จริยธรรมธุรกิจ ภาคปฏิบัติ

จริยธรรมธุรกิจ ภาคปฏิบัติ

การทำธุรกิจในอดีต เจ้าของหรือผู้บริหารธุรกิจมักจะมองถึงผลประโยชน์ทางตัวเงินที่จะได้คืนมาจากการประกอบการเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

จนทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจตกเป็นจำเลยต่อสังคมในหลายๆ ด้านอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการเอาเปรียบสังคม ผู้บริโภค หรือแม้กระทั่งผู้ประกอบการด้วยกันเองที่เป็นคู่แข่งในตลาด

แต่ในปัจจุบัน แนวคิดของการบริหารจัดการธุรกิจได้เปลี่ยนไปอย่างมาก ผู้ประกอบการธุรกิจได้หันมาให้ความสนใจในการบริหารจัดการธุรกิจที่มีความเป็นธรรม ไม่แสวงหากำไร หรือเบียดเบียนสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยไม่เป็นธรรม มุ่งดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม

ด้วยการมองเห็นประโยชน์ในระยะยาวว่า ธุรกิจจะดำเนินและเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน ก็จะต้องได้รับการสนันบสนุนจากทั้งลูกค้า ผู้บริโภค รวมไปถึงชุมชนและสังคมโดยทั่วไป

หลายต่อหลายครั้งที่เรื่องของจริยธรรมธุรกิจ เป็นเรื่องนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ แต่เกิดขึ้นมาจากจิตสำนึกที่ดีของเจ้าของธุรกิจหรือผู้บริหารระดับสูง ที่แสดงออกมาได้จากการลงมือปฏิบัติจริง แต่ในปัจจุบัน ธุรกิจมักจะจัดทำเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเปิดเผยให้พนักงานของตน และสังคมทั่วไปได้รับทราบถึงแนวคิดและนโยบายที่จะดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม

องค์กรที่มีหน้าที่ดูแลควบคุมการดำเนินธุรกิจให้ดำเนินไปด้วยความเป็นธรรม เช่น องค์การสหประชาชาติ ได้มองเห็นความสำคัญของการทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรม จึงจัดทำแนวปฏิบัติและข้อแนะนำในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมการดำเนินธุรกิจไว้ เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หลักการและสิทธิพื้นฐานในที่ทำงานขององค์การแรงงานโลก ปฏิญญาริโอว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา และ แนวปฏิบัติด้านการต่อต้านคอร์รัปชั่น ซึ่งจัดพิมพ์เผยแพร่ทั้งในรูปสิ่งพิมพ์และเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ให้เจ้าของหรือผู้บริหารธุรกิจที่สนใจและไม่แน่ใจว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าเป็นธุรกิจที่มีจริยธรรมสามารถดาวน์โหลดมาศึกษาได้ฟรี

หลักปฏิบัติที่ถือได้ว่าเป็นพื้นฐานทั่วไปของธุรกิจที่ดำเนินการด้วยจริยธรรมที่ดี เช่น

-การให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ตรงกับข้อเท็จจริงอย่างเปิดเผย

-การหาข้อมูลเกี่ยวกับคู่ค้า ลูกค้า ผู้รับเหมาช่วง และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจด้วยวิธีการที่ไม่ละเมิดต่อกฏหมายและสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น

-ปฏิบัติเกี่ยวกับข้อมูลที่เป็นความลับหรือข้อมูลภายในธุรกิจด้วยความระมัดระวัง

-ปกป้องชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ดีของของลูกค้า ผู้เกี่ยวข้อง และของเราเองเสมอ

-เคารพสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น

-จัดซื้อ จัดหา หรือได้มาซึ่งวัตถุดิบอย่างโปร่งใสและถูกต้องตามกฎหมาย

-ในการทำกิจกรรมทางธุรกิจ จะต้องคำนึงถึงข้อปฏิบัติที่เป็นที่ยอมรับของสังคม วัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม และข้อห้ามทางศาสนาทุกครั้ง

-ทำข้อตกลงทางธุรกิจด้วยความโปร่งใส ซื่อตรงและยุติธรรม

-ทำธุรกิจตามครรลองธุรกิจแบบเสรีและการแข่งขันที่เป็นธรรม

-ส่งมอบสินค้าหรือบริการตามที่ได้สัญญาไว้ และไม่ให้สัญญาที่เกินความสามารถหรือศักยภาพที่จะทำได้

-เคารพและให้คุณค่าต่อความเชื่อถือ เชื่อมั่น ที่ลูกค้า คู่ค้า และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจได้มอบให้กับเรา

-ทำธุรกิจโดยไม่ให้สินบน หรือส่งเสริมพฤติกรรมคอร์รัปชั่นต่อเจ้าหน้าที่หรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง

-ส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือเพื่อทำให้ชุมชนและสังคมมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

-ดำเนินธุรกิจด้วยความเป็นกลางทางการเมือง แต่ไม่ก้าวก่ายสิทธิทางการเมืองของพนักงานหรือผู้เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การดำเนินการทางการเมืองของบุคคลจะต้องไม่อยู่ในเวลาปฏิบัติงานหรือใช้ทรัพย์สินและอุปกรณ์ที่เป็นของธุรกิจ

-การบริจาคหรืออุดหนุนเงินให้กับบุคคลหรือองค์กรภายนอกจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมและต้องไม่ละเมิดกฎหมาย

แนวปฏิบัติเหล่านี้ เป็นเพียงตัวอย่างส่วนน้อยที่สามารถนำมาปฏิบัติได้ทันทีในธุรกิจแทบทุกประเภท และสามารถนำมาใช้ประกอบในการวางวิสัยทัศน์และนโยบายสำหรับธุรกิจที่ยึดมั่นในการดำเนินการธุรกิจอย่างมีจริยธรรม

จริยธรรมทางธุรกิจ จะต้องนำมาปฏิบัติตลอดเวลา ในทุกกิจกรรมทางธุรกิจ ในทุกสถานที่ เพื่อที่จะทำให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างโปร่งใส เข้มแข็ง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของธุรกิจต่อไป