โรฮิงญา : “ตัวช่วย” ของผู้นำมาเลเซีย?

โรฮิงญา : “ตัวช่วย” ของผู้นำมาเลเซีย?

ในช่วงเวลาที่กำลังเผชิญกับแรงกดดันทางการเมืองอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะแรงกดดันที่

 มาจากอดีตนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัดผู้ครองอำนาจมานานกว่า 22 ปี ย่อมสร้างความหนักใจให้กับนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนปัจจุบันอย่างแน่นอน เพราะไม่รู้ว่า อดีตผู้นำประเทศที่มีดีกรีเป็นนายแพทย์คนนี้จะสามารถรวมพลคน “เสือเหลือง” และคน “เสื้อเหลือง” เรือนหมื่นเรือนแสนมาขับไล่ให้ก้าวลงจากตำแหน่งผู้นำประเทศอีกเมื่อไหร่

ในวัย 91 ปี ณ วันนี้ที่ยังดูแข็งแรงกระฉับกระเฉง ไม่น่าเชื่อว่า มหาเธร์ โมฮัมหมัดเจ้าของวิสัยทัศน์ “Malaysia 2020” ที่มุ่งหวังให้มาเลเซียก้าวขึ้นมาเป็นประเทศพัฒนาแล้ว จะมีแรงแค้นและพลังเหลือเฟือที่จะทำในทุกวิถีทางเพื่อโค่นล้มนาจิบ ราซักให้พ้นจากตำแหน่งในเร็ววันที่สุดให้จงได้ โดยเฉพาะการตอกย้ำในเรื่องคอรัปชั่นและเงินปริศนาจำนวน 681 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (เกือบๆ สองหมื่นล้านบาท) ที่ไหลโอนเข้าสู่บัญชีท่านผู้นำแบบน่าเคลือบแคลงน่าสงสัยเป็นที่สุด แม้ทุกวันนี้ก็ยังไม่สามารถเคลียร์ให้คลีนได้

หากโชคร้ายที่สุดก็ต้องหลุดพ้นจากตำแหน่งในเร็ววันแบบไม่มีทางเลี่ยงเป็นอื่นได้ หรือบางทีอาจจะโชคดีเหมือนเฮลมุท โคลท์ อดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมนีตะวันตกคนสุดท้าย (ผู้สร้างประวัติศาสตร์รวมชาติเยอรมันได้สำเร็จในปี 1990) และเคยเผชิญกับข้อกล่าวหารับเงินต่างชาติคล้ายๆกัน แต่สุดท้ายรอดตัวรอดคุก) ก็ต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของอนาคตที่จะเกิดขึ้นทางใดทางหนึ่ง

แต่ดูเหมือนนาจิบ ราซักจะโชคดี(?) เพราะบังเอิญได้ ตัวช่วยชั้นดีนอกประเทศมาบรรเทาผ่อนหนักให้เป็นเบา ช่วยลดแรงกดดันทางการเมืองภายในประเทศที่โหมกระหน่ำอย่างค่อนข้างรุน แรง “ตัวช่วย” ที่ว่านี้ก็คือเหตุการณ์ความรุนแรงในรัฐยะไข่ของเมียนมาร์ (หรือพม่าในชื่อเดิม) ฝั่งที่ติดกับพรมแดนบังคลาเทศ

เหตุการณ์ความรุนแรงรอบล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปิดล้อมและสังหารเจ้าหน้าที่ของรัฐถึงเก้านายจนนำไปสู่การตอบโต้และปราบปรามจากทางการพม่าต่อกลุ่ม ชาวโรฮิงญาปรากฏเป็นข่าวไปทั่วโลก ก่อให้เกิดกระแสความไม่พึงพอใจจนถึงขั้นต่อต้านรัฐบาลพม่าในบางประเทศ หนึ่งในนั้นก็คือมาเลเซีย

ในฐานะผู้นำที่เผชิญปัญหาทางการเมืองในประเทศหนักหนาที่สุดคนหนึ่งในอาเซียนในระดับที่เรียกได้ว่ามีโอกาสสูงมากที่จะพ้นจากตำแหน่งก่อนใครๆ จึงอาจจะเป็น ไปได้ว่า นาจิบ ราซักเฝ้ารอคอยมองหาโอกาสและไม่รีรอที่จะหยิบยกเอาเหตุการณ์ใดๆ ขึ้นมาเพื่อประโยชน์เฉพาะหน้าส่วนตนเป็นสำคัญนั่นคือความอยู่รอดทางการเมือง

ดังนั้น การที่นาจิบ ราซักเปิดหน้าเปิดตัวยอมลงทุนเป็นผู้นำในการรวมตัวชาวมาเลย์ใจกลางเมืองหลวงเพื่อประท้วงรัฐบาลพม่าเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา พร้อมทั้งกล่าวประณามนางอองซานซูจีอย่างรุนแรง (แทนที่จะเป็นประธานาธิบดีพม่าโดยตรง) นั้น ย่อมได้ใจชาวมาเลย์ “เสือเหลือง” และ “เสื้อเหลือง” (ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง) จำนวนไม่น้อย ทั้งๆที่ในวันนั้น ท่านผู้นำสวมใส่ผ้าพันคอสีแดงซึ่งเป็นสีสัญญลักษณ์ของฝ่ายรัฐบาลในการต่อสู้กับฝ่าย “เสื้อเหลือง” ที่มีมหาเธร์ โมฮัมหมัดเป็นผู้นำตลอดปีที่ผ่านมา ด้วยความหวังว่าจะทำให้ชาวมาเลย์เปลี่ยนใจหันมาสนับสนุนรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น

แน่นอนที่สุดว่า นาจิบ ราซักย่อมหลีกเลี่ยงไม่พ้นในข้อกล่าวหาจากหลายๆฝ่ายทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะฝ่ายของอดีตนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัดและฝ่ายรัฐบาลพม่า ว่าคำนึง ถึงความอยู่รอดทางการเมืองของตัวเองมากกว่าความอ่อนไหวทางการฑูต? คำถึงถึงเหตุการณ์เฉพาะหน้ามากกว่าจะยึดมั่นในหลักการอย่างแท้จริง?

เพราะก่อนหน้านี้ เมื่อคราวเกิดวิกฤตความรุนแรงที่เลวร้ายที่สุดในรัฐยะไข่ในเดือนมิถุนายน 2012 นาจิบ ราซักไม่ได้แสดงออกซึ่งจุดยืนที่แข็งกร้าวในการปกป้องชาวโรฮิงญาเหมือนเช่นในปัจจุบันนี้ และทั้งๆที่เกิดปัญหาคลื่นผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่ออกเรือสู่ท้องทะเลเมื่อกลางปี 2015 แต่รัฐบาลมาเลเซียและนายกรัฐมนตรีคนเดียวกันนี้กลับกีดกันไม่เปิดประตูต้อนรับชาวโรฮิงญาที่ล่องเรือหวังหนีร้อนมาพึ่งเย็น ยิ่งไปกว่านั้น ชาวโรฮิงญาเกือบหกหมื่นคนที่ลงทะเบียนอาศัยอยู่ในมาเล เซียอย่างถูกต้อง ก็ดูเหมือนจะได้รับการปฏิบัติเยี่ยง “พลเมืองชั้นสาม” ไม่มีสิทธิทำงานตามกฏหมายและไม่มีสิทธิให้ลูกหลานได้รับการศึกษาจากระบบ

ในฐานะที่เคยเป็น “พี่เลี้ยง” ของนาจิบ ราซักอย่างใกล้ชิดมาก่อน ต้องถือว่ามหาเธร์ โมฮัมหมัดเป็นคนหนึ่งที่รู้ทันถึงเจตนาแอบแฝงหรือแรงจูงใจอย่างแท้จริงของผู้นำคนปัจจุบันในการเลือกเล่น “ไพ่โรฮิงญา” สำหรับเกมการเมืองในประเทศ การประกาศเลือกปกป้องชาวโรฮิงญาแบบเต็มร้อย คงจะไม่มีผลและยากที่จะทำให้อดีตนายกรัฐมนตรีคนดังต้องใจอ่อนหรือเปลี่ยนใจหันมาสนับ สนุนท่าทีของนาจิบ ราซักได้

สำหรับด๊อกเตอร์มหาเธร์ โมฮัมหมัดแล้ว ปัญหาสำคัญที่สุดที่เป็นชนักติดหลังนาจิบ ราซักอย่างชนิดยอมความกันไม่ได้ก็คือเรื่อง “corruption” ถึงขั้นใช้คำพูดกล่าวหาว่า มาเลเซียปัจจุบันปกครองโดย “โจร” หรือ “หัวขโมย” ถือเป็นเรื่องร้ายแรงที่ไม่สามารถนำเอาเรื่องวาทกรรม “cleansing” หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์(ชาวโรฮิงญา) ของนาจิบ ราซักมาหักล้างกันได้เลย เรียกว่า “corruption” กับ “cleansing” เป็นคนละเรื่องกัน

กล่าวสำหรับนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซักแล้ว ถึงแม้จะผิดหวังในท่าทีของอินโดนิเซียทั้งตัวผู้นำ รัฐบาลและประชาชน ที่ดูเหมือนจะเย็นชาไม่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องและแนวทางของนายก รัฐมนตรีมาเลเซียในการกดดันรัฐบาลพม่าสักเท่าไร (ซึ่งเป็นท่าทีเดียวกันกับมหาเธร์ โมฮัมหมัด)

แต่การเปิด ไพ่โรฮิงญาในครั้งนี้ อาจจะคำนวนบนพื้นฐานความเชื่อมั่นว่า ยิ่งปัญหาชาวโรฮิงญาในพม่ายืดเยื้อและเลวร้ายจนใกล้เคียงกับคำว่า ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มากเท่าไร ก็จะยิ่งเป็นประโยชน์ทางการเมืองต่อผู้นำมาเลเซียคนปัจจุบันมากเท่านั้น(?)