โดนัลด์ ทรัมป์: I do it my Trump way

โดนัลด์ ทรัมป์: I do it my Trump way

ภายหลังชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ได้เพียงไม่กี่วัน โดนัลด์ ทรัมป์

ก็เริ่มฉายแววให้ชาวอเมริกันและชาวโลกได้เห็นเป็นประจักษ์ เป็นเอกลักษณ์ที่เรียกว่า “I do it my Trump way” นั่นคือ การกระทำในสไตล์ของตัวเองที่แหวกแนวหรือแตกต่างจากธรรมเนียมปฏิบัติทางการฑูต(protocol) เดิมๆ

การพบปะพูดคุยทำความรู้จักเป็นเวลากว่า 90 นาทีเพื่อสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์และนายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะแห่งญี่ปุ่นเมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา คือสิ่งบอกเหตุแรกๆสุดในแนวทาง “I do it my Trump way” ของประธานาธิบดีสหรัฐฯคนที่ 45 คนนี้

โดยข้อเท็จจริงที่ถูกต้องที่สุดแล้ว โดนัลด์ ทรัมป์ ณ วันนี้ยังมีฐานะเป็นเพียงว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่(ที่มีโอกาสไม่ได้เป็นน้อยมาก?) เพราะยังไม่ได้ผ่านการโหวตเลือกจากคณะผู้เลือกตั้งและยังไม่ได้มีการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ (ซึ่งกำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 20 มกราคมปีหน้า) เพราะ ฉะนั้นแล้ว ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเป็นตัวกำหนดธรรมเนียมปฏิบัติและความเหมาะสมไปในตัว

นั่นคือ โดยธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว ถือเป็นเรื่องไม่เหมาะสมที่ว่าที่ผู้นำคนใหม่จะเปิดประตูต้อนรับผู้นำต่างประเทศคนใดคนหนึ่ง แต่นายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ ก็กลายเป็นผู้นำต่างประเทศคนแรกที่มีโอกาสได้พบปะสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวกับโดนัลด์ ทรัมป์

ถึงแม้จะถูกมองว่าไม่เหมาะสมและได้รับคำทักท้วงร้องขอจากรัฐบาลสหรัฐฯที่ยังมีบารัก โอบามาเป็นประธานาธิบดีให้หลีกเลี่ยง แต่สำหรับผู้นำญี่ปุ่นแล้ว ถือเป็นความจำเป็นมากที่สุดที่ต้องรีบก้าวเดินและพบปะสร้างสายสัมพันธ์และความประทับใจตั้งแต่แรกๆ เพราะโดนัลด์ ทรัมป์เคยรณรงค์หาเสียงว่า อาจถึงขั้น “ตัดหางปล่อยวัด” ปล่อยให้ญี่ปุ่นต้องดูแลป้องกันตัวเองจากภัยคุกคามในภูมิภาค (โดยเฉพาะจากเกาหลีเหนือ) ซึ่งผู้นำญี่ปุ่นไม่ต้องการและไม่พร้อมให้เกิดขึ้น นอกจากนี้ ผู้นำญี่ปุ่นเคย แทงม้าผิด ด้วยการพบปะกับเฉพาะฮิลลารี คลินตันเพียงคนเดียวในช่วงเดินทางมาเยือนสหรัฐเมื่อเดือนกันยายน โดยมองข้าม ผู้สมัครผมแดงของพรรคริพับลิกัน ดังนั้น การรีบเร่งพบปะกับโดนัลด์ ทรัมป์ก่อนผู้นำของประเทศอื่นๆจึงเป็นการ “ซ่อมแซม” ความรู้สึกไม่ให้แผลเกิดร้าวลึกจนเสียหายในระยะเวลาสี่ปีข้างหน้าที่โดนัลด์ ทรัมป์อยู่ในทำเนียบขาว

ในการพบปะคราวนั้น โดนัลด์ ทรัมป์เลือกใช้อาคาร Trump Tower ของตัวเองในมหานครนิวยอร์เป็นสถานที่พบปะ (เพราะยังไม่สามารถใช้ทำเนียบขาวได้) ณ ช่วงเวลาตอนห้าโมงเย็น (ด้วยความตั้งใจเดิมจะมีเลี้ยงอาหารดินเนอร์ต้อนรับ) โดยมีลูกสาวและลูกเขยมาร่วมวงด้วย (ซึ่งถูกมองว่าไม่เหมาะสมเพราะเป็นเรื่องของกิจการบ้านเมือง) ภายใต้การประสานงานและดูแลของกระทรวงกลาโหมแทนที่จะเป็นกระทรวงต่างประเทศโดยตรง ยิ่งไปกว่านั้น การพบปะระหว่างผู้นำทั้งสองนี้ไม่เปิดประตูให้สื่อใดๆเข้าไปยุ่งเกี่ยวและรับรู้รับเห็น และไม่มีการแถลงข่าวใดๆหลังการพูดคุย

สิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โดนัลด์ ทรัมป์คนนี้พร้อมแล้วสำหรับแนวทาง “I do it my Trump way” ในแบบฉบับของตัวเอง โดยไม่ยึดติดหรือนำพากับธรรมเนียมปฏิบัติเดิมๆ บนความเชื่อว่า ถึงที่สุดแล้ว “The end justifies the means” ขอเพียงให้บรรลุเป้าหมายโดยไม่คำนึงถึงวิธีการใดๆและไม่จำเป็นต้องเป็นวิธีการเดิมๆที่ปฏิบัติสืบทอดต่อๆกันมาก็ได้

ทั้งนี้ทั้งนั้น ตลอดช่วงระยะเวลาการหาเสียง โดนัลด์ ทรัมป์แทบจะไม่ได้เอ่ยคำ “change” เพื่อโน้มน้าวจูงใจชาวอเมริกันเหมือนเช่นที่บารัค โอบาม่าชูเป็นจุดขายจุดเด่นมาก่อน แต่เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้ว โดนัลด์ ทรัมป์ก็เริ่มต้น “change” ให้เห็นเป็นรูปธรรมในแบบ “deeds not words” นั่นคือลงมือปฏิบัติจริงโดยไม่ต้องเสกสรรคำแต่งให้สวยหรู (เหมือนผู้นำคนปัจจุบันที่ดูเหมือน “words not deeds” มากกว่า)

“I do it my Trump way” ที่เกิดขึ้นล่าสุดจนดูเหมือนราวกับว่าโดนัลด์ ทรัมป์ได้ของขวัญ “ดีหมีขาว” จากประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินแห่งรัสเซียจนใจกล้าไม่คำนึงถึงระเบียบแบบแผนเดิมๆ เพราะการสนทนาทางโทรศัพท์แบบคุยตรงๆกับประธานาธิบดีหญิงแห่งไต้หวัน ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้น มาก่อนเลยนับตั้งแต่ปี 1979 ที่สหรัฐฯและสาธารณรัฐประชาชนจีนสถาปนาความสัมพันธ์ทางการฑูต นั่นคือตลอดระยะเวลากว่า 37 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีแม้เพียงสักครั้งหนึ่งที่จะเห็นผู้นำสหรัฐฯ (ไม่ว่าจะยังอยู่ในตำแหน่งหรือผู้นำคนใหม่ที่ยังไม่รับตำแหน่ง) จะพบปะหรือสนทนากับผู้นำของเกาะไต้หวันเลย ไม่ว่าจะเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ เพราะสหรัฐฯยึดถือและยอมรับในนโยบาย “จีนหนึ่งเดียว” หรือ “One China” ตั้งแต่วันแรกๆ ว่าบนโลกใบนี้มีจีน(ปักกิ่ง)เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน

การทวีตสั้นๆ 17 คำเพื่อบอกกล่าวชาวโลกว่า “The President of Taiwan CALLED ME today to wish me congratulations on winning the Presidency. Thank you!” นั้น โดยนัยยะของการเรียกขาน “The President of Taiwan” ก็คือการรับรองฐานะของรัฐไต้หวันนั่นเอง ถือเป็นประเด็นที่อ่อนไหวที่สุดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบเกือบสี่ทศวรรษ จนกระทั่งรัฐบาลจีนต้องประท้วงทางการฑูต

หากยังจำกันได้ เมื่อคราวที่บารัค โอบามาถูก ฉีกหน้า ไม่ได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติจากเจ้าภาพจีนในระหว่างเดินทางมาถึงแผ่นดินใหญ่เพื่อร่วมประชุม G-20 เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา นั้น โดนัลด์ ทรัมป์เคยแสดงความคิดเห็นว่า ถ้าผู้นำสหรัฐฯในวันนั้นชื่อ “โดนัลด์ ทรัมป์” รับรองได้ว่าจะสั่งให้เครื่องบินประจำตำแหน่ง Air Force One บินกลับประเทศทันที เพราะไม่สามารถทนรับกับการขายหน้าในสายตาชาวโลกได้

ดังนั้น ทำเนียบขาวในยุคใหม่มีแนวโน้มจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งในเรื่องของนโยบายและธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีโอกาสไม่น้อยที่เราชาวโลกจะเห็นโดนัลด์ ทรัมป์เลือกแนวทาง “I do it my Trump way” ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบสุดขั้ว แบบหักมุม แบบก้าวกระโดดหรือแบบกลับหันหลังอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนก็เป็นได้

---------------------

ปรีชาญาณ วงศ์อรุณ

[email protected]