ส่องกล้องเศรษฐกิจปีหน้า : จับควันให้ไว ดับไฟให้ทัน

ส่องกล้องเศรษฐกิจปีหน้า : จับควันให้ไว ดับไฟให้ทัน

ใครพยายามจะพยากรณ์เศรษฐกิจปีหน้าหรือ 2017 (พ.ศ. 2560)

 สำหรับประเทศไทยและโลก ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงรวดเร็วและเร่งร้อน คงต้องเผชิญกับความท้าทายมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา

ท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.วิรไท สันติประภพ แนะนำให้ใช้ “นโยบายการคลัง” นำนโยบายการเงิน

ท่านแนะนำให้เอกชนตั้งรับในการบริหารความเสี่ยงให้รอบด้าน

ไหนการเมืองในประเทศจะต้องลุ้นกันว่าจะมีการปรับเปลี่ยน “แผนที่นำทาง” หรือ Roadmap หรือไม่ ก่อนสิ้นปีจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ จะมีการเลื่อนการเลือกตั้งไปอีกหรือไม่ ภายใต้เงื่อนไขอะไร?

ประกอบกับสิ่งที่เรียกว่า Trumponomics หรือเศรษฐกิจสไตล์ท่านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (ผู้ซึ่งจะเดินเข้าทำเนียบขาวอย่างเป็นทางการวันที่ 20 มกราคม) ซึ่งยังไม่แน่ว่าจะเดินไปในแนวทางไหน

จะลดภาษีให้กับธุรกิจเพื่อสร้างงาน จะทุ่มเงินลงทุนให้กับโครงสร้างพื้นฐาน และจะสกัดสินค้านำเข้าจากต่างประเทศด้วยการเพิ่มภาษีอย่างดุเดือด

ใน 100 วันแรกของทรัมป์ จะฉีกร่างข้อตกลง TPP (Trans-Pacific Partnership) ตามที่ลั่นวาจาเอาไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่ และจะมีอะไรมาแทนหรือเปล่า

อีกทั้งจะมีการปรับปรุงแก้ไข NAFTA (หรือข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือที่มีสหรัฐ แคนาดาและเม็กซิโกเป็นสมาชิก) มากน้อยเพียงใดอย่างไรยังไม่มีใครรู้

ทรัมป์จะสร้างกำแพงตรงชายแดนกับเม็กซิโกตลอดแนวจริงหรือไม่ และจะห้ามคนต่างชาติเข้าเมืองด้วยเงื่อนไขอะไร และจะสกัดคนมุสลิมเข้าประเทศอย่างที่ขู่เอาไว้ตอนหาเสียงด้วยวิธีการอันใด

คนต่างด้าวเกือบ 11 ล้านคนที่ไม่มีเอกสารรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ที่ทรัมป์เคยบอกว่าจะขับไล่ไสส่งออกไป ไม่สนใจว่าครอบครัวจะแตกกระสานซ่านเซ็นอย่างไร จะเกิดขึ้นจริงดั่งที่เคยกล่าวเอาไว้หรือไม่

ที่ค่อนข้างจะแน่และเป็นปัจจัยความเสี่ยงหลักคือ แนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้หรือเดือนหน้า

ประธานธนาคารกลางหรือ Fed หญิงแกร่งเจเน็ต เยลเลน บอกว่าเธอไม่สนว่าทรัมป์จะว่าอย่างไร แต่เธอเชื่อว่าสัญญาณต่าง ๆ บอกชัดว่าต้องขึ้นดอกเบี้ย... ยกเว้นเสียแต่ว่าทรัมป์จะหาทางเบียดเธอออกไปเสียก่อน และหาคนที่เห็นด้วยกับเขาเข้ามาบริหารนโยบายการเงินแทน เพราะนโยบายการคลังนั้นยังไง ๆ ก็อยู่ในคณะรัฐมนตรีของเขาอยู่แล้ว

หากดอกเบี้ยสหรัฐขึ้น และทรัมป์กดดันให้ธุรกิจอเมริกาในต่างประเทศ “ถอยทัพกลับบ้าน” เงินทุนจะไหลกลับมากน้อยเพียงใดยังประเมินไม่ได้

แต่ที่แน่ ๆ คือความหวาดกลัวต่อแนวโน้มการกีดกันทางการค้าหรือ trade protectionism ของสหรัฐหากทรัมป์เดินตามนโยบายที่หาเสียงสร้างความนิยมในมวลหมู่ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงให้กับเขาเอาไว้

ปัจจัยไม่แน่นอนในประเทศของเราเองก็มีหลากหลาย เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่ได้กระจายไปกว้างขวางอย่างที่ควรจะเป็น หากแต่เป็นการฟื้นที่ “กระจุกตัว” โดยเฉพาะภาคชนบทยังมีปัญหาหลายด้านที่ยังรอการแก้ไขอย่างจริงจัง

เป้าหมายของการสร้างความแข็งแกร่งให้กับ SMEs หรือธุรกิจระดับกลางกับเล็กยังไม่บรรลุถึงจุดที่จะเห็นผลอย่างชัดเจน

แบงก์ชาติยอมรับว่าสถานการณ์ “NPLs” หรือ non-performing loans อันหมายถึงหนี้เสียหรือเริ่มเสียยังโตต่อเนื่อง จึงเป็นเหตุที่น่ากังวลและจะเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้ามอง และประคับประคองกันอย่างระมัดระวังจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

นี่เป็นเพียงบางปัจจัยที่พอจะส่องกล้องมองเห็นไปข้างหน้าได้ แต่ยังมีปัจจัยที่คาดการณ์ไม่ได้หรือประเมินไม่ถูกอีกมากมายที่คนไทยจะต้องจับตาเฝ้ามอง วิเคราะห์และประเมินอย่าง “ตื่นรู้” ตลอดเวลา

เตรียมตัวเตรียมใจ ฝึกซ้อมสุขภาพจิตและกายให้พร้อม ปีหน้าเหนื่อยแน่ครับ แต่ต้องช่วยกันประคองให้รอด พร้อมกับการปรับตัวให้ทันความเปลี่ยนแปลง เพื่อการเติบโตที่ไม่ต้องหวือหวา แต่มั่นคงและยั่งยืนครับ

ผมเห็นภาพของการตั้งการ์ดเตรียมรับสถานการณ์ผันผวนนี้จากที่ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เล่าให้นักข่าวฟังว่าๆได้ตั้งสายงานใหม่ขึ้นมาดูแลเสถียรภาพทางการเงิน โดยยกระดับขึ้นมาเป็นกลุ่มงานที่สำคัญ

โดยทำงานตามสโลแกนว่า “จับควันให้ไว ดับไฟให้ทัน” เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาลามเกินแก้