นต้น โดยในการคืนหนี้ ให้คืนหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงก่อนเพื่อลดภาระ โดยทั่วไปหนี้ในระบบ (กู้กับธนาคารและสถาบันการเงิน) จะมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าหนี้นอกระบบมาก

สำหรับผู้ที่นายจ้างจ่ายค่าจ้างเป็นเงินสด ควรขอให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างผ่านระบบธนาคาร หรือผู้มีอาชีพอิสระ ควรพยายามให้กระแสรายรับ รายจ่าย ผ่านระบบธนาคาร เพื่อให้มีข้อมูลที่สถาบันการเงินสามารถใช้พิจารณาประกอบการให้กู้ เป็นการทยอยสร้างเครดิตให้กับตัวเอง

และที่สำคัญและหลายคนอาจมองข้ามคือ การเจรจาหนี้ บางทีสถานการณ์เปลี่ยนไป อาจจะขอลดอัตราดอกเบี้ยลง หรือปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการผ่อนชำระให้เหมาะสมกับผู้กู้ได้มากขึ้น และหากไม่ไหวจริงๆ ต้องกล้าที่จะขอความช่วยเหลือพึ่งพาจากคนใกล้ชิด เพื่อให้หลุดออกจากวังวนหนี้ที่เราอาจจะก่อไปในอดีตด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ทั้งนี้ทั้งนั้น หากไม่จำเป็นต้องมีหนี้ ก็ไม่ควรมี ขอให้ยึดสุภาษิตว่า “การไม่มีหนี้ เป็นลาภอันประเสริฐ”ค่ะ