การเมืองนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น

การเมืองนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น

นิวเคลียร์เป็นเรื่องที่ยอกย้อนสำหรับญี่ปุ่น เพราะในด้านหนึ่งญี่ปุ่นเคยได้รับความ

เสียหายอย่างรุนแรงจากนิวเคลียร์ถึงสองครั้งคือการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมะและนะกะซะกิในปี 1945 และวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะในปี 2011 สองเหตุการณ์นี้ทำให้ประชาชนญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งเห็นว่านิวเคลียร์เป็นสิ่งที่โหดร้ายและอันตรายเกินกว่าที่จะนำมาใช้งาน และพยายามเรียกร้องให้มีการยกเลิกการใช้งานนิวเคลียร์ทั้งในระดับประเทศและในระดับนานาชาติ

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ญี่ปุ่นก็พึ่งพานิวเคลียร์เป็นอย่างมากทั้งในด้านพลังงานและความมั่นคง แผนพลังงานพื้นฐานฉบับปัจจุบันของญี่ปุ่นยังคงถือว่านิวเคลียร์เป็นแหล่งพลังงานสำคัญในการผลิตไฟฟ้าของญี่ปุ่น แม้ว่าวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะจะทำลายความเชื่อมั่นในพลังงานนิวเคลียร์ของประชาชนญี่ปุ่นไปแล้วก็ตาม และในขณะที่ญี่ปุ่นประกาศต่อนานาชาติว่าตนเองยึดมั่นในหลักการไม่เกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์อย่างเคร่งครัดและเรียกร้องให้นานาชาติร่วมมือกันขจัดอาวุธนิวเคลียร์ให้หมดไป ญี่ปุ่นก็ยึดมั่นในยุทธศาสตร์ความมั่นคงที่พึ่งพาอาวุธนิวเคลียร์โดยอ้อมผ่านการเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา

ในด้านพลังงานนั้น นโยบายพลังงานนิวเคลียร์ของรัฐบาลชินโซ อาเบะเป็นประเด็นสำคัญของการเมืองภายในของญี่ปุ่นในปัจจุบัน เพราะรัฐบาลอาเบะพยายามผลักดันให้มีการเปิดใช้งานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ทั้งหมดถูกปิดไปหลังเกิดวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ฟุกุชิมะ

โดยให้เหตุผลว่าการใช้นิวเคลียร์ผลิตไฟฟ้ามีต้นทุนต่ำกว่าการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แม้ว่านโยบายนี้จะได้รับการสนับสนุนจากนักการเมือง กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ และประชาชนที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องแต่ก็มีประชาชนอีกเป็นจำนวนมากทั่วประเทศที่ต่อต้าน เพราะไม่เชื่อมั่นในความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 

ซึ่งการที่ผู้สมัครที่มีนโยบายเข้มงวดกับมาตราฐานความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ชนะการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดคะโกชิมะและนีงะตะครั้งที่ผ่านมาสะท้อนถึงความไม่เชื่อมั่นนี้อย่างชัดเจน โดยจุนอิจิโระ โคอิซุมิได้ตั้งข้อสังเกตว่าพรรคแอลดีพีอาจแพ้การเลือกตั้งครั้งหน้า หากไม่เปลี่ยนจุดยืนเรื่องพลังงานนิวเคลียร์

นอกจากนั้น สนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่นเป็นภาคียังกลายมาเป็นอุปสรรคต่อการสนับสนุนการลงทุนด้านพลังงานนิวเคลียร์ในต่างประเทศของรัฐบาลอาเบะในกรณีของอินเดีย การที่อินเดียไม่ได้ลงนามสนธิสัญญาดังกล่าวเป็นทั้งอุปสรรค เงื่อนไข และประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ของข้อตกลงความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์พลเรือนระหว่างญี่ปุ่นกับอินเดีย

สำหรับการพึ่งพาอาวุธนิวเคลียร์นั้น ยุทธศาสตร์ความมั่นคงและท่าทีของรัฐบาลญี่ปุ่นต่ออาวุธนิวเคลียร์ถูกกล่าวถึงเป็นพิเศษมาตั้งแต่การเดินทางเยือนอนุสรณ์สถานสันติภาพที่ฮิโรชิมะของบารัค โอบามาเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นความสำเร็จของทั้งรัฐบาลอาเบะที่ต้องการแสดงจุดยืนด้านสันติภาพของญี่ปุ่นและการเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับสหรัฐฯ และของขบวนการประชาชนญี่ปุ่นที่รณรงค์มาอย่างยาวนานให้มีการขจัดอาวุธนิวเคลียร์โดยถาวรในระดับนานาชาติ 

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อ The Washington Post รายงานในอีกสองเดือนต่อมาว่าโอบามามีแนวคิดที่จะประกาศใช้นโยบายการไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อนหรือ “no first use” ซึ่งจะเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของความพยายามในการขจัดอาวุธนิวเคลียร์ให้หมดไป กลับมีกระแสข่าวออกมาว่าอาเบะได้แสดงความวิตกกังวลต่อนโยบายนี้กับผู้บัญชาการกองกำลังภาคพื้นแปซิฟิคของสหรัฐ เนื่องจากอาเบะเห็นว่านโยบายนี้จะทำให้อำนาจการป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯที่ญี่ปุ่นพึ่งพาอยู่ลดลง

แต่ทั้งนี้ อาเบะได้ปฏิเสธข่าวดังกล่าว นอกจากนั้น ในการประชุมระดับกรรมาธิการของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้ออกเสียงคัดค้านความพยายามในการผลักดันให้มีการเจรจาเพื่อทำสนธิสัญญานานาชาติที่จะทำให้อาวุธนิวเคลียร์เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ซึ่งสร้างความผิดหวังให้กับประเทศสมาชิกที่คาดหวังการสนับสนุนจากญี่ปุ่นในฐานะที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวในโลกที่เคยได้รับความเสียหายจากอาวุธนิวเคลียร์ และการคัดค้านครั้งนี้อาจทำให้ความพยายามใดๆในอนาคตของญี่ปุ่นเกี่ยวกับการขจัดอาวุธนิวเคลียร์ไม่ได้รับความน่าเชื่อถือ แม้ว่าญี่ปุ่นจำเป็นต้องออกเสียงคัดค้านตามสหรัฐฯที่ไม่เห็นด้วยกับการทำสนธิสัญญาดังกล่าวก็ตาม

ปัญหาความยอกย้อนของนิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่นเผชิญอยู่คือความย้อนแย้งระหว่างประวัติศาสตร์ เทคโนโลยี และความจำเป็นทางเศรษฐกิจการเมืองของญี่ปุ่นในปัจจุบัน การแก้ปัญหานี้ไม่สามารถทำได้ด้วยการหันไปหาพรรคการเมืองที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมน้อยกว่าพรรคแอลดีพีหรือเพิกเฉยต่อประวัติศาสตร์และบริบททางเศรษฐกิจการเมืองของประเทศ เพราะทั้งสองวิธีนี้ไม่ได้ทำให้ความจริงที่ญี่ปุ่นเผชิญอยู่เปลี่ยนไป

ญี่ปุ่นจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญมากขึ้นกับการสร้างทางเลือกอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับนิวเคลียร์ทั้งในทางเทคโนโลยีและการเมืองระหว่างประเทศ บนพื้นฐานของความร่วมมือในระดับนานาชาติ ทั้งในระดับรัฐบาลและประชาชน มิฉะนั้นแล้ว นิวเคลียร์ก็ยังจะคงเป็นหลักประกันทางเศรษฐกิจการเมืองที่เป็นรูปธรรมของญี่ปุ่นอย่างปฏิเสธไม่ได้อยู่ต่อไป และความจำเป็นที่ปฏิเสธไม่ได้นี้อาจเป็นเหตุผลสำคัญหนึ่งที่ทำให้อาเบะและพรรคแอลดีพีชนะการเลือกตั้งระดับชาติมาตั้งแต่ปลายปี 2012 โดยที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของนโยบายนิวเคลียร์ของตนเองเลยก็เป็นได้

-------------------

ภาคภูมิ วาณิชกะ

ศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย