Trumponomics (1): 2017 The New Megatrend

Trumponomics (1): 2017 The New Megatrend

ในวงการเศรษฐศาสตร์ภาคเอกชนแล้วนั้น ปี 2559 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป นับได้ว่า

เป็นปีปราบเซียนอย่างยิ่ง นับตั้งแต่ต้นปีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ชะลอขึ้นดอกเบี้ย จากที่เคยประกาศว่าจะขึ้นถึง 4 ครั้งในปีนี้ ขณะที่ในช่วงกลางปี ผลประชามติ Brexit ของอังกฤษก็ช็อคโลกอีกครั้ง

แต่สิ่งที่ช็อคโลกที่สุด และมีแนวโน้มว่าจะส่งผลสืบเนื่องเป็นมหากระแสหรือ “Megatrend” ต่อเนื่องไปอีกนานคือผลการเลือกตั้งสหรัฐที่นายโดนัลด์ ทรัมพ์ ผู้ที่มีความคิดขวาจัดสุดโต่งได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐ โดยผู้เขียนมองว่า ในปี 2560 จะมี 5 ธีมที่เกี่ยวข้องกับนโยบายเศรษฐกิจของทรัมพ์ ที่จะเป็นตัวปรับเปลี่ยน (Game Changer) ทิศทางเศรษฐกิจและการเงินโลกเดิมอย่างสิ้นเชิง 

ธีมที่หนึ่ง ได้แก่ กระแสต่อต้านโลกาภิวัฒน์ที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น โดยหลังจากจุดติดขึ้นในอังกฤษและอเมริกา (และล่าสุดในอิตาลี) ผ่านประชามติ Brexit และประธานาธิบดีทรัมพ์แล้วในปี 2560 กระแสนี้จะย้อนกลับมารุนแรงขึ้นในประเทศแกนกลางยุโรป ทั้งในอิตาลี ฝรั่งเศส รวมถึงในเยอรมนีเองที่กระแสต่อต้านรัฐบาล รวมถึงพรรคขวาจัดได้รับคะแนนเสียงมากขึ้น ซึ่งหากเกิด “อุบัติเหตุ” หนึ่งใดในสามประเทศนี้ เป็นไปได้ที่อาจนำไปสู่การออกจากยูโรโซน และอาจนำไปสู่จุดจบของสหภาพยุโรปได้

ธีมที่สอง ได้แก่ กระแสการกลับมาของเงินเฟ้อ (หรืออย่างน้อยคือมุมมองเงินเฟ้อของประชาชน) ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนสำคัญเป็นผลจากแนวนโยบายส่วนใหญ่ของทรัมพ์ ไม่ว่าจะเป็น (1) การลดภาษี (2) สร้างโครงสร้างพื้นฐาน (3) กดดันให้เอกชนสหรัฐที่ไปลงทุนต่างประเทศให้กลับประเทศ (4) เนรเทศผู้อพยพ รวมถึง (5) ปกป้องทางการค้านั้น ทั้งหมดสามารถผลักดันให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น โดยสามนโยบายแรกทำให้ความต้องการสินค้า บริการรวมถึงแรงงานในประเทศมีมากขึ้น ส่วนสองนโยบายหลังทำให้การนำเข้าแรงงานและสินค้าจากต่างชาติยากขึ้น ทำให้ราคาของสินค้า บริการ และแรงงานสูงขึ้น

ธีมที่สาม ได้แก่ การฟื้นขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะน้ำมัน อันเป็นผลทั้งจาก (1) ข้อตกลงของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน (OPEC) ที่จะลดกำลังการผลิตกว่า 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ (2) การทบทวนการยุติมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐ ซึ่งอาจทำให้การผลิตน้ำมันในที่อื่นๆ ยกเว้นสหรัฐลดลง และทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น 

ธีมที่สี่ ได้แก่ แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบาย และผลตอบแทนพันธบัตรปรับสูงขึ้น ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น อันเป็นผลจาก (1) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทรัมพ์ที่จะทำให้ขาดดุลการคลังมากขึ้น ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวสูงขึ้น (หรือที่เรียกว่า Trump Tantrum) (2) แนวโน้มที่ธนาคารกลางขนาดใหญ่เริ่มชะลอหรือหยุดการอัดฉีด โดยเฉพาะในสหรัฐและญี่ปุ่น และ (3) การที่นักการเมืองในปัจจุบัน (ทั้งในสหรัฐและอังกฤษ) โจมตีแนวนโยบายของธนาคารกลางที่ลดดอกเบี้ยให้ต่ำเกินไป 

ธีมสุดท้าย ได้แก่ การกลับมาของโลกหลายขั้วอำนาจ โดยหลังจากทศวรรษที่ 90 ที่สหภาพโซเวียตล่มสลายแล้วนั้น สหรัฐก็กลายเป็นมหาอำนาจทั้งทางทหารและเศรษฐกิจประเทศเดียว (หรือที่เรียกว่า Unipolar) แต่ในยุคของโอบามาที่ใช้นโยบายต่างประเทศแบบรอมชอม ทำให้บทบาทของสหรัฐในเวทีโลกลดลง ขณะที่ประเทศยักษ์ใหญ่ในภูมิภาคต่าง ๆ เช่น รัสเซีย จีน และซาอุดิอาราเบียมีบทบาทมากขึ้น (หรือ Multipolar World) ซึ่งหากทรัมพ์พยายามดึงความสำคัญของสหรัฐกลับมาอีกครั้งหนึ่ง อาจนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่โดยเฉพาะกับจีน

ทั้ง 5 ธีมนี้จะนำไปสู่ 5 Megatrend ดังนี้

Megatrend แรก ได้แก่ ความเสี่ยงของการค้าโลกจะยิ่งมีมากขึ้น โดยทรัมพ์กล่าวชัดเจนว่า จะชะลอการเจรจาการค้าแบบพหุภาคี และหันมาเน้นทวิภาคีมากขึ้น ซึ่งในทางปฏิบัติก็คือการใช้อำนาจของประเทศใหญ่บีบให้ประเทศเล็กกว่ายอมทำตาม ซึ่งนั่นจะทำให้การค้าระหว่างประเทศระหว่างสหรัฐกับประเทศอื่นๆ จะเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น

Megatrend ที่สอง ได้แก่ แนวโน้มของการยุติลงของภาวะเงินฝืดหรือเงินเฟ้อต่ำ เนื่องจากองค์ประกอบหนึ่งของเงินเฟ้อเกิดจากการคาดการณ์ของประชาชนว่าเงินเฟ้อในอนาคตจะเพิ่มขึ้น วัดได้จากผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว (เช่น 10 ปี) ของสหรัฐที่เพิ่มขึ้นจาก 1.8% ก่อนเลือกตั้งเป็นประมาณ 2.4% ในปัจจุบัน นอกจากนั้น เงินดอลลาร์ที่แข็งค่าต่อเนื่องขณะที่เงินสกุลอื่น  โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่อ่อนค่าลงนั้นถือได้ว่าเป็นการที่สหรัฐ “ส่งออก” เงินเฟ้อไปยังโลกด้วยเช่นกัน

Megatrend ที่สาม ได้แก่ สินค้าโภคภัณฑ์อาจเริ่มกลับมาเป็นที่ต้องการมากขึ้น โดยในปัจจุบัน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์บางชนิด เช่น ทองแดง เริ่มฟื้นตัวแล้ว ซึ่งนโยบายของทรัมพ์จะยิ่งทำให้ความต้องการมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของโภคภัณฑ์แต่ละชนิดยังมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับ (1) โครงการโครงสร้างพื้นฐานของทรัมพ์ทำได้มากน้อยเพียงใด (2) ประเทศในกลุ่ม OPEC จะรักษาสัญญาได้ดีเพียงใด และ (3) จะมีสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงและกระทบการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรหรือไม่

Megatrend ที่สี่ ได้แก่การยุตินโยบายการเงินแบบผ่อนคลายสุดขั้ว (ทั้งนโยบาย QE และดอกเบี้ยติดลบ) เป็นไปได้มากขึ้น และอาจเห็นการตึงตัวทางการเงินมากขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อภาคเอกชนที่มีหนี้มากขึ้นในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา รวมถึงกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนให้ผันผวนขึ้น จากนโยบายการเงินที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ

Megatrend สุดท้ายได้แก่ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) มีมากขึ้น แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้เล่นต่างๆ เช่น (1) แนวนโยบายต่างประเทศของทรัมพ์จะแข็งกร้าวมากน้อยเพียงใด (2) จีนกล้าที่จะเผชิญหน้าสหรัฐโดยตรงหรือไม่ (3) ซาอุดิอาราเบียพร้อมจะกลับมาเป็นเสาหลักของตะวันออกกลางหรือไม่ และ (4) ความแข็งกร้าวของรัสเซียในยุโรปจะมากน้อยเพียงใด

กล่าวโดยสรุป Megatrend ที่อาจเริ่มเห็นตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป คือการกลับมาของเศรษฐกิจและการเมืองโลกในยุคทศวรรษที่ 80 ที่เงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยสูง เศรษฐกิจร้อนแรงและตกต่ำอย่างรวดเร็ว (Boom-bust Cycle) และแนวคิดแบบสงครามเย็น (Cold War Mentality) ก่อนโซเวียตล่มสลายก็อาจกลับมาได้เช่นกัน

ความผันผวนรุนแรงทั้งเศรษฐกิจและการเมืองโลกกำลังจะมา คุณพร้อมรับมือแล้วหรือยัง

-----------------

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่