ในความโกลาหล ก็มีระเบียบของมัน

ในความโกลาหล ก็มีระเบียบของมัน

นี่คือบางปฏิกิริยาจากผู้นำบางคนในย่านเอเชีย ต่อคำประกาศ

ของว่าที่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าทันทีที่รับตำแหน่งทำเนียบขาว 20 ม.ค.ปีหน้า จะฉีกข้อตกลง Trans-Pacific Partnership (TPP) ที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ริเริ่มเอาไว้

ยังต้องดูว่าทรัมป์จะทำอย่างไรกับ NAFTA (North American Free Trade Agreement) ซึ่งเป็นข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่มีสหรัฐ แคนาดาและเม็กซิโกเป็นสมาชิก และเป็นแกนสำคัญของทวีปอเมริกาเหนือมานานพอสมควร

ทรัมป์ บอกว่า สหรัฐเสียเปรียบ ต้องทบทวนแก้ไขหรือยกเลิก เพราะเขาอ้างว่าอเมริกาไม่ได้ประโยชน์ เท่ากับประเทศอื่นที่เป็นสมาชิก และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนอเมริกันตกงาน

เรื่องของเรื่องก็คือว่าประเทศอื่น ต่างหากที่มองว่าสหรัฐได้ประโยชน์ จากการเชิญชวนคนอื่นมาร่วมตั้งเขตการค้าเสรี เพราะวอชิงตันเป็นคนตั้งเงื่อนไขกำหนดให้คนอื่นต้องทำตาม และเงื่อนไขเหล่านั้นคือข้อที่สหรัฐได้เปรียบคนอื่นทั้งนั้น

แม้ TPP ที่มีสมาชิกก่อตั้ง 12 ประเทศก็เถอะ หลายวงการในประเทศไทย ก็ทักท้วงว่าเราไม่ควรจะร่วม เพราะมีกติกาหลายข้อที่สหรัฐตั้งเอาไว้ ให้ตัวเองได้เปรียบคนอื่น เพราะความเป็นมหาอำนาจของตัวเอง

โดยที่ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งมีจีนเป็นแกนหลักนั้น ไม่ได้ตั้งเงื่อนไขที่เกี่ยวกับมาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อมและทรัพย์สินทางปัญญาเข้มงวดเท่ากับของ TPP

ผู้นำญี่ปุ่นบอกว่าถ้าไม่มีสหรัฐ TPP ก็ไม่มีความหมาย

นายกฯ ออสเตรเลีย บอกว่า TPP เป็น ข้อผูกพันทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ

ผู้นำนิวซีแลนด์บอกว่าถึงจังหวะหนึ่ง สหรัฐก็จะต้องคิดถึงวิธีที่จะเข้าถึงตลาด ของประเทศที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในเอเชีย

แปลว่าถ้าทรัมป์ไม่คบค้ากับประเทศในเอเชีย ปิดประตูโดดเดี่ยวตัวเอง โดยอ้างว่าไม่ต้องการให้คนอเมริกันตกงานมากกว่านี้ อีกหน่อยก็จะสำนึกเองว่าอเมริกาต้องพึ่งพาตลาดในเอเชียเพื่อจะขายของที่ตนเองผลิต เพราะถ้าอเมริกาผลิตของแล้วหาตลาดซื้อไม่ได้ก็จะต้องเจอกับปัญหาอีกเช่นกัน

โอบามา บอกว่า การยกเลิก TPP ก็เท่ากับเป็นการ บ่อนทำลายสถานภาพของเราในภูมิภาคนี้

แปลว่าหาก ทรัมป์ เลิกสร้างพันธมิตรเพื่อสร้างความคล่องตัวในการค้าขายและลงทุน ก็เท่ากับเป็นการเปิดช่องว่างทางการเมือง เศรษฐกิจและความมั่นคงในเอเชีย

ไม่ต้องวิเคราะห์ให้ยากก็รู้ว่า หากทรัมป์ดำเนินนโยบาย America First ในรูปแบบนี้ก็เท่ากับเชื้อเชิญให้จีนเข้ามา ถมช่องว่าง ในย่านนี้

อย่าได้แปลกใจหากประธานาธิบดีสีจิ้นผิง จะแอบขอบคุณทรัมป์ที่ช่วยแก้ปัญหาให้เขาได้มากมายหลายด้าน โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้ ปักกิ่งจะสามารถเล่นเกมการต่อรองกับประเทศอื่นๆ ที่มีข้อขัดแย้งกับจีนในเรื่องสิทธิเหนือเกาะแก่งทั้งหลาย

ผมเชื่อเหมือนนักวิเคราะห์บางสำนักว่าทรัมป์เป็นนักธุรกิจ เอาเข้าจริง ๆ เมื่อนั่งเก้าอี้ทำเนียบขาวและประเมินข้อดีข้อเสียของ เขตการค้าเสรี แล้วก็อาจจะเปลี่ยนความคิดและหาทางยื่นมือมาเจรจาใหม่

ทรัมป์อาจจะหาทางออกเพื่อไม่ให้เสียหน้า หรือเสียคำพูดช่วงหาเสียงด้วยการบอกว่าจะ ทบทวน หรือ ประเมินผลดีผลเสีย ของข้อตกลงเรื่องการค้าทั้งหลายเสียใหม่ แล้วก็หาทางให้มีวิธีการค้าขายกันอย่างคล่องแคล่วมากขึ้น

ลงท้ายเนื้อหาอาจจะไม่ต่างจาก TPP แต่เรียกเป็นชื่ออื่นที่เป็นยี่ห้อของทรัมป์ได้... ดังนั้นไทยเราจึงควรจะต้องประกบทีมทำงานของทรัมป์ ในทุก ๆ ด้านอย่างใกล้ชิด และประเมินสถานการณ์อย่างคล่องแคล่วปราดเปรียว

เดิมเรียกว่า New Normal

หลัง ทรัมป์ ขึ้นเป็นใหญ่ที่อเมริกา อาจต้องเรียกใหม่ว่า New Chaos

ในความเพี้ยนและโกลาหลก็มี ระเบียบใหม่ของมัน