เมื่อเริ่มเห็นปัญหา ก็เริ่มมีความหวัง

เมื่อเริ่มเห็นปัญหา ก็เริ่มมีความหวัง

รัฐบาลเตรียมผลักดันนโยบายประชารัฐ ในด้านสังคม

ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป โดยหวังว่าความร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหาระหว่างภาครัฐ ประชาชนและภาคธุรกิจจะสามารถแก้ในหลายๆ ด้านที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ซึ่งหากติดตามรายงานภาวะสังคม ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็จะเห็นได้ว่าสังคมไทยกำลังเผชิญกับภัยคุกคามหลายด้าน ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม การก้าวสู่สังคมสูงอายุ โรคระบาดต่างๆ และปัญหาใหญ่ที่ยังแก้ไขค่อนข้างยากคือปัญหาความเหลื่อมล้ำ

การผลักดันนโยบายด้านสังคมในครั้งนี้ รัฐบาลใช้งบประมาณมหาศาลกว่าแสนล้านบาท ส่งผ่านระดับจังหวัดจนถึงระดับหมู่บ้าน ซึ่งถือว่ารัฐบาลได้ขจัดข้อจำกัดด้านงบประมาณไปได้ระดับหนึ่ง ในการผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ ดังนั้น สิ่งสำคัญนับจากนี้ไปคือความร่วมมือในการแก้ปัญหาร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในการแก้ปัญหาเฉพาะที่เกิดขึ้นกับชุมชนท้องถิ่นแต่ละแห่ง ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละชุมชนท้องถิ่นย่อมมีปัญหาและวิธีการแก้ที่แตกต่างกัน ตามเงื่อนไขเฉพาะของแต่ละชุมชนที่กำลังเผชิญอยู่ขณะนี้

หากเปรียบเทียบการดำเนินนโยบายในลักษณะเดียวกันของรัฐบาลชุดนี้ กับรัฐบาลก่อนหน้านั้นก็จะพบความแตกต่างสำคัญ คือ การร่วมมือจากภาคเอกชน ซึ่งรัฐบาลได้ให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ในการคิดและวางแผนเพื่อแก้ปัญหาของประเทศ แม้ว่าคณะกรรมการแต่ละชุดที่ตั้งขึ้นมายังไม่อาจผลักดันได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่ก็เห็นเอกชนบางรายเข้ามาร่วมอย่างจริงจัง ดังนั้นความสำเร็จหรือล้มเหลวของนโยบายยังเป็นเรื่องที่น่าติดตาม ว่านโยบายประชารัฐที่หวังจะให้เป็นกลไกสำคัญในการปฏิรูปประเทศจะสำเร็จหรือไม่

รัฐบาลชุดปัจจุบันถือว่ามีนโยบายที่ออกมาขับเคลื่อนในระดับจังหวัดค่อนข้างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐบาลก่อนหน้านี้ ซึ่งมักจะให้ความช่วยเหลือเป็นกรณีหรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้นโยบายดูแล้วเป็นเรื่องฉาบฉวยและเป็นกระแสในช่วงสั้นๆเท่านั้น แต่เมื่อรัฐบาลชุดนี้ทุ่มงบประมาณค่อนข้างมาก ดำเนินนโยบายตั้งแต่เรื่องเศรษฐกิจจนถึงเรื่องทางสังคม ซึ่งได้เกิดกระแสค่อนข้างแรงมาโดยตลอด แม้ขณะนี้เรายังไม่เห็นในเรื่องของการประเมินผล ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มาโดยตลอดของทุกรัฐบาล 

แน่นอนว่าลักษณะของนโยบายประชารัฐถือเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน เพราะเป็นรูปแบบของความร่วมมือที่ดีของคนในสังคม หลังจากสังคมไทยผ่านการพัฒนาทางเศรษฐกิจ จนคนไทยด้วยกันเองห่างเหิน และมีความปัจเจกกันมากขึ้นจนไม่สนใจปัญหารอบตัวที่เกิดขึ้น ดังนั้น รูปแบบความร่วมมือจึงเหมือนเป็นความพยายามดึงลักษณะของการอยู่ร่วมกัน และเป็นสังคมเดียวกันของนไทยกลับมาอีกครั้ง และเราเชื่อว่าหากนโยบายมีความต่อเนื่องและสามารถก่อร่างสร้างตัว เป็นกลุ่มองค์กรได้ก็เชื่อว่าจะมีประโยชน์มหาศาลในอนาคต

ดังนั้นปัญหาใหญ่หลังจากเริ่มผลักดันนโยบายออกไปแล้ว คือทำอย่างไรจะสามารถทำให้เกิดความต่อเนื่องได้ในระดับชุมชน เพราะหากขาดความต่อเนื่องอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือจากปัจจัยอื่นๆ ก็เท่ากับว่าการลงทุนลงแรงมากมายเป็นสิ่งสูญเปล่า และเราก็ไม่สามารถประเมินได้ถูกต้อง ว่านโยบายในลักษณะนี้เผชิญกับปัญหาใหญ่ตรงไหน และปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากอะไร ซึ่งความต่อเนื่องนับว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จของนโยบายของสังคมไทย

เราเห็นว่านโยบายลักษณะเช่นนี้เป็นเรื่องที่ต้องสนับสนุน ไม่ว่าแนวทางการดำเนินงานจะเป็นอย่างไร แต่นั่นเป็นเรื่องของการเรียนรู้การทำงานเพื่อแก้ปัญหาของคนในสังคมเอง เราเชื่อว่าไม่ว่านโยบายลักษณะนี้จะเผชิญกับอุปสรรคอะไรก็น่าจะแก้ได้ไม่ยากนัก หรือเหนือความสามารถของคนไทย ซึ่งเป็นเหมือนบททดลองในการแก้ปัญหาสังคมไทย ที่นอกเหนือจากการพึ่งพาระบบราชการเพียงอย่างเดียว เรามั่นใจว่าความร่วมมือจะแก้ปัญหาได้แม้ขณะนี้วิธีการยังไม่ชัด แต่ตราบใดที่คนเริ่มเห็นปัญหา นั่นหมายความว่าการหาทางออกไม่ใช่เรื่องยาก