ต้องปฏิรูปผู้นำก่อนจึงจะก้าวไปสู่ประเทศไทย 4.0 ได้

 ต้องปฏิรูปผู้นำก่อนจึงจะก้าวไปสู่ประเทศไทย 4.0 ได้

รัฐบาลและข้าราชการหลายกระทรวง นักวิชาชีพ กำลังเห่อเรื่องพัฒนาประเทศ 4.0 ที่เน้น

ความรู้ เทคโนโลยี การสร้างสรรค์ ความทันสมัยเพื่อแข่งขันประเทศอื่นได้ดีขึ้น แต่ผู้นำและประชาชนไทยส่วนใหญ่ยังคงคิดและนำแบบใช้อำนาจเด็ดขาดสั่งการจากบนลงล่างตามลำดับชั้นในองค์กรข้าราชการแบบโบราณ ชนชั้นนำไทยต้องปฏิรูปตัวเองให้ทันสมัยเสียก่อน จึงจะใช้นโยบายพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 แบบที่เยอรมันเขาใช้ได้เป็น

ผู้นำที่จะนำประเทศไปสู่ยุค 4.0 ได้ ต้องเป็นผู้ที่เอื้ออำนวยให้เกิดภาวะการนำแบบจูงใจให้คนทำงานเป็นทีมเวิร์คที่ดี สร้างวิสัยทัศน์ ความเชื่อถือไว้วางใจ และแรงบันดาลใจร่วมกันระหว่างคนที่มีแรงจูงใจที่จะนำและคนที่รู้จักตามที่ฉลาดเอาการเอางาน

ตัวอย่างเรื่องแมรี่เบธ นักศึกษาระดับบัณฑิต ผู้ต้องฝากลูกสาววัยสองปี 6 เดือนไว้กับคนเลี้ยงเด็ก และปรากฎว่าคนเลี้ยงเด็กเขย่าลูกสาวของเธอรุนแรง จนทำให้ลูกสาวเธอประสาทพิการ เธอแปรความโศกเศร้านี้ให้กลายเป็นพลังในการที่จะรณรงค์ไม่ให้เด็กคนอื่น ต้องประสบปัญหาแบบลูกของเธออีก เธอใช้เวลารณรงค์เรียกร้องนับสิบปีที่จะให้หน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลสหรัฐฯ เข้ามาควบคุมดูแลมาตรฐานคุณภาพของคนเลี้ยงเด็ก การรณรงค์ของเธอได้ให้แรงบันดาลใจแก่พ่อแม่คนอื่นๆ และมีผู้เข้าร่วมและสนับสนุนเธอจนได้พัฒนาเป็นองค์กรรณรงค์เรื่องความปลอดภัยของเด็ก จนรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องปรับปรุงกฎหมายและวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยของเด็กอย่างจริงจัง

คนที่เป็นแม่เหล่านี้ไม่เคยได้รับการฝึกฝนเรื่องความเป็นผู้นำเลย แต่เพราะพวกเธอมีความเอาใจใส่ที่ไม่อยากให้เรื่องนี้เกิดขึ้นกับคนอื่น พวกเธอจึงมีความเป็นผู้นำอยู่ในตัวมากพอที่จะทำให้เกิดสิ่งที่ดีๆ ในสังคมขึ้นได้

ในโลกสมัยใหม่ การนำไม่ใช่เรื่องการสั่งการให้คนตาม การนำประกอบไปด้วยความสามารถและทักษะบางอย่างที่คนทั่วไปสามารถเรียนรู้และก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในระดับต่างๆ ได้

ผู้นำที่สามารถจูงใจให้คนอื่นได้แสดงออกถึงสิ่งที่ดีที่สุดในตัวพวกเขาออกมา คือ คนที่ตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้ และมีความเชื่อมั่นว่าพวกเขามีความสามารถที่จะพัฒนาศักยภาพทางปัญญาของสมาชิกองค์กรหรือชุมชนคนอื่นๆ ได้ คนที่เป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพ คือคนที่เริ่มต้นจากการเชื่อมั่นในตนเองและคนที่รู้จักการเรียนรู้ และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง การเรียนรู้ ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในห้องเรียนหรือห้องสัมมนาเท่านั้น พวกเขาคือคนที่มองหาวิธีปรับปรุงตัว และองค์กรอย่างสม่ำเสมอ

การพัฒนาภาวะผู้นำ ไม่ใช่การจดจำข้อมูลใหม่หรือเทคนิคล่าสุด หากคือการค้นหาตัวเอง ค้นหาความมั่นใจ ตระหนักในศรัทธาและอำนาจ นำสิ่งที่อยู่ภายในจิตวิญญาณของคุณอยู่แล้วออกมา คือการปลดปล่อยผู้นำที่อยู่ภายในตัวคุณ การใช้การเรียนรู้จากประสบการณ์ในการสร้างสรรค์ใหม่ การแสดงออกซึ่งเป็นตัวของตัวเอง

การเรียนรู้ที่จะนำ คือการค้นพบว่า คุณเอาใจใส่อะไร และคุณมีค่านิยมอะไร อะไรที่ให้แรงจูงใจคุณ อะไรที่ท้าทายคุณ อะไรที่ทำให้คุณกล้า เมื่อคุณค้นพบสิ่งเหล่านี้ที่เกี่ยวข้องกับตัวคุณเอง คุณจะรู้ว่าคุณจะช่วยนำคุณภาพเหล่านี้ออกมาจากสมาชิกคนอื่นๆ และคุณจะมีอิทธิพลในทางบวกต่อคนอื่นๆ ในองค์กรหรือในชุมชนได้อย่างไร

การเป็นผู้นำคือการอยู่แนวหน้า การต้องเผชิญกับโลกภายนอกองค์กร ผู้นำจะต้องเรียนรู้จักโลกภายนอก ต้องรู้จักพลังทั้งทางการเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม, จริยธรรม, ศิลปวัฒนธรรม ที่มีผลกระทบต่อองค์กร คนที่จะเป็นผู้นำที่ดีต้องติดต่อประสานงานกับคนอื่นได้เก่ง รู้จักปรับปรุงความเข้าใจของเขาต่อคนอื่นๆ และสร้างทักษะในการที่จะจูงใจ เคลื่อนไหวพลังของสมาชิกไปสู่จุดมุ่งหมายที่สูงขึ้น การจะติดต่อประสานงานกับคนอื่นอย่างมีประสิทธิภาพได้ ผู้นำจะต้องพัฒนาความไว้วางใจและนับถือคนอื่น ก่อนที่จะให้คนอื่นไว้วางและนับถือเขา

ผู้นำที่แท้จริงต้องเป็นผู้นำทางจริยธรรม ทำตามความเชื่อและค่านิยมที่ดีอย่างคงเส้นคงวา คนที่รู้แต่เทคนิคการนำ เป็นได้แค่นักแสดง และถึงจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำได้ ก็จะนำได้ไม่ยาวนาน การเป็นผู้นำมีความขัดแย้งในตัวที่ว่า ยิ่งคุณประสบความสำเร็จ มีคนยกย่องคุณมาก คุณก็มีโอกาสจะหลงใหลในอำนาจ หลงใหลในตังเองสูง จนคุณอาจจะนำไปในทางที่ผิดพลาด เช่น ฮิตเลอร์ และผู้นำที่มีอำนาจมากเกินไปคนอื่นๆ ได้

ทางแก้ไขคือ ผู้นำจะต้องรักษาความอ่อนน้อมถ่อมตน และไม่ทึกทักว่าตนถูกตลอดเวลา การเปิดใจกว้างรับฟังความเห็นที่แตกต่าง มีความสงสัยและถ่อมตน คือเป็นนักเรียนที่อยากเรียนรู้อยู่เสมอ เพราะคนที่เริ่มคิดว่าตัวเองเก่งทุกอย่าง รู้ทุกอย่างแล้ว จะเริ่มมีความเป็นผู้นำที่ดีลดลงตามลำดับ จนอาจจะกลายไปเป็นผู้นำที่เลวไปเลยก็ได้

ผู้ตามจะมองหาผู้นำที่เชื่ออย่างจริงใจและกระตือรือร้นในความสามารถของคนอื่น คนที่ช่วยทำให้เจตจำนงของคนอื่นเข้มแข็ง คนที่หาวิถีทางที่จะทำให้เป้าหมายบรรลุผล และคนที่มองอนาคตในแง่ดี

ผู้ตามต้องการผู้นำที่มีจิตใจเร่าร้อน แม้จะในยามที่มีอุปสรรคและความยากลำบาก ในโลกยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนสูง ผู้นำที่เป็นต้องการมากคือ คนที่มองโลกในแง่บวก มีความมั่นใจ ความเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างทั้งในเรื่องชีวิตและงานเป็นสิ่งที่เราสามารถช่วยกันทำให้ดีขึ้นได้ นั่นก็คือผู้นำจะรักษาความหวังให้คงอยู่ แม้ในยามที่ยากลำบากที่สุด

ผู้นำจะต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับความเชื่อของผู้ตามว่า การต่อสู้ในชีวิตจะนำมาซึ่งอนาคตที่สดใสกว่า ศรัทธาเช่นนี้ เป็นผลมาจากความสัมพันธ์ที่สนิทสนมและช่วยสนับสนุนกันและกันระหว่างผู้นำกับผู้ตาม การนำไม่ใช่เรื่องของการใช้ความคิดเท่านั้น มันเป็นเรื่องของจิตใจ เรื่องของความเอาใจใส่ ความกล้า ความปรารถนาดีต่อคนอื่นๆ ต่อองค์กรและชุมชน ซึ่งจะก่อให้เกิดพลังที่มนุษย์เราจะร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งที่พิเศษมากกว่าธรรมดาได้.