อารมณ์ ... ต้องไม่ข่ม แต่ต้องกำกับ

อารมณ์ ... ต้องไม่ข่ม แต่ต้องกำกับ

ทางที่จะแก้ปัญหาในเรื่องอารมณ์ของตนเองให้ได้ ก็คงมีหลายวิธีแตกต่างกันออกไป แต่ที่ได้ยินมากก็คือ การข่มอารมณ์ไว้

ในการเจรจาต่อรองกันเพื่อให้ดีลสำเร็จและแต่ละฝ่ายได้รับประโยชน์ตามความมุ่งหมายของตนนั้น ย่อมจะมีทั้งช่วงเวลาที่ราบรื่นและขัดแย้งสลับกันไปมา โดยในช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งนั้น การที่ตนไม่ได้ดั่งใจก็อาจเป็นเหตุให้เกิดอารมณ์โกรธ ผิดหวัง หงุดหงิด กลัว เครียด ฯลฯ จนมองทุกอย่างรวมทั้งคู่ร่วมเจรจาในแง่ลบไปหมด ซึ่งจะทำให้เกิดผลร้ายต่อการเจรจา เพราะขาดการใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่จะต้องนำมาใช้ในการแก้จุดขัดแย้ง และอาจเป็นเหตุที่ทำให้ดีลไม่สำเร็จ หรือสำเร็จแต่ไม่ดีตามที่ควรจะเป็น

ผู้ที่เคยมีประสบการณ์เช่นนี้จึงต้องหาทางที่จะแก้ปัญหาในเรื่องอารมณ์ของตนเองให้ได้ ซึ่งก็คงมีหลายวิธีแตกต่างกันออกไป แต่ที่ได้ยินมากก็คือ การข่มอารมณ์ไว้

การข่มอารมณ์หมายถึงการไม่แสดงออกแม้จะมีอารมณ์อยู่ ซึ่งเท่ากับว่าอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นโกรธ กลัว เหม็นขี้หน้า ฯลฯ ทั้งหลายทั้งปวงยังอยู่ครบเพียงแต่ใช้ความอดกลั้น กล้ำกลืนมันไว้ไม่ให้ปรากฏออกมา แต่อารมณ์ที่ข่มไว้นี้จะปะทุขึ้นมาอีกเมื่อใดก็ได้ ขึ้นอยู่กับขอบเขตของความอดกลั้น หรือความสามารถในการข่มอารมณ์ของแต่ละคน ดังนั้น แม้การข่มอารมณ์จะมีประโยชน์แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด

การข่มอารมณ์ช่วยสร้างผลดีต่อภาพลักษณ์ของเรา ทำให้ดูเป็นคนสงบขึ้น แต่เนื่องจากปัญหา (คืออารมณ์) ไม่ได้หายไป อารมณ์ที่ยังคงมีอยู่แต่ถูกข่มเอาไว้นั้นก็จะยังคงวนเวียนมาโจมตีอยู่ตลอด เวลาที่เราพยายามที่จะใช้ความคิดสร้างสรรค์หาทางแก้ปัญหาที่ประสบอยู่ จนทำให้ใช้ความคิดได้ไม่ดีเท่าที่ควร

สำหรับคนที่นับถือศาสนาพุทธและเข้าใจหลักสุญญตาที่ท่านพุทธทาสเคยสอนไว้ในหัวข้อ 'จิตว่าง: ตัวกู-ของกู' ย่อมจะสามารถเผชิญกับปัญหาเรื่องอารมณ์ได้อย่างราบรื่น โดยอาจจะถึงขั้นกำจัดไม่ให้มีอารมณ์เกิดขึ้นเลยก็เป็นได้

แต่ในวิธีคิดแบบฝรั่งซึ่งยังไปไม่ถึงขั้นกำจัดต้นเหตุแห่งอารมณ์นั้น จะมีทฤษฎีในการคิดเรียกว่า Emotional Agility (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเรื่อง Emotional Intelligence) คือ การยอมรับว่าตนเองมีอารมณ์ แต่แทนที่จะไปข่มมันไว้ ให้ยอมรับว่าเรามีอารมณ์แต่เป็นเพียงสถานการณ์ที่อารมณ์สร้างขึ้นในแต่ละขณะ ไม่สรุปว่าเหตุการณ์เป็นอย่างที่อารมณ์กำลังพาไป เช่น เมื่อเรามีอารมณ์โกรธว่าฝ่ายตรงข้ามไม่มีเหตุผล เราจะต้องบอกตัวเองว่า ตัวเรา 'กำลังคิดว่า' ฝ่ายตรงข้ามไม่มีเหตุผล เพราะเขาโต้แย้งเราและทำให้เราโกรธ เพื่อเป็นการกำกับตนเองให้รู้เท่าทันว่ามันเป็นเพียงอารมณ์ ซึ่งมุมมองของเราจะถูกต้องตามข้อเท็จจริงหรือไม่ยังต้องรอการพิสูจน์ อันจะทำให้เราเข้าใจและกำกับอารมณ์ได้และไม่ยึดติด จนสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ต่อไปได้ว่าเราควรจะทำอย่างไรที่ดีที่สุดในการแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้น (บทความจาก Harvard Business Review ชื่อ How Effective Leaders Manage Their Negative Thoughts and Feelings เขียนโดย Susan David และ Christina Congleton)

ในดีลที่กลุ่มปราสาททองโอสถ (บริษัท ประนันท์ภรณ์ จำกัด) เข้าถือหุ้น 50% ในทีวีดิจิตอลช่องวัน (บริษัท เดอะวัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด) ร่วมกับกลุ่มของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) และคุณถกลเกียรติ วีรวรรณ ซึ่งผมทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายนั้น ผมได้มีโอกาสทำงานร่วมกับคุณประดิษฐ์ ทีฆกุล ซึ่งเป็นตัวแทนเจรจาของกลุ่มปราสาททองโอสถ ซึ่งในการทำดีลนี้ ผมพบว่า

คุณประดิษฐ์สามารถใช้เหตุและผลในการพูดคุยหาทางออกในทุกโจทย์ยากๆ ได้เป็นอย่างดียิ่ง โดยไม่แสดงออกว่ามีอารมณ์ใดๆ อยู่หรือไม่เลย ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติที่โดดเด่นของคุณประดิษฐ์

คุณประดิษฐ์เป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (Bangkok Airways) ซึ่งผมได้เคยทำงานร่วมกับคุณประดิษฐ์มาแล้วตั้งแต่งานการเสนอขายหุ้นของบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (IPO) และนำหุ้นของบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2556 ซึ่งผมทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมาย และได้สังเกตเห็นคุณสมบัติในการไม่แสดงหรือใช้อารมณ์เช่นนี้ของคุณประดิษฐ์มาตั้งแต่ครั้งนั้น

ผมสังเกตว่าคุณประดิษฐ์ไม่มีอาการอารมณ์ค้างและยังปลอดโปร่งอยู่ได้ตลอดเวลาของการเจอโจทย์ยาก ซึ่งทำให้ผมเชื่อว่าคุณประดิษฐ์ไม่ได้ใช้วิธีข่มอารมณ์ แต่จะใช้วิธีกำกับอารมณ์ หรือถึงขั้นจิตว่างทางพุทธศาสนา ... ข้อนี้ผมไม่แน่ใจ