บันทึกชีวิต : Book of Memorial

บันทึกชีวิต : Book of Memorial

ผมขอขอบคุณเครือข่ายพุทธิกาอย่างมากที่ได้จัดโครงการอบรม “การเขียนหนังสืออนุสรณ์งานศพ”

(Book of Memorial ) ขึ้นมา ผมหวังว่าโครงการนี้จะขยายออกไปให้กว้างขวางมากขึ้น เพราะจะสร้างความหมายอย่างมากสำหรับสังคมไทยหลายด้านด้วยกัน

ด้านหนึ่ง การฝึกหัดเขียนหนังสือ บันทึกชีวิต” เพื่อรองรับความตายที่จะมานั้น ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือ “เจริญมรณานุสติ” เพื่อที่จะดำรงตนอยู่ในปัจจุบันได้อย่างเหมาะสม ดังที่เครือข่ายพุทธิกาได้เขียนไว้ว่า “ ถ้าเรากล้าพูดถึงความตาย พร้อมที่จะยอมรับ แล้วกลับมาดูการใช้ชีวิตของเรา ได้ทบทวนชีวิตของตนเอง เราจะได้ใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ” (มติชน สุดสัปดาห์, ทบทวนชีวิต รับความตาย เขียนหนังสืองานศพให้ตนเอง, 2-8 ธันวาคม 2559) ซึ่งเป็นเรื่องที่ชาวพุทธทั้งหลายควรใส่ใจเป็นอย่างยิ่ง

ในอีกด้านหนึ่ง คุณค่าของการจรรโลงวัฒนธรรมการทำหนังสืองานศพให้ดำเนินต่อเนื่องต่อไปเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะการทำหนังสือเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้แก่ผู้วายชนม์นั้นเป็นลักษณะเฉพาะพิเศษของสังคมไทยในโลก ซึ่งน่าสนใจมากที่ลักษณะพิเศษนี้เริ่มต้นมามาตั้งแต่ทศวรรษ 2460 และดำเนินมาได้จนถึงปัจจุบัน

นอกจากความหมายที่สำคัญทั้งสองด้านแล้ว หนังสืออนุสรณ์งานศพยังมีคุณค่าในการทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคม ในส่วนที่ลึกลงไปกว่าปรากฏการณ์ธรรมดา ซึ่งก็คือ คุณค่าในความเป็นเอกสารสำคัญในการทำความเข้าใจในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ความใฝ่ฝัน และแรงปรารถนาของผู้คนในแต่ละยุคสมัยด้วย

หากปราศจากการจัดทำหนังสืออนุสรณ์งานศพในช่วงเวลาที่ผ่านมา สังคมไทยก็คงจะหาเอกสารหรือหลักฐานที่จะเข้าใจความเปลี่ยนแปลงในส่วนลึกที่สุดของผู้คนได้ยากมาก เพราะสังคมไทยไม่ได้บันทึกชีวิตของผู้คนในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งแตกต่างจากหลายสังคมในตะวันตกหรือตะวันออกที่มีประเพณีของการจดบันทึกไว้อย่างเข้มข้น เช่น เอกสารบันทึกของโบสถคริสตศาสนาในยุโรป เป็นต้น

ผมเคยเขียนไว้ทำนองว่าหนังสืองานศพและความตายเป็น “พันธะกิจ” สุดท้ายของผู้ตายที่จะมอบให้แก่สังคม แต่อาจารย์พรชัย นาคสีทอง แห่งมหาวิทยาลัยทักษิณได้โต้แย้งอย่างน่าฟังว่า ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของสังคมเศรษฐกิจในสองทศวรรษหลังนี้ หนังสืองานศพเป็นการแสดงออกถึงระบบเกียรติยศของ “คนเป็น” มากกว่าการแสดงความหมายของคนตาย ดังนั้น โครงการ การเขียนหนังสืองานอนุสรณ์งานศพ ของเครือข่ายพุทธิกาน่าจะเป็นแนวทางในการดึงเอาความหมายเดิมของการทำหนังสืออนุสรณ์งานศพกลับมาได้

เพราะมองจากแง่มุมความเปลี่ยนแปลงนี้ ก็จะพบว่พัฒนาการทางเสรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมในช่วงสองทศวรรษหลังมานี้ ซึ่งทำให้ผู้คนเห็น/รู้สึกว่า “ชีวิต” ที่สลายไปมีความหมายต่อสังคมน้อยลง จึงทำให้หนังสืออนุสรณ์งานศพกลายเป็นเครื่องมือในการเชิดชูผู้ตายเพียงเพื่อแสดงให้เห็นความหมายสำคัญของสมาชิกครอบครัวที่มีชีวิตอยู่

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการทำหนังสืออนุสรณ์งานศพจะมีเป้าหมายและความหมายจะแปรเปลี่ยนไปจากเดิม แต่ยังถือได้ว่าเป็นเอกสารชุดใหญ่ที่มีไว้ในอนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาและจดจำไว้เป็นบทเรียน

ถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง การฝึกอบรมให้แก่คนทั่วไปในการเขียนหนังสืออนุสรณ์งานศพที่เครือข่ายพุทธิกาได้จัดทำขึ้นนี้ ก็กำลังสร้างกระบวนการความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญให้แก่การเขียนหรือบันทึกผู้ตาย. เพราะกำลัง “คืน ” ความหมายชีวิตของผู้คนธรรมดาทั่วไปให้แก่สังคม เพราะในช่วงหลังมานี้ คนในสังคมมักจะมองและคิดว่าความหมายต่อสังคมก็มีเพียง คนใหญ่คนโต เท่านั้น ซึ่งส่งผลให่หากผู้ตายไม่ได้มียศตำแหน่งใหญ่โต ก็มักจะเลี่ยงไม่ทำหนังสืองานศพแต่จะแจกของที่ระลึกเล็กๆ น้อยๆ แทน หรือหากตัดสินใจจะพิมพ์ก็มักจะอาศัยผู้รับเหมาจัดพิมพ์หนังสืองานศพ ที่สามารถใช้เวลาอันสั้นจัดทำให้ได้ โดยผู้รับเหมากลุ่มนี้จะมีชุดหนังสือประเภทขายดีเป็นที่นิยมเตรียมเอาไว้แล้ว เช่น หนังสือของท่าน ว.วชิรเมธี เป็นต้น ส่วนประวัติของผู้ตายก็มักจะถูกทำให้สั้นและแสดงเพียงในระดับความรู้สึกโหยหาอาลัยของครอบครัวเท่านั้น

ดังนั้น หากคิดตามเป้าหมายของโครงการ “การเขียนหนังสืออนุสรณ์งานศพ” นี้ ก็จะทำให้ชีวิตหนึ่งที่เกิดขึ้นและสูญสลายไปย่อมมีความหมายต่อสังคมทั้งสิ้น การเพ่งพินิจไตร่ตรองกับการดำเนินชีวิตของคนๆหนึ่งก็ย่อมที่จะสัมพันธ์เชื่อมโยงกับผู้คนอื่นๆ ในชุมชนหรือสังคม ความผิดพลาด ความผิดหวัง ความสำเร็จ และความสมหวังก็ล้วนแล้วแต่สัมพันธ์อยู่กับเงื่อนไขความสัมพันธ์ทางสังคมทั้งสิ้น การเรียบเรียงเพื่อบันทึกชีวิตเช่นนี้ยอมจะทำให้เกิดการเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกับความตายทุกขณะจิต ขณะเดียวกัน ผู้อ่านก็ย่อมที่จะสามารถเรียนรู้ชีวิตของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเพื่อทั้งเป็นอุทาหรณ์ และ/หรือแรงบันดาลใจแห่งชีวิต

หากพิจารณาโครงการ การเขียนหนังสืออนุสรณ์งานศพ ในแง่ของการ “ทำบุญ” เพื่อคนตายก็จะเปลี่ยนความหมายของ “ความตาย” ไปในหลายมิติ เพราะการมีชีวิตกับความตายเป็นเสมือนสองหน้าของเหรียญเดียวกัน ความตายจึงไม่ได้แยกออกจากการมีชีวิตอยู่ ความตายจึงสะท้อน ความหมายของชีวิต” ในปัจจุบัน “การทำบุญ” ด้วยการทำหนังสือเช่นนี้จึงจะเชื่อมโยงผู้คนในสังคมให้มองเห็นความหมายที่ซับซ้อนของการมีชีวิตอยู่ได้อย่างตระหนักและเข้าใจมากขึ้น

ขอขอบคุณเครือข่ายพุทธิกาอีกครั้งครับ