เงินเยนอ่อนค่ากับหุ้นญี่ปุ่น

เงินเยนอ่อนค่ากับหุ้นญี่ปุ่น

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ค่าเงินเยนอ่อนค่ามาโดยตลอด ซึ่งเป็นผลมาจากการแทรกแซงของTนาคารกลางญี่ปุ่นในการออกมาตรการกระตุ้นทางการเงินอย่าง

ต่อเนื่อง ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงวัฏจักรดอกเบี้ยของสหรัฐฯที่เริ่มกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้งตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา 

แต่ในช่วงกลางปีนี้ ค่าเงินเยนเริ่มแข็งค่า เนื่องจากตลาดมีความกังวลกับความไม่แน่นอนของการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และเหตุการณ์ Brexit ดังนั้น ส่งผลให้นักลงทุนแสวงหาผลตอบแทนในสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น สินทรัพย์สกุลเยน นั่นเอง

อย่างไรก็ดี หลังผลเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่ทำให้ทั่วโลกตะลึง ค่าเงินเยนกลับมาอ่อนค่าอีกครั้ง ผิดจากการที่นักวิเคราะห์ทุกสำนักคาดอย่างสิ้นเชิง โดยปัจจัยหลักคงหนีไม่พ้นเงินไหลออกจากประเทศเกิดใหม่กลับเข้าสหรัฐฯ เพราะตลาดประเมินแล้วว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธ.ค.นี้ และมีความกระจ่างชัดเจนในทิศทางนโยบายของผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ มากขึ้น ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก

 โดยในระยะเวลา 3-4 สัปดาห์ที่ผ่านมาหลังผลการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ค่าเงินเยนเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่ามาประมาณ 8% และผลักดันให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นกลายเป็นตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงถึง 7.4% ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เรียกได้ว่าติดอันดับต้นๆ ของตลาดหุ้นโลกหลักเลยทีเดียว

ค่าเงินเยนมีผลต่อสภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก เพราะรายได้ของบริษัทส่วนใหญ่จะมาจากนอกประเทศ ซึ่งถ้าเงินเยนอ่อนค่าก็หมายความว่าผลกำไรในรูปของค่าเงินเยนก็จะปรับขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น ถ้าค่าเงินเยนยิ่งอ่อนค่าก็จะทำให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีโอกาสที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น

จะว่าไป ถ้ามองออกไปข้างหน้า ค่าเงินเยนจะอ่อนต่อไปเรื่อยๆ ได้จริงหรือ อาจเป็นเพียงแค่ปัจจัยระยะสั้นชั่วคราวก็เป็นได้ เพราะถ้ามองย้อนไปตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา  ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ออกและปรับเปลี่ยนมาตรการกระตุ้นทางการเงินที่หลากหลายเพื่อกระตุ้นเงินเฟ้อให้ถึง 2% ตามเป้าหมาย

แม้ว่าจะพยายามแก้เกมด้วยการประกาศนโยบายดอกเบี้ยติดลบเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าอย่างมีนัยสำคัญได้เลย (ในขณะที่ได้ตัวช่วยคือการเลือกตั้งสหรัฐฯและการขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวข้างต้น) แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการทำ QE ที่นับวันยิ่งลดลง เพราะถ้านับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเงินเยนยังคงแข็งค่าอยู่เกือบ 5% เลยทีเดียว

เป็นที่ทราบกันดีว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจญี่ปุ่นและหนุนเงินเฟ้อในที่สุด หรือเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว และทำให้ประเทศญี่ปุ่นกลับไปสู่วังวนสภาวะเงินฝืดเช่นเดิม ยังคงเป็นประเด็นที่นักลงทุนต้องติดตามต่อไป ซึ่งเป็นเหตุให้นักวิเคราะห์หลายแห่งเริ่มเกิดความไม่แน่นอนในการคาดการณ์แนวโน้มค่าเงินเยนในระยะนี้ 

แต่เสียงส่วนใหญ่ยังคงให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น และยังคงเฝ้าจับตามองการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่จะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนธ.ค.อย่างใกล้ชิด ซึ่งถ้าหากมีมาตรการที่ทำให้ทิศทางของค่าเยนอ่อนค่าต่อไปได้ ก็จะทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังเป็นที่น่าสนใจในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้