รับมือกระแสท้าทายโลกาภิวัฒน์

รับมือกระแสท้าทายโลกาภิวัฒน์

บรรยากาศของบางประเทศในซีกโลกตะวันตก กำลังดำเนินไปในแง่ที่ว่า

 ประชาชนจำนวนหนึ่งมองว่า พวกเขาไม่ได้ประโยชน์จากกระแสโลกาภิวัฒน์ แถมยังเสียประโยชน์ไปอีกด้วย เห็นได้จากเมื่อเดือนมิถุนายนที่คนอังกฤษไปลงประชามติ ให้ประเทศถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป อันสร้างความช็อคโลกมาแล้ว จากนั้นในการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนของสหรัฐ คนอเมริกันก็พากันไปเลือกโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ประกาศกร้าวว่าจะนำอเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง และฉีกทิ้งข้อตกลงการค้าเสรี อันเป็นสิ่งที่เขามองว่าเป็นสาเหตุให้คนอเมริกันตกงาน ล่าสุดกระแสนี้พัดไปถึงอิตาลี เมื่อประชาชนที่อึดอึดคับข้อง ไปลงประชามติไม่รับการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ จนทำให้นายกรัฐมนตรีอิตาลี ต้องประกาศลาออก

ประเด็นเหล่านี้ถือเป็นเรื่องท้าทายกระแสโลกาภิวัฒน์ เพราะจะเห็นได้ว่าผู้คนจำนวนหนึ่งในซีกโลกตะวันตก อันเป็นชาติที่มีความมั่งคั่งและเป็นประเทศพัฒนาแล้ว มองว่าการลดกำแพงสำหรับทำการค้าและการลงทุน ทำให้ค่าแรงของพวกเขาลดน้อยถอยลง อีกทั้งยังเสี่ยงที่จะสูญเสียตำแหน่งงาน ทั้งยังเปิดโอกาสให้ธุรกิจต่างๆ พากันย้ายฐานการผลิตไปต่างแดนเพื่อมองหาแหล่งที่มีค่าแรงถูกกว่า และท้ายที่สุดคือการหนุนนำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันมากยิ่งขึ้น

ประเด็นร้อนแรงที่ท้าทายกระแสโลกาภิวัฒน์ทั้งหลาย ทำให้เกิดความเสี่ยงอย่างยิ่งที่กระแสกีดกันการค้าจะหวนกลับมาสู่เศรษฐกิจโลก ล่าสุดว่าที่ผู้นำสหรัฐ ก็ทวีตข้อความโจมตีจีนด้วยการกล่าวหาว่า บิดเบือนค่าเงินและนโยบายต่างประเทศ หลังจากเคยลั่นวาจาว่าจะประกาศให้จีนเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน ในวันแรกที่เข้าดำรงตำแหน่ง ซึ่งหากผู้นำใหม่สหรัฐเคลื่อนไหวดังกล่าวจริง ก็จะส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ระหว่างชาติที่มีเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 ของโลก กับประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ที่สำคัญคืออาจนำไปสู่สงครามการค้าก็เป็นได้

แท้จริงแล้ว การหันหลังให้ระบบตลาดแบบเปิด จะเป็นเรื่องหายนะสำหรับโลก และไม่น่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมในโลกยุคที่ทำการค้าขายกันอย่างเสรีอย่างปัจจุบัน ผู้ก่อตั้งสื่อสังคมออนไลน์ชื่อดังอย่างเฟซบุคยอมรับว่าโลกาภิวัตน์ช่วยเพิ่มความรุ่งโรจน์ แต่ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันขึ้นได้ ซึ่งการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมที่มาพร้อมโลกาภิวัตน์นั้น อาจใช้วิธีง่ายๆ อย่างเลิกติดต่อกับโลกภายนอก หรืออาจใช้วิธีเพิ่มการเชื่อมต่อและลงมือทำมากขึ้นเพื่อสร้างความรุ่งโรจน์ให้ยิ่งขึ้นไป จากนั้นก็นำความรุ่งโรจน์นี้มาแบ่งปันให้ทั่วถึงกันทุกคน

แม้ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ ในมุมมองของนักการเมืองซีกโลกตะวันตก อาจไม่ได้ถูกต้องไปเสียทั้งหมด แต่เป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลของประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะซีกโลกตะวันตกหรือตะวันออก ต้องไม่ลืมประชาชนกลุ่มที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังในกระแสโลกาภิวัฒน์ และรัฐบาลของประเทศต่างๆ ก็ต้องช่วยเหลือประชาชน ให้สามารถรับมือกับผลพวงของการเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในโลกยุคนี้ ควบคู่ไปกับการผลักดันเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ให้ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งผ่านการปฏิรูปและก