Investment Journey

Investment Journey

“ทรัมป์” มาแล้ว

ในที่สุดการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯก็ผ่านไปแบบล็อคถล่มอย่างที่หลายๆคน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเงิน)หวาดหวั่นเอาไว้ ถือเป็นการซ้ำรอยแผลเดิมจากการลงประชามติออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรที่ได้ฝากเอาไว้ และเป็นไปอย่างที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศก่อนหน้านี้ว่าเขาจะสร้างปรากฏการณ์ Brexit Plus, Plus, Plus ให้โลกตะลึง

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในครั้งนี้ส่งผลสั่นสะเทือนด้านจิตวิทยาไปทั่วโลก เพราะในสายตาของนักการเมือง และนักการเงินที่มีภูมิหลังด้านการศึกษาในแบบอนุรักษนิยมจำนวนมากมอง ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าเป็นผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะเป็นผู้นำประเทศได้ ไม่ต้องนึกถึงว่าจะเป็นถึงผู้นำสหรัฐฯด้วยซ้ำ

เชื่อว่าแม้กระทั่งคู่แข่งอย่างนางฮิลลารี คลินตัน ก็คงคาดไม่ถึงเช่นกันว่าตนเองจะแพ้แม้ในรัฐที่ได้ชื่อว่าเป็นฐานเสียงอันแข็งแกร่งของพรรคเดโมแครตก็ตาม (แต่หากนับจำนวนคนที่ออกเสียงเลือกเธอทั่วประเทศ ฮิลลารียังคงมีคะแนนนิยมเหนือกว่าทรัมป์มากกว่าหนึ่งล้านเสียงจากการนับคะแนนจนถึงปัจจุบัน)

ในด้านการลงทุนนั้น เชื่อว่านักลงทุนจำนวนมากเกิดความประหวั่นพรั่นพรึงว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับการลงทุนของตนทั้งในและต่างประเทศ เมื่อนักการเมืองที่ประกาศนโยบายแบบสุดโต่ง จนยากจะดำเนินการได้ในทางปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็น การสร้างกำแพงกั้นระหว่างสหรัฐฯกับเม็กซิโก หรือการห้ามคนมุสลิมเข้าประเทศ ฯลฯ หรือนโยบายเอาตัวเองเป็นหลัก ไม่เอาเพื่อนฝูง (America First) ด้วยการตั้งกำแพงภาษีสินค้าที่ผลิตในประเทศจีนและเม็กซิโก เป็นต้น

แต่ความกังวลนั้นก็เริ่มผ่อนคลายลงบ้างภายหลังการประกาศชัยชนะ โดยนายทรัมป์เริ่มแสดงให้เห็นความเป็นผู้โชกโชนในสังเวียนชีวิต ไม่ว่าจะเป็นท่าทีให้เกียรติผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีโอบามา นางคลินตัน (ทั้งที่ก่อนหน้านี้ พูดจาเหยียดหยามกันออกสื่อ แบบผีไม่เผาเงาไม่เหยียบกันมาโดยตลอด) หรือแม้กระทั่งการให้สัมภาษณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับการที่คนอเมริกันเริ่มแสดงท่าทีเหยียดสีผิวกันอย่างเปิดเผย และขอร้องให้หยุดพฤติกรรมดังกล่าว (ทั้งที่ก่อนหน้านั้น ตนเองแท้ๆที่เป็นผู้จุดกระแสนี้ให้คุโชนขึ้นในใจของคนอเมริกัน)

แม้จะเริ่มฉายแววแล้วว่าการพูดจารุนแรง ท้าตีท้าต่อยกับคนทั่วไปหมดก่อนหน้านี้ เป็นส่วนหนึ่งของวาทะกรรมทางการเมือง ซึ่งปรับเปลี่ยนได้เมื่อจำเป็น แต่หากทรัมป์ไม่รักษาสัญญาที่ให้ไว้กับผู้สนับสนุนเลยแม้สักข้อเดียว คงเป็นการทดสอบความรู้สึกคนอเมริกันครั้งสำคัญในอีก 4 ปีข้างหน้า ว่าเขายังควรจะได้รับเลือกตั้งเป็นผู้นำประเทศอีกครั้งหรือไม่

แต่หากเขาพยายามรักษาสัญญาที่ให้ไว้ แม้เพียงข้อเดียว (ซึ่งในสายตาของผู้ไม่นิยมทรัมป์ ก็แย่เพียงพอแล้ว) อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการวางแผนการลงทุนของนักลงทุนในอนาคต

จากที่เคยกล่าวไว้ในที่นี้เมื่อหลายเดือนก่อนว่า จากข้อมูลในอดีตที่วิเคราะห์โดย Taylor Tepper แห่ง Time ผู้นำและนโยบายของผู้นำสหรัฐฯมิได้ส่งผลพิเศษแตกต่างแต่อย่างใดกับผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับจากการลงทุนในดัชนีหุ้นขนาดใหญ่อย่าง S&P 500 นั่นคืออัตราผลตอบแทนของหุ้นสหรัฐฯนับตั้งแต่ปี 1926 ที่เป็นบวกในแต่ละปี มีสัดส่วนถึงสองในสามของระยะเวลาทั้งหมดไม่ว่าประธานาธิบดีจะเป็นใคร หรือมาจากพรรคไหนก็ตาม

ตัวอย่างหนึ่งเที่แสดงถึงความไม่สัมพันธ์ระหว่างนโยบายกับผลตอบแทนของตลาดหุ้น ก็เช่นประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ซึ่งสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก โดยลดขั้นตอนราชการ รวมถึงลดภาษี แต่ราคาหุ้นขนาดเล็กในช่วงที่เขากุมบังเหียนกลับเพิ่มขึ้นน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับยุคของจิมมี่ คาร์เตอร์ ซึ่งเผชิญปัญหาเงินเฟ้อ และการขาดแคลนพลังงาน

ดังนั้น สำหรับนักลงทุนอย่างเราๆท่านๆ ไม่ควรจะเอาเพียงความรักความเกลียดนักการเมืองมากำหนดชะตาของพอร์ตการลงทุนแต่เพียงอย่างเดียว เพราะบริษัทที่มีศักยภาพ และมีผู้บริหารที่มีความสามารถควรจะสามารถหาหนทางที่จะประกอบธุรกิจต่อไปได้ เพื่อให้มีผลกำไรอย่างยั่งยืนในระยะยาว ไม่ว่าใคร หรือพรรคไหนจะมาเป็นผู้นำประเทศก็ตาม