นโยบาย demonetization ของ นรม.โมดี

นโยบาย demonetization ของ นรม.โมดี

ณ วันนี้ ก็นับเป็นเวลาหนึ่งเดือนกว่าแล้ว หลังจากที่นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี

ของอินเดียประกาศยกเลิกธนบัตรมูลค่า 500 และ 1,000 รูปี เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมา ผลกระทบจากการดำเนินนโยบายดังกล่าวยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอยู่อย่างมากในอินเดียจนทุกวันนี้

เมื่อตอนที่ประกาศยกเลิกธนบัตรฯ (หรือที่เรียกว่า demonetization) นรม. โมดีย้ำว่า การสั่งยกเลิกธนบัตรฯ อย่างกะทันหัน เพื่อให้ผู้ที่ถือครองเงินสดอย่างผิดกฎหมายไม่สามารถใช้หรือหมุนเวียนเงินนั้นได้ เป็นสิ่งจำเป็นต้องทำ เพื่อเดินหน้าขจัดการคอร์รัปชันซึ่งเป็นสาเหตุหลักของความยากจน ปัญหาการถือครองเงินนอกระบบ (black money) และปัญหาการใช้ธนบัตรปลอมซึ่งมีส่วนในการสนับสนุนการก่อการร้ายในอินเดีย

อย่างไรก็ตาม มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การยกเลิกธนบัตรดังกล่าวในทางลบอย่างมาก ทั้งจากนักเศรษฐศาสตร์อินเดียและต่างชาติ มองว่า เป็นการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด ขาดการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ และสร้างความเดือนร้อนให้กับประชาชนโดยทั่วไป กล่าวคือ เศรษฐกิจอินเดียยังเป็นเศรษฐกิจที่ใช้เงินสดอยู่ (cash economy) การประกาศยกเลิกธนบัตรดังกล่าวอย่างกระทันหัน เท่ากับเป็นการดึงเงินสดถึงร้อยละ 86 ออกจากระบบเศรษฐกิจอินเดีย และรัฐบาลอินเดียก็ไม่สามารถนำธนบัตรใหม่กลับเข้าระบบเพื่อมาทดแทนและแจกจ่ายให้ถึงมือประชาชนได้ทัน จึงได้สร้างปัญหาเงินสดขาดแคลนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

นสพ. Times of India ได้ประมาณมูลค่าความเสียหายจากการดำเนินนโยบาย demonetisation ในช่วง 50 วันนับจากวันประกาศนโยบาย ทั้งต่อภาคอุตสาหกรรม ภาคธนาคาร และครัวเรือน รวมทั้งสิ้นประมาณ 1,280 ล้านล้านรูปี

ดร. Amartya Sen นักเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดียผู้ได้รับรางวัลโนเบล ออกมาวิจารณ์ว่า นอกจากนโยบายดังกล่าวจะไม่ช่วยนำเงิน black money กลับเข้าระบบได้แล้ว ยังทำลายความเชื่อมั่นไว้วางใจในระบบเศรษฐกิจอินเดีย โดยเฉพาะความน่าเชื่อถือในเงินธนบัตรรูปีด้วย

ล่าสุด ในช่วงปลายเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา รัฐบาลของ นรม. โมดีได้หันความเปลี่ยนคำอธิบาย (narrative) ของการดำเนินนโยบาย demonetisation จากเดิมที่เน้นเพื่อการแก้ปัญหาการถือครองเงินนอกระบบ การคอรัปชัน และการก่อการร้าย มาเป็นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจอินเดียไปสู่การเป็น “cashless economy” ที่ไม่เคยถูกกล่าวถึงในคำแถลงเมื่อวันที่ 8 พ.ย. แต่อย่างใด ซึ่งกันเชื่อว่า รัฐบาล นรม.โมดี น่าจะนำประเด็นนี้มาสนับสนุนความชอบธรรมในการดำเนินนโยบาย demonetisation ภายหลังจากที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักจากนักเศรษฐศาสตร์ทั้งอินเดียและต่างชาติจำนวนมาก

เมื่อพูดถึงการมุ่งสู่การเป็น cashless economy ก็ต้องยอมรับว่า รัฐบาล นรม. โมดีได้มีนโยบายปูทางการพัฒนาอินเดียไปสู่การเป็น cashless economy มาตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อสองปีที่แล้ว อาทิ นโยบาย Digital India เพื่อยกระดับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิตอลของประเทศ , นโยบาย Pradhan Mantri Jan Dhan Yojana (PMJDY) เพื่อเปิดโอกาสให้คนอินเดียทุกคนสามารถเปิดบัญชีธนาคารได้ โดยไม่ต้องมีเงินฝากในบัญชีขั้นต่ำ และสามารถเข้าถึงบริการออนไลน์ของธนาคารได้ นโยบาย PMJDY นี้เป็นหนึ่งในแผนเตรียมการปรับพฤติกรรมการออมและการใช้เงินของคนในประเทศ ช่วยให้ภาครัฐสามารถตรวจสอบที่มาและเส้นทางการเงินได้

ธนาคารกลางของอินเดียได้ออกแบบ Application ชื่อว่า “United Payment Interface” (UPI) ซึ่งเป็น Application ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้สามารถทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว อาทิ การโอนเงิน ซื้อขายสินค้าออนไลน์ ชำระค่าสาธารณูปโภค ค่าเล่าเรียน รวมถึงการบริจาคเงิน เป็นต้น Application “UPI” เป็นหนึ่งกลยุทธ์ในการชักจูงให้ผู้ใช้สมาร์ทโฟน ซึ่งมีมากถึง 220 ล้านคน (มากเป็นอันดับ 2 รองจากจีน) หันมาใช้ Internet payment และ e-payment

รัฐบาลของ นรม. โมดียังสนับสนุนภาคเอกชนอินเดียให้พัฒนาบริการด้าน Fintech โดยให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน ในปี 2558 มูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้สูงถึง 1.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากที่มีการลงทุนเพียงแค่ 247 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2557 ทั้งนี้ บริษัท Fintech ที่น่าจับตามองส่วนใหญ่ล้วนเป็น start-up ด้าน e-wallet อาทิ Paytm , Freecharg MobiKwik ซึ่งธุรกิจเติบโตอย่างมีนัย

การดำเนินนโยบาย demonetisation เป็นการบังคับทางอ้อมให้ประชาชนคนเมืองและคนชนชั้นกลาง หันมาใช้ “สิ่งแทนเงินสด” อาทิ บัตรเดบิต และ digital wallet แทน และด้วยบริการที่มีพร้อมรองรับอยู่แล้ว ทำให้การใช้จ่ายผ่าน “สิ่งแทนเงินสด” ข้างต้นเพิ่มขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์ อาทิ คนขับรถสามล้อในกรุงนิวเดลีจำนวนมาก หันมารับการชำระเงินผ่าน e-wallet เป็นต้น มองจากมุมนี้ ดูเหมือนว่า นโยบาย demonetisation จะได้ผลดี และจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจอินเดียพัฒนาเป็น less-cash economy และ cashless economy ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม เราต้องไม่ลืมว่า ประชากรส่วนใหญ่ของอินเดีย คือ ประชาชนในชนบท และในชนบทอินเดีย ส่วนใหญ่ยังคงใช้เงินสดกันอยู่ถึงร้อยละ 80 อินเดียเป็นประเทศที่ใหญ่และมีความซับซ้อนมาก เกินกว่าการดำเนินนโยบายในลักษณะ “shock and awe” การประกาศยกเลิกธนบัตรฯ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ใช้แรงงาน คนรับจ้าง คนขายสินค้าตามแผงขนาดเล็ก และเกษตรกรซึ่งในปัจจุบันอยู่ในฤดูกาลหว่านพืชในชนบทที่ยังไม่มีบัตรเอทีเอ็มและไม่มีบัญชีธนาคาร

สิ่งที่รัฐบาล นรม.โมดี ต้องทำต่อไปคือ เร่งนำเงินสดกลับเข้าสู่ระบบและให้ถึงมือประชาชนทั้งประเทศโดยเร็วที่สุด รวมทั้งมุ่งผลักดันให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานให้สอดคล้องกัน เพื่อมุ่งเปลี่ยนโฉมอินเดียจากสังคมที่ใช้เงินสดเป็นส่วนใหญ่ สู่การเป็น “cashless society”

สิ่งหนึ่งที่ประเทศไทยเรียนรู้ได้จากเรื่องนี้ คือ ประเทศไทยเองก็ต้องเร่งพัฒนาเศรษฐกิจไทยไปสู่ “cashless society” ด้วยเช่นกัน เพื่อช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยต่อไป

-------------------

จิตราภรณ์ เลิศทวีวิทย์

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี