Investment Journey

Investment Journey

เทคโนโลยี : อนาคตธุรกิจจัดการลงทุน

ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เรามักจะได้ยินหลายคนพูดถึง Fintech หรือการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อเอื้อให้การทำธุรกรรมทางการเงินมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การเกิดขึ้นของสมาร์ทโฟน และความสะดวกรวดเร็วในการส่งผ่านข้อมูล มีส่วนสำคัญให้พัฒนาการของ Fintech เติบโตได้อย่างก้าวกระโดดในระยะเวลาเพียงไม่นาน การพัฒนาช่องทางการชำระเงินในรูปแบบใหม่ๆสร้างความสะดวกสบายให้แก่ผู้บริโภคและลดต้นทุนการใช้บริการลง เช่น การใช้บัตรรถไฟฟ้าชำระค่าสินค้าและบริการแทนเงินสด การชำระเงินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และแอพพลิเคชั่นต่างๆ เป็นต้น

สำหรับในด้านการจัดการเงินลงทุนนั้น Fintech ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อพัฒนาการในอนาคตเช่นกัน โดยผู้เขียนขอนำสรุปผลการศึกษาบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการจัดการลงทุนของ World Economic Forum ในหัวข้อ The Future of Financial Services: How disruptive innovations are reshaping the way financial services are structured, provisioned and consumed ซึ่งจัดทำโดยคณะผู้แทนสถาบันการเงินชั้นนำ ร่วมกับบริษัทดีลอยต์ทูชโทมัตสุ จำกัด (ประเทศอังกฤษ) เมื่อเดือนมิถุนายน 2558 มาเล่าให้ฟังโดยสังเขป เนื่องจากยังมีความน่าสนใจ และคงความทันสมัยอยู่ ดังนี้

1) สถาบันการเงินจะสูญเสียความสามารถในการเข้าถึงลูกค้า ให้กับเว็บไซต์เทียบข้อมูลผลิตภัณฑ์และราคาออนไลน์

2) การให้คำปรึกษาด้านการลงทุน ผ่านบริการบริหารสินทรัพย์ออนไลน์ (Robo-advisor) จะได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นในกลุ่มนักลงทุนประเภทชนชั้นกลางที่มีรายได้สูง (Mass Affluent) (จากเดิมที่จะจำกัดเฉพาะในกลุ่มนักลงทุนรายย่อยทั่วไป) เนื่องจากมีความสะดวก รวดเร็ว และมีค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องต่ำกว่าการรับบริการจากที่ปรึกษาการลงทุนโดยตรง

3) ผู้ลงทุนจะคาดหวังบริการที่มีความเฉพาะตน และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในราคาที่ลดลง

4) นักลงทุนสามารถมองเห็นภาพรวมของพอร์ตการลงทุนทั้งหมดที่มี (แทนการแยกเห็นแบบกระจัดกระจายตามเอกสารที่ส่งมาจากหลายสถาบันการเงิน) รวมถึงมีบริการวิเคราะห์ความเหมาะสมของพอร์ตโดยรวมของตนอีกด้วย

5) เปิดโอกาสให้นักลงทุนทั่วไปที่มีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุน แต่อาจมีความรู้ด้านเทคโนโลยีในระดับจำกัด สร้าง พัฒนา และทดสอบ ระบบคอมพิวเตอร์ที่จะมาช่วยจัดการในการส่งคำสั่งซื้อขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน (Retail Algorithmic Trading) ที่เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะของตนเอง โดยสามารถขาย หรือแบ่งปันกลยุทธ์ดังกล่าวให้แก่นักลงทุนรายอื่นได้

6) นักลงทุนจะเน้นลงทุนในกองทุนรวมดัชนี (Passive Fund) และกองทุนรวมอีทีเอฟที่มีต้นทุนต่ำมากยิ่งขึ้น

7) เปิดโอกาสให้มีการแบ่งปันความคิดเห็น และความรู้เชิงลึกในกลุ่มของนักลงทุนด้วยกัน (Social Trading)

อย่างไรก็ดี พัฒนาการที่คาดว่าจะเกิดขึ้นนี้ ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงเช่นเดียวกัน โดยมีโอกาสที่นักลงทุนจะตัดสินใจซื้อขายหุ้น หรือตราสารต่างๆตามสภาวะตลาด แทนที่จะมุ่งเน้นวินัยทางการลงทุนในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่ตลาดผันผวนอย่างมาก (เพราะอย่าลืมว่าเรามิได้ใช้มนุษย์เป็นผู้ให้คำปรึกษา แต่ให้ระบบงานคอมพิวเตอร์เป็นผู้ให้คำปรึกษาแทน) นอกจากนี้ บริษัทหรือสถาบันการเงินที่ให้บริการด้านการเงินอาจได้รับข้อมูลจากผู้ลงทุนไม่เพียงพอที่จะสร้างพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสม เนื่องจากระบบคอมพิวเตอร์มีข้อจำกัดในการซักถามข้อมูลให้ใกล้เคียงความจริงที่สุด

การให้ผู้ลงทุนทั่วไปที่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารเงิน (Prosumer) มาแข่งขันกับผู้จัดการกองทุนที่ขึ้นทะเบียนกับทางการอย่างถูกต้องนั้นก็อาจสร้างแรงจูงใจให้เกิดการหลอกลวงผู้ลงทุนรายอื่นๆ อีกทั้งผู้ลงทุนทั่วไปมักจะไม่ได้ประเมินความเสี่ยงของกลยุทธ์ที่ไอดอลของตนคิดค้นขึ้นอย่างดีเพียงพอ นอกจากนี้การที่นักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่ไม่สามารถอดทนต่อความผันผวนในระยะสั้นได้ ส่งผลให้เกิดการซื้อขายกองทุนบ่อยครั้ง จนเป็นเหตุให้ผลตอบแทนโดยรวมของตนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และสร้างแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสมจากการซื้อขายบ่อยให้กับที่ปรึกษาการลงทุนอีกด้วย