ราชนีติ : วิถีพระราชามรรคาผู้นำ (2)

ราชนีติ : วิถีพระราชามรรคาผู้นำ (2)

“ราชนีติ ศาสตร์สำหรับพระราชา อันยังประโยชน์เห็นทันตาให้สำเร็จ ข้าพเจ้าจะกล่าว

เพื่อเป็นเครื่องเพิ่มพูนความรู้ ในการย่ำยีแคว้นผู้อื่นฯ” (เสฐียรโกเศศ)

ข้าพเจ้าจะแสดงราชนีติ ที่เห็นประโยชน์ทันตา เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ในการขยายพระราชอาณาจักร” (นายทอง หงส์ลดารมภ์)

ข้างบนนั้นคือคาถาบทแรกของ ราชนีติ สำนวนแปลเทียบเคียงกันของ เสฐียรโกเศศ กับ นายทอง หงส์ลดารมภ์ ตามลำดับ อันแสดงให้เห็นถึงจุดมุ่งหมายของการใช้ประโยชน์จากหลักการที่มีในราชนีติ

เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้แปลทั้งสองท่าน ใช้ถ้อยคำในวรรคสุดท้ายค่อนข้างแตกต่างกัน นั่นคือ ในการย่ำยีแคว้นผู้อื่นกับ ในการขยายพระราชอาณาจักร

ในบริบทของสังคมสมัยก่อน ที่มีการทำสงครามเพื่อแย่งชิงดินแดนกันนั้น การใช้คำว่า “ย่ำยีแคว้นผู้อื่น” ก็เป็นการสื่อความหมายที่ตรงตามความเป็นจริงแห่งยุคสมัยนั้นๆ ซึ่งก็คือ สมัยที่คัมภีร์ถูกเขียนขึ้น เพราะการที่จะมีอิทธิพลเหนือผู้อื่นนั้น พระราชาแคว้นต่างๆ ก็ย่อมทำสงครามซึ่งก็คือ “การย่ำยีแคว้นผู้อื่น” เมื่อชนะก็ได้แคว้นอื่นเป็นดินแดนในปกครอง นั่นก็คือพระบรมเดชานุภาพแห่งพระราชาผู้ชนะนั่นเอง

ในบริบทสังคมปัจจุบัน การย่ำยีแคว้นผู้อื่น เป็นการใช้ถ้อยคำที่ออกจะเป็นไปในทางลบ ผิดจากความเป็นจริง ที่พระราชาหรือผู้นำทั้งหลายไม่นิยมการทำสงครามเพื่อแย่งชิงดินแดนกันแล้ว (แม้จะมีสงครามอยู่ตลอดเวลา แต่สงครามในปัจจุบันกลับไม่ใช่การย่ำยีแคว้นผู้อื่นเพื่อยึดครองหรือมีอำนาจเหนือแบบตรงๆ เหมือนสมัยโบราณ) ดังนั้น การใช้คำ “การขยายพระราชอาณาจักร ดูจะเข้ากันกับยุคสมัยได้ดีกว่า

“การขยายพระราชอาณาจักร” เปิดกว้างให้สามารถใช้วิธีการอื่นนอกจากการสงครามคือ “การย่ำยี” ได้ ในเมื่อไม่ต้องทำสงครามก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องยึดครองดินแดนเพื่อการขยายพระราชอาณาจักรในความหมายเดิมแล้ว ดังนั้น จึงเปิดโอกาสให้สามารถปรับใช้หลักการในราชนีติได้กว้างขวางขึ้น

“การขยายพระราชอาณาจักร” ในปัจจุบัน ไม่ใช่การยึดครองหรือมีชัยชนะเหนือแคว้นอื่น แต่เป็นการขยายเกียรติภูมิ ชื่อเสียง ความดีงาม แบบอย่าง ความคิด หลักการ วิทยาความรู้ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ ไม่เพียงแต่คนในพระราชอาณาจักรของตนเท่านั้น แต่เป็นประโยชน์แก่มนุษยชาติทั้งมวล

เมื่อมองในมุมนี้จะเห็นได้ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทร์ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรีของไทย ทรงเป็นพระราชาที่ “ขยายพระราชอาณาจักร” ไปสู่การรับรู้ของมวลมนุษย์ ด้วยการปฏิบัติพระราชกรณียกิจอันยังประโยชน์แก่พสกนิกรชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ นอกจากชาวไทยจะได้ประโยชน์โดยตรงแล้ว ยังเอื้อประโยชน์แก่ชาวโลกด้วยเช่นกัน ดังจะขอยกตัวอย่าง ดังนี้

  1. แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวคิดทางเศรษฐกิจเพื่อทำให้คนสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างแท้จริง แนวคิดนี้สามารถนำไปใช้ได้กับทุกอาชีพ ทุกพื้นที่ ทุกสังคม ทุกประเทศ ซึ่งสหประชาชาติได้ผลักดันให้เป็นแนวทางในการพัฒนาในระดับโลก ดังที่ สเตฟาโนส โฟทีโอ ผู้อำนวยการด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนอกจากจะเป็นแนวทางเสริมพลังการพัฒนาที่สำคัญ ยังมีความสอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมของเอเชียเป็นอย่างยิ่ง เพราะปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเล็งเห็นคุณค่าของคนและสิ่งแวดล้อม กลไกของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงส่งเสริมการมีส่วนร่วมในทุกระดับและเชื่อมโยงตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน จนถึงระดับชาติ จึงเป็นแนวทางที่จะช่วยนำเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลกไปสู่ความสำเร็จได้ (อ้างจาก http://www.komchadluek.net/news/royal/229293) 
  2. การพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพดิน ซึ่งพระองค์ทรงทดสอบ ทดลอง หลายวิธี เพื่อใช้ในการปรับปรุงคุณภาพของดินในแต่ละพื้นที่ ทำให้เป็นดินที่มีคุณภาพเหมาะแก่การทำเกษตรกรรมทำให้เกษตรกรสามารถใช้ที่ดินที่ได้รับการปรับปรุงตามวิธีที่พระองค์ทรงคิดค้นขึ้นปลูกพืชพันธุ์อย่างได้ผลในทุกภาคของประเทศ ด้วยเหตุนี้สหประชาชาติจึงได้กำหนดให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีซึ่งตรงกับวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็น “วันดินโลก” หรือ World Soil Day จากการประชุมขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ครั้งที่ 144 ระหว่างวันที่ 11-15 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ณ สำนักงานใหญ่องค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ กรุงโรม ประเทศอิตาลี สืบเนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ปรากฏผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์อย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและนานาชาติ เพื่อให้วันดังกล่าวเป็นที่รู้จักแพร่หลายในระดับนานาชาติเกิดความต่อเนื่องและจริงจังในการรณรงค์ด้านทรัพยากรดินในทุกระดับ (คัดจาก https://th.wikipedia.org/wiki/วันดินโลก)

นี่เป็นเพียง 2 กรณีตัวอย่างที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระราชาที่ “ขยายพระราชอาณาจักร” โดยไม่มี “การย่ำยี” ใดๆ ต่อแคว้นอื่น แต่สิ่งที่พระองค์ทรงปฏิบัติเพื่อพสกนิกรของพระองค์นั้นก่อประโยชน์แก่มนุษยชาติทั้งมวลด้วย ดังนั้น พวกเขาทั้งหลายถึงถวายพระเกียรติยศแด่พระองค์ด้วยความเคารพและศรัทธา

พระบรมเดชานุภาพของพระองค์จึงแผ่ไพศาลไปยัง แคว้นอื่นด้วยนั่นเอง