รับมือโลกดิจิทัล

รับมือโลกดิจิทัล

บมจ.กสท โทรคมนาคม คาดแนวโน้มความต้องการแบนด์วิธ

สำหรับการสื่อสารข้อมูล และอินเทอร์เน็ตของประเทศไทยจะเพิ่มจาก 3 เทราบิตต่อวินาที เป็น 15 -20 เทราบิตต่อวินาที หรือเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 6 เท่าภายใน 3 ปีข้างหน้า ซึ่งปริมาณความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตเติบโตสูงมาก มาจากปัจจัยด้านเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้ง 4จี และอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (IoT) ทำให้คนบริโภคคอนเทนต์มากขึ้น

ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือเอ็ตด้า ระบุว่า ปัจจุบัน อีคอมเมิร์ซในไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด คาดว่า สิ้นปี 2559 จะเติบโตเป็น 2.5 ล้านล้านบาท และการค้าออฟไลน์อีกจำนวนมากที่พร้อมจะเข้าสู่ออนไลน์ ขณะที่จำนวนโซเชียลมีเดียที่คนไทยใช้ติดอันดับต้นๆ ทั้งการใช้ไลน์ เฟซบุ๊ค ขณะเดียวกัน จำนวนชั่วโมงการใช้อินเทอร์เน็ตในภาพ รวมทั้งผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่และคอมพิวเตอร์ อยู่ที่ 45 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือ 6.4 ชั่วโมงต่อวัน โดยสมาร์ทโฟน ยังคงเป็นอุปกรณ์หลักที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนิยมใช้เชื่อมต่อ มีจำนวนผู้ใช้งานมากถึง 85.5% และมีจำนวนชั่วโมงการใช้งานโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 6.2 ชั่วโมงต่อวัน สูงกว่าปีที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด จากที่มีจำนวนผู้ใช้งาน 82.1 % และจำนวนชั่วโมงการใช้งานโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5.7 ชั่วโมงต่อวัน

ส่วนจำนวนการใช้งานเพิ่มขึ้น เรื่องร้องเรียนที่เกิดจากโลกออนไลน์ก็มากขึ้นเช่นกัน โดยตั้งแต่เดือน ม.ค.-ต.ค.2559 มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาบนอินเทอร์เน็ต จำนวนสูงถึง 8,331 เรื่อง เพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 3.5 เท่า ช่วง 4 เดือนแรก ตั้งแต่เดือน ก.ค– ต.ค.2559 หลังเปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212 OCC พบการแจ้งเรื่องผ่านสายด่วน 1212 OCC และอีเมล [email protected] จำนวน 6,210 เรื่อง มากกว่าจำนวนเรื่องร้องเรียนตลอดปี 2558 ที่มี 2,524 เรื่อง

เรื่องร้องเรียนต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น เอ็ตด้ามีข้อมูลว่า ครอบคลุมทั้งปัญหาเว็บไซต์ผิดกฎหมาย ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ปัญหาการซื้อขายออนไลน์ รวมถึงปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยก่อนหน้านี้ เอ็ตด้า ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การรับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์อย่างครบวงจร 1212 OCC ระหว่างกระทรวงไอซีที (ขณะนั้น) และอีก 4 หน่วยงานสำคัญ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) และ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท) และประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ให้บรรจุเรื่องปัญหาการร้องเรียนบนโลกออนไลน์ ให้ สตช.เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่รับเรื่องร้องเหล่านี้ได้ในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการซื้อขายออนไลน์

นอกจากนี้ ภายในเดือน ม.ค. 2560 มีแผนเปิดรับเรื่องร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ 1212 OCC จากเดิมจัดทำแอพพลิเคชัน 1212 OCC เปิดให้ดาวน์โหลดผ่านเพลย์สโตร์ ระบบแอนดรอยด์ และเร็วๆ นี้มีแผนจะให้ไอโอเอส ดาวน์โหลดได้เร็วๆ นี้ โดยตั้งเป้าแก้ไขปัญหาจากเรื่องร้องเรียนให้ได้เท่ากับตัวเลขการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ เช่น เติบโต 10% การแก้ปัญหาให้สำเร็จต้องให้ได้ 10% ด้วย จากปัจจุบัน ยอมรับว่า ยังแก้ไขปัญหาได้ไม่ถึง 10% ของเรื่องร้องเรียน อุปสรรคใหญ่ คือ ข้อมูลการแจ้งไม่ครบ กระบวนการหลังบ้านของหน่วยงานภาครัฐมากเกินไป

จากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น อัตราการเติบโตของการใช้งานก็สูงมากด้วย ดังนั้น การดูแล การคุ้มครองผู้ใช้บริการให้ได้รับความสะดวก ไม่ถูกละเมิดสิทธิจึงเป็นเรื่องที่สมควรกระทำ และเตรียมพร้อมรับมืออนาคตที่จะขยายตัวไปอย่างมาก แต่ทั้งนี้ ต้องไม่ล้ำเส้นสิทธิส่วนบุคคลขั้นพื้นฐานของประชาชน และผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเองก็ต้องระมัดระวังการใช้งานของตัวเองด้วยอีกทางหนึ่ง