ช้อปช่วยชาติ 'มี' ดีกว่า 'ไม่มี'

ช้อปช่วยชาติ 'มี' ดีกว่า 'ไม่มี'

ก่อนหน้านี้ลุ้นกันมากว่ามาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” จะถูกนำออกมาใช้

ร่วมกอบกู้ยอดขายของบรรดาภาคธุรกิจที่ต่างตั้งความหวังว่า แคมเปญแห่งชาติ ครั้งนี้จะเป็นไฮไลท์สำคัญ กระตุ้นการตัดสินใจซื้อของลูกค้าเก็บเกี่ยวยอดขายในช่วงโค้งสุดท้ายนี้ให้ได้มากที่สุด เพื่อปิดบัญชีประจำปีได้อย่างสวยงาม

แม้ช้อปช่วยชาติจะเป็นปัจจัยบวก แต่จะเพิ่มตัวเลข บวก มากแค่ไหนยังต้อง ลุ้น กันต่อไปเช่นกัน  เพราะต้องไม่ลืมว่าสินค้าและบริการทุกแขนงต่างต้องช่วงชิงยอดขายบนเค้กก้อนเดิม ซึ่งอาจจะใหญ่ขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ไม่อู้ฟู้ด้วยเศรษฐกิจที่ซึมยาวมาอย่างต่อเนื่อง ฐานรายได้ของผู้บริโภคจึงไม่เติบโตมากนัก 

หรือหากพิจารณาจากผู้ที่สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีในระบบกว่า 9 ล้านคน ในครั้งก่อนมีผู้มาใช้สิทธิ์ราว 1 ล้านคน ครั้งนี้ประเมินกันว่าน่าจะมีลูกค้าศักยภาพ 1.5-2 ล้านคน มาใช้สิทธิ์เพิ่มจากปี 2558

ในมุมของผู้ประกอบการมองว่าช้อปช่วยชาติ มี ดีกว่า “ไม่มี” เพราะไม่เพียงผู้อยู่ในระบบภาษีจะได้รับประโยชน์โดยตรงทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย แต่สีสันและความคึกคักของแคมเปญส่งเสริมการขายต่างๆ อึกทึกครึกโครมทั่วประเทศ ทำให้บรรยากาศซื้อขายส่งแรงกระเพื่อมต่อเนื่องกระตุ้นประชาชนทุกภาคส่วนอยากออกมาจับจ่าย ยิ่งในจัวหวะของเทศกาลปีใหม่ที่ต้องซื้อของฝาก ของขวัญ ของแจก ต่างๆ

โดยกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์กีฬา ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้มากกว่าหมวดอื่นๆ เพราะเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง ผู้บริโภครอซื้อเพื่อเป็นของขวัญให้ตัวเองและครอบครัว ในปีก่อนประเมินว่า ยอดขายกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าเติบโตเฉลี่ยถึง 25% ขณะที่กลุ่มสินค้าแฟชั่น เสื้อผ้า เครื่องสำอาง ลักชัวรี่แบรนด์ ได้ประโยชน์เช่นกัน ปีก่อนยอดขายเติบโตสูงสุด 35%

รอบนี้ผู้ประกอบการต่างมีเวลาเตรียมตัว เตรียม สต็อกสินค้า รองรับกำลังซื้อที่เชื่อว่าจะมากกว่าครั้งก่อนด้วยเวลาที่ยาวนานกว่า ในภาพรวมเศรษฐกิจเมื่อเกิดการกระจายของเม็ดเงินลงสู่ระบบ ทฤษฎีโดมิโน จะทำงาน ส่งผลและสร้างแรงกระเพื่อมกระจายไปในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ซึ่งบรรจบกับการเร่งรัดงบประมาณของภาครัฐด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

เมื่อทุกฟันเฟืองได้มีโอกาสและจังหวะเวลาในการหมุน ย่อมมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเดินหน้า