กรรมการบริษัทกับบท‘กัปตันมือดี’

กรรมการบริษัทกับบท‘กัปตันมือดี’

ตลาดหุ้นไทย วันนี้มีการยกระดับขึ้นมาในเกือบทุกระดับ นับเป็นเรื่องดี

ดูจาก 4 กลุ่มที่เชื่อมโยงกัน ในระนาบเดียวกัน อาทิ

ก.ล.ต. ดูว่างานจะเข้ามากองมากโข แต่ระยะหลัง ได้รับคำชมว่า กล้าหาญ รวดเร็วขึ้น มีข่าวการกล่าวโทษ ลงทัณฑ์ผู้บริหาร ผู้เกี่ยวข้อง ออกมาถี่ๆ หลายคนคาดไม่ถึง เพราะเงียบเชียบมาก ช้อคกันเป็นแถว ว่าเห็นกันเพียงลัดๆ ทำอะไรไว้เมื่อไหร่กันนี่ ถูกกล่าวโทษ ซะแล้ว

ตลท.ขยันหาหุ้นใหม่ เข้าตลาดหุ้น แม้เป้าหมายจะหลุดเป้าไปบ้าง แต่ก็เดินหน้าไปได้ ตามพลวัตทางการเงิน ที่หลายคนเห็นความสำคัญของการเป็นบริษัทมหาชน

บริษัทจดทะเบียน เสมือนเป็นสินค้าให้ผู้บริโภค หรือผู้ลงทุนได้เลือกซื้อ เลือกลงทุน ย่อมต้องมีกลยุทธ ในการทำธุรกิจ ให้เป็นแรงดึงดูดใจ ของนักลงทุน และรู้จัก รู้ใจว่า พวกลงทุนต้องการอะไร เงินปันผล ส่วนเกินมูลค่าหุ้น หรือซื้ออนาคตของกิจการ

นักลงทุน ยอมรับกันว่า นักลงทุนรุ่นใหม่ชาญฉลาดมาก เรียกกันติดปากว่า นักลงทุนประเภท VI พวกเขา จึงหันมานิยมเลือกการลงทุนเป็นอาชีพ หมายถึง ไม่ทำงานอื่น ไม่เป็นพนักงานออฟฟิต ไม่เป็นวิศกร ไม่เป็นหมอ บางคนถูกเรียกหรือเรียกตัวเองว่า เป็น เซียนหุ้น ไปแล้วนะ

นี่ยังไม่พูดถึง อีกหลายส่วนที่เชื่อมโยงกัน อย่างเช่น โบรกเกอร์ กองทุนรวม และ อื่นๆ ล้วนเป็นเรื่องเดียวกัน ที่ต้องเดิน และพัฒนาไปพร้อมกัน

อะไร เป็นการวัดระดับคุณภาพ สินค้าของตลาดหุ้นไทยกันล่ะ นอกเหนือจากการดำเนินธุรกิจ ให้มีกำไรรุดหน้า มีเงินปันผล มีอนาคต ขยายธุรกิจ มาระยะหลัง มีการยกเรื่องความยั่งยืนของธุรกิจ ผ่านแนวคิด การเอื้ออาทรกับสิ่งแวดล้อม ที่เรียกกันว่า เป็น Eco-System เช่น การเป็นมิตรกับสิ่งแวด การดูแลมนุษยชาติ การทำการค้าอย่างมีคุณธรรม การมีกิจกรรมเพื่อสังคม เป็นต้น

กระแสที่เป็นแนวโน้มของโลกธุรกิจ คือ ดัชนีชี้วัดความซื่อสัตย์ ที่เป็นการแสดงเจตนาด้านจรรยาบรรณ ที่ยกระดับสูงกว่ากฏหมาย อันหมายความว่า ไม่มีข้อระบุทางกฏหมายให้เป็นความผิด หรือต้องปฏิบัติ แต่เป็นเสมือนการดำรงไว้ซึ่งศีลธรรมอันดีงาม อยู่ภายใต้กรอบแห่งความดี ความซื่อสัตย์ ซื่อตรง แม้ไม่มีใครเห็น ไม่มีใครรู้ ก็ไม่พึงกระทำ หรือแม้ไม่มีข้อห้าม หรือแม้มีช่องโหว่ทางกฏหมาย ก็ไม่พึงใช้ช่องทางนั้น กอบโกยประโยชน์เข้าหาตน กระแสนี้ เรียกว่า “ธรรมาภิบาล ฝรังเรียกโก้ๆ ว่า Good Governance หรือ CG

กระแส การยก CG แปรรูปเป็นดัชนี วัดค่า ให้วงการธุรกิจ หยิบขึ้นมาเป็นตัวชี้วัด ความไว้เนื้อเชื่อใจกันของสังคม ด้วยมาตร ที่เป็น ระดับคะแนนบ้าง เป็น สัญญลักษณ์บ้าง เช่น มีระดับ CG กี่ดาว บริษัทใด มีดาวมาก มีระดับคะแนนสูง ก็จะส่งผลถึงภาพลักษณ์อันดี ช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้ถือหุ้น คู่ค้า ให้อยู่กันอย่างยั่งยืน

ในเชิงโครงสร้างของบริษัทมหาชนและจดทะเบียนในตลาดหุ้น ประกอบด้วย ผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร และกรรมการ

พบว่า บทบาทที่มีความสำคัญ ต่อการเดินหน้าธุรกิจ กำหนดนโยบาย ประดุจ “กัปตัน” เรือ ที่ลุกขึ้นยืนบนแท่นเสากระโดงเรือ แล้วส่องกล้อง มองทางไกล สำรวจคลื่นลม ให้ระวังกาบซ้าย-กาบขวา ปล่อยเต็มกำลังเมื่อคลื่นลมเป็นใจ หรือจะหลบพายุร้าย ไปให้ถึงฝั่งอย่างปลอดภัย คนกลุ่มนั้น คือ “กรรมการ”

หน้าที่ของ กรรมการ ระบุว่า จะเป็นผู้สรรหาผู้บริหารเก่งๆ เข้ามาทำงาน และคอยสนับสนุน ให้ผู้บริหารทำงานบรรลุตามเป้าหมาย

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง กิจการมหาชน มักจะเริ่มจากธุรกิจครอบครัว เจ้าของเป็นผู้บริหาร นั่งเป็นกรรมการซะเอง ดังนั้น จึงต้องมี กรรมการอิสระ เข้าไปช่วยถ่วงดุล และเป็นตัวแทนของผู้ลงทุนรายบุคคล ตามเกณฑ์ของหน่วยงานกำกับ คือ ต้องมีกรรมการอิสระ จำนวน 1 ใน 3 ของกรรมการทั้งคณะ ของแต่ละบริษัท เรื่องนี้เป็นที่รู้กันมานานแล้ว

พอนำบางเรื่อง มาเชื่อมต่อกันเป็นจิ๊กซอร์ พบว่า เรื่องของกรรมการมีการให้ความสำคัญระดับสากลกันเลยเชียวล่ะ การประเมิน คะแนน CG มีเกณฑ์กำกับไว้ หลายหัวข้อ สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ในฐานะผู้ดำเนินการ ประเมินคุณภาพการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น จึงมีสถิติบางข้อที่อยากนำมาเล่าสู่กันฟัง เป็นสถิติเก็บข้อมูลภาคสนาม ของการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียน ในตลาดหุ้นไทย ประจำปี 2559 ที่กำลังจะผ่านไป

มีกรรมการบริษัท 7,334 คน ได้รับค่าตอบแทน เฉพาะเป็นตัวเงิน ราว 2,819 ล้านบาท (ไม่รวมค่าตอบแทน ที่ไม่เป็นตัวเงิน เช่น รถยนต์ประจำตำแหน่ง,ค่าสมาชิกสนามกอลฟ์,ค่าเดินทางต่างประเทศ และอื่นๆ) ในจำนวนนี้ เป็นกรรมการอิสระ 2,404 คน

มีกรรมการอิสระ ที่อยู่ในตำแหน่ง เกิน 9 ปี (ตามเกณฑ์ CG ) จำนวน 621 คน หรือร้อยละ 25 พบมีสถิติ นั่งนานที่สุด 23 ปี และดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการอิสระมากที่สุด จำนวน 9 บริษัท (ตามเกณฑ์ ไม่ควรเกิน 5 บริษัท เพื่ออุทิศเวลาได้เต็มที่)

ยังน่าเสียดายที่ สถิติของกรรมการที่เป็นเพศหญิง มีเพียงร้อยละ 17 เท่านั้น ทั้งที่ผู้หญิงก้าวขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในหลายองค์กรแล้ว

มีสถิติที่น่าสนใจ ลึกลงไปกว่านั้นอีก เรื่องข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของกรรมการบริษัท ได้แก่ มี 130 บริษัท ที่ไม่ระบุนิยามนิยามของการเป็นกรรมการอิสระ,มี 116 บริษัท ที่ไม่ระบุการมีส่วนได้เสียของการบริหารงาน, มี 87 บริษัท ที่ไม่แนบแผนที่ ไปให้ผู้ถือหุ้นว่าจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นที่ใด,มี 115 บริษัท ที่กรรมการเข้าร่วมประชุมน้อยกว่า ร้อยละ 90,มี 36 บริษัท ประธานบริษัทไม่เข้าร่วมประชุม,มี 29 บริษัท ที่ประธานกรรมการตรวจสอบไม่เข้าร่วมประชุม, มี 67 บริษัท ที่ส่งรายงานการประชุม ไม่ทัน ภายในเวลา 14 วัน หลังการประชุม, มี 36 บริษัท ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้น ได้ซักถาม และ มี 59 บริษัท ไม่มี Inspectors ในการประชุม

นี่เป็นเพียงตัวอย่าง ที่จะนำไว้เทียบเคียงในปี ต่อๆไป เหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจ ที่คะแนนชี้วัด ธรรมาภิบาลด้านการทำหน้าที่ของ กรรมการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ยังไม่ดีนัก

นี่ยังไม่นับรวม กรณีการมีการกล่าวโทษผู้บริหารระดับกรรมการบริษัท กระทำผิด เรื่องการใช้ข้อมูลภายใน กอบโกยผลประโยชน์ให้ตัวเอง ที่มีความถี่ จับได้ไล่ทันหลายราย ก็ยังลอยหน้า ลอยตาในสังคมได้ อย่างเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา มีประกาศข่าว ตีพิมพ์เป็นกรอบไม่โตนัก เป็นประกาศศาลแพ่ง ให้บัญชีเงินฝากของบริษัทจดทะเบียนแห่งหนึ่’ง จำนวน ราว 104.8 ล้านบาท ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ข้อหา คดีปกครองและฟอกเงิน จากโครงการบำบัดน้ำเสีย ที่จังหวัดสมุทรปราการ

หลายบริษัทที่มี “กัปตัน” มือดี อยู่แล้วขอเป็นกำลังใจและชื่นชม ส่วนบริษัทใด ยังเอออ้า.. สปอตไลท์ของสังคม จะทำงานทันที ยุคนี้ไม่มีความลับในโลกอีกต่อไป กรรมยุคดิจิตอล มาไวกว่าที่คุณคาดถึง พอๆกับการต้องเตรียมรับมือ Fintech เลยล่ะค่ะ