เพิ่มบทบาทกองทุนฟื้นฟูฯ สะท้อนกลไกศก.ย่ำอยู่กับที่

เพิ่มบทบาทกองทุนฟื้นฟูฯ สะท้อนกลไกศก.ย่ำอยู่กับที่

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์ที่ผ่านมา

 ได้อนุมัติร่างแก้ไขพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย โดยสาระสำคัญคือการเพิ่มบทบาทของกองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (เอฟไอดีเอฟ) ให้กลับมามีบทบาทในการช่วยเหลือสถาบันการเงิน กรณีที่เกิดวิกฤติหรือมีปัญหาขึ้นมา ซึ่งกองทุนฟื้นฟูฯ สามารถเข้าไปดูแลเพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามบานปลาย จนกระทบต่อระบบการเงินของประเทศ และทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีเครื่องมือในการดูแลสถาบันการเงินอย่างครบถ้วนมากขึ้น

ประเด็นการฟื้นบทบาทของกองทุนฟื้นฟูฯขึ้นมาใหม่ แม้ในหลักการดูเหมือนมีความจำเป็น ที่ต้องมีกองทุนในลักษณะดังกล่าวขึ้นมา เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการแก้ปัญหาในอนาคต ที่มีแต่ความผันผวนมากขึ้น แต่การฟื้นบทบาทใหม่นับว่าค่อนข้างแปลกอยู่มาก และอาจชี้ให้เห็นถึงความพิกลพิการของระบบการเงินไทยในอีกมิติหนึ่งได้เช่นเดียวกัน เพราะอย่าลืมว่ากองทุนฟื้นฟูฯ ได้ถูกยุติบทบาทไปแล้วในช่วงเกิดวิกฤติสถาบันการเงินและนำไปสู่วิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ซึ่งในครั้งนั้นธปท.สูญเสียความเชื่อมั่นจากสาธารณชนค่อนข้างมาก อาจกล่าวได้ว่าเป็นวิกฤติของธปท.

ในวิกฤติครั้งนั้น กองทุนฟื้นฟูฯถูกวิจารณ์อย่างมาก ในการช่วยเหลือสถาบันการเงิน แม้ตามกฎหมายจะอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง แต่บทบาทในเชิงปฏิบัติแล้วเป็นของธปท.เต็มตัว ซึ่งในครั้งนั้นธปท.จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในเรื่องของ “Moral Hazard”  เพราะมีหน้าที่กำกับและตรวจสอบ ในขณะเดียวกันก็มีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งในครั้งนั้นจึงไม่แปลกนักที่มีคนของธปท.เจ้าไปนั่งเป็นบอร์ดในสถาบันการเงินที่มีปัญหาบางแห่ง จนหลังวิกฤติได้มีข้อเสนอให้แยกบทบาทออกจากกัน แต่เวลาผ่านไปเรา ก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ

ที่สำคัญในครั้งนี้ ธปท.เล่นบทอุ้มสถาบันการเงินอย่างสุดความสามารถ ภายใต้แนวคิดที่ว่า “สถาบันการเงินล้มไม่ได้” จึงทำให้ต้องใช้เงินมหาศาลในการช่วยเหลือสถาบันการเงินจำนวนมหาศาล อีกทั้งการดำเนินนโยบายบางอย่างก็เอื้อประโยชน์ให้สถาบันการเงินดำรงอยู่ได้ด้วยมาตรการสนับสนุน ซึ่งเป็นเหตุให้สถาบันการเงินไทยอ่อนแอ และไม่สามารถรับมือกับวิกฤติต่างๆได้ เพราะสถาบันการเงินเคยชินกับการอุ้มชูจากธปท.ทั้งทางตรงและทางอ้อม และเมื่อสถาบันการเงินไทยล้มลงครั้งใหญ่ จึงเป็นเหตุเกิดภาระหนี้สินมากมายที่กองทุนฯเข้าไปรับผิดชอบ

ประเด็นการฟื้นบทบาทของกองทุนฯ ขึ้นมาใหม่ในครั้งนี้ ก็เท่ากับว่าระบบการเงินไทยกลับไปใช้กลไกเดิมในการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลใดก็ตาม แต่สะท้อนให้เห็นว่าที่ผ่านมานั้นเราไม่อาจแก้ปัญหาของสถาบันการเงินได้ แม้ว่าขณะนี้สถาบันการเงินมีความเข้มแข็ง ด้วยมาตรการดูแล แต่การตั้งกลไกในรูปแบบกองทุนฟื้นฟูฯ ชี้ให้เห็นว่าสถาบันการเงินไม่มีความเข้มแข็งอย่างแท้จริง และสะท้อนให้เห็นถึงจุดอ่อนของระบบเศรษฐกิจไทยคือแม้จะผ่านวิกฤติมาได้ แต่เราไม่อาจพัฒนาตัวเองให้ก้าวพ้นจากสภาพก่อนวิกฤติ

ประเด็นที่น่าสงสัยอย่างมาก คือ ตามร่างกฎหมายกำหนดให้สถาบันการเงินต้องส่งเงินเข้ากองทุน เพื่อเป็นเงินสะสมรองรับวิกฤติที่อาจเกิดขึ้น แม้ว่าจะดูมีเหตุผล แต่หากมองให้ลึกลงไป จะเห็นว่าการส่งเงินเข้ากองทุนก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนสถาบันการเงินเอง เหมือนกับที่ส่งเข้าสถาบันประกันเงินฝาก ซึ่งถึงที่สุดแล้วภาระเหล่านี้ก็จะตกอยู่กับประชาชน เพราะสถาบันการเงินจะผลักภาระออกไปให้อยู่แล้ว ดังจะเห็นว่าแม้ดอกเบี้ยขาลง แต่แบงก์พาณิชย์ไม่ค่อยยอมลดดอกเบี้ย ดังนั้น การฟื้นบทบาทของกองทุนฯ ขึ้นมาใหม่ ด้านหนึ่งมีเหตุผลในเรื่องของการดูแลสถาบันการเงิน แต่อีกด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นความอ่อนแอของกลไกเศรษฐกิจของไทยนั่นเอง