ญี่ปุ่นอาบป่า อเมริกาก็ใช่ว่าจะอาบแดด

ญี่ปุ่นอาบป่า อเมริกาก็ใช่ว่าจะอาบแดด

เหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันทางภาคใต้ทำให้การทำลายป่าดูจะกลับมาเป็นประเด็นสำคัญทันที

แต่ประวัติศาสตร์บ่งว่าพอน้ำลด เรื่องนี้ก็แทบไม่มีความสำคัญจนกว่าจะถึงวันที่น้ำกลับมาท่วมอีก บทบาทของป่าไม้ในการป้องกันน้ำท่วมฉับพลันเป็นที่รับรู้กันอยู่แล้ว จึงจะไม่พูดถึง หากจะนำเรื่องป่าไม้ในญี่ปุ่นและอเมริกาที่ปรากฏในสื่อเมื่อเร็วๆ นี้มาเล่า

เป็นเวลาหลายปี คนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นกันมากเนื่องจากญี่ปุ่นอยู่ใกล้และเปิดให้คนไทยเข้าไปท่องเที่ยวได้โดยไม่ต้องใช้วีซ่า ผู้ไปเที่ยวญี่ปุ่นส่วนมากคงสังเกตเห็นแล้ว่าญี่ปุ่นดูจะเต็มไปด้วยป่าไม้ แต่คงไม่มีใครคาดเดาได้ว่าป่าครอบคลุมพื้นที่ของประเทศญี่ปุ่นสูงถึงราวร้อยละ 74 ปัจจัยที่ทำให้ญี่ปุ่นรักษาป่าไว้ได้มากขนาดนั้นมีหลายอย่าง ปัจจัยที่สำคัญที่สุดน่าจะได้แก่ชนชั้นผู้นำล้วนมีวิสัยทัศน์กว้างไกลจึงสนับสนุนนโยบายให้รักษาป่าไม้ไว้โดยพวกตนไม่ละเมิดกฎหมายและทำลายป่าเสียเอง

ย้อนไปเป็นเวลากว่า 3 ทศวรรษ กรมป่าไม้ของเขาเชิญชวนให้ชาวญี่ปุ่นไปเดินเล่นในป่าโดยอ้างถึงกิจกรรมที่เขาเรียกว่า “อาบป่า” จะทำให้สุขภาพดีขึ้น อย่างไรก็ดี กรมป่าไม้ไม่มีข้อมูลสนับสนุนข้ออ้างนั้นจนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้จึงเริ่มมีผลการวิจัยที่ให้การยืนยันอย่างมั่นคง อาทิเช่น การวิจัยของผู้เชี่ยวชาญในมหาวิทยาลัยชิบาสรุปว่า ผู้ที่ออกไปเดินเล่นในป่าเป็นเวลา 40 นาที จะมีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลต่ำกว่าผู้ที่ใช้เวลา 40 นาทีเดินในห้องทดลอง คอร์ติซอลระดับสูงมีผลกระทบทางลบต่อความดันโลหิตและระบบการต้านทานโรค

อีกตัวอย่างหนึ่งได้แก่การวิจัยในวิทยาลัยแพทย์นิปปอนซึ่งพบว่า ผู้ไปเดินในป่า หรือค้างคืนในป่าหายใจเอาสารประกอบกลิ่นต่าง ๆ ที่ต้นไม้ปล่อยออกมาเข้าไปในร่างกาย สารเหล่านั้นก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเลือดซึ่งช่วยลดความดันโลหิต ส่งเสริมการต้านทานโรคและปกป้องร่างกายจากมะเร็ง นอกจากนั้น การวิจัยยังพบอีกว่าการใช้เวลาในป่าช่วยลดอาการของโรคหัวใจ โรคซึมเศร้า มะเร็ง ความกระสับกระส่ายและความสนใจสั้น

ผลการวิจัยเหล่านั้นยืนยันผลการศึกษาของมูลนิธิเศรษฐกิจใหม่ในอังกฤษที่คอลัมน์นี้เคยนำมาเสนอหลายปีแล้ว กล่าวคือ หลังจากคนเรามีรายได้สูงพอจนสามารถเข้าถึงปัจจัยที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตเบื้องต้นอย่างครบถ้วนได้ หนึ่งในบรรดาปัจจัยที่จะทำให้เกิดความสุขได้แก่การได้อยู่ใกล้ธรรมชาติ

ส่วนทางอเมริกา ภาพที่มักปรากฏออกมาอาจทำให้คิดกันว่าฝรั่งคงไม่ชอบป่าเนื่องจากดูจะชอบอาบแดดกันเป็นชีวิตจิตใจ แต่ตวามจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ทั้งนี้เพราะแม้แต่ในใจกลางเกาะแมนฮัตตันของมหานครนิวยอร์กก็ยังมีพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ชื่อ Central Park ซึ่งมีเนื้อที่กว่า 2.1 พันไร่ หรือเกือบ 3 เท่าของสวนลุมพินีบวกกับพื้นที่ของการรถไฟตรงมักกะสัน เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้มีหนังสือเล่มหนึ่งพิมพ์ออกมาชื่อ Urban Forests: A Natural History of Trees and People in the American Cityscape เขียนโดย Jill Jonnes หนังสือเล่าเรื่องราวของป่าและการปลูกต้นไม้ในเมืองซึ่งชาวอเมริกันนิยมทำกันมานาน นอกจากจะให้ความสวยงามแล้ว ผู้เขียนอ้างถึงบทบาทของป่าและต้นไม้ในเมืองเกี่ยวกับเรื่องการลดค่าใช้จ่ายในด้านการระบายน้ำฝนเมื่อเกิดพายุใหญ่และในด้านการใช้ไฟฟ้าปรับอากาศในฤดูร้อน ทั้งนี้เพราะต้นไม้ช่วยอมน้ำไว้ได้มากและช่วยลดอุณหภูมิในอากาศ ยิ่งกว่านั้น ต้นไม้ยังช่วยป้องกันอาชญากรรมอีกด้วย ทั้งนี้เพราะความร่มรื่นจากต้นไม้จูงใจให้ชาวเมืองออกมาใช้เวลานอกอาคารมากขึ้นและเมื่อบ้านเมืองมีหูมีตาอาชญากรย่อมฉวยโอกาสได้น้อยลง ด้วยเหตุนี้ เมืองต่างๆ จึงรณรงค์ให้ปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นอีก

เรื่องราวที่เล่ามานี้คงบ่งชี้ว่า ถ้าเราเห็นป่าและต้นไม้ทำประโยชน์ได้ตามการวิจัยของเขา เราอาจเพิ่มพื้นที่ป่าและต้นไม้ได้บ้างอย่างรวดเร็ว เราอาจเปลี่ยนที่ดิน สปก. ที่ยึดคืนมาให้กลับเป็นป่าไม้ซึ่งทุกคนสามารถเข้าไปเดินเล่นได้ และจะไม่เปลี่ยนพื้นที่รถไฟมักกะสันเป็นป่าคอนกรีต ดังที่มีกลุ่มทุนสามานย์พยายามผลักดันกันอยู่