เศรษฐกิจไทยจากอดีตสู่อนาคต

เศรษฐกิจไทยจากอดีตสู่อนาคต

ปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะเดินไปสู่จุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ เพราะจะเป็นจุดเริ่มต้นของ

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 12 ซึ่งเป็นแผนพัฒนา 5 ปี และจะเป็นการวางรากฐานสำหรับการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ของชาติในอีก 20 ข้างหน้า ซึ่งตามความเข้าใจของผมนั้นจะตราออกมาเป็นกฎหมายโดยมีวัตถุประสงค์หลักที่สำคัญด้านหนึ่งคือการนำพาประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2036 ในเชิงของรายได้ต่อหัวของประชากร ซึ่งการจะขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยายตัวสู่สถานะดังกล่าวได้นั้น จีดีพีของไทยจะต้องขยายตัวเฉลี่ย 5% ต่อปีใน 20 ปีข้างหน้า

การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่กล่าวถึงนี้คือการขยายตัวจริง ไม่รวมเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยสำหรับประเทศไทย เพราะในการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในปีหน้านั้น เสียงส่วนใหญ่จะประเมินเอาไว้ที่ 3-4% (เช่น สภาพัฒน์ฯ) ส่วน บริษัทหลักทรัพย์ ภัทรนั้นมองว่าจีดีพีจะขยายตัวประมาณ 3.2% ทั้งในปี 2017 และ 2018 ซึ่งหากดูจากตัวเลขในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ก็จะเห็นว่าการขยายตัว 5% ต่อปีนั้น เป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก ดังปรากฏในตารางข้างล่างครับ

จากข้อมูลข้างต้นผมมีข้อสังเกตดังนี้ครับ

ในช่วง 1998 ถึง 2015 บวกกับการขยายตัวของจีดีพีที่น่าจะเกิดขึ้นในปี 2016 และ 2017 รวมกัน 20 ปีนั้น จีดีพีของไทยน่าจะขยายตัวเฉลี่ยเพียง 3.4% ต่อปี จึงยากมากที่จะประเมินว่าจีดีพีจะขยับขึ้นไปขยายตัว 5% ต่อปีตามที่ได้ตั้งเป้าเอาไว้ เว้นแต่จะมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจที่มีนัยสำคัญและสามารถจับต้องได้

ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างก้าวกระโดดในปี 1991-1996 นั้น มีปัจจัยมาจากการที่บริษัทไทยกู้ยืมเงินจำนวนมากมาจากต่างประเทศ ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ยั่งยืนจนเกิดวิกฤติในปี 1997 ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว แต่ในช่วงนั้นก็ยังได้รับอานิสงค์จากตลาดส่งออกที่ขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือการส่งออกขยายตัว 2 เท่าของจีดีพี

หลังจากที่ไทยพื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจในช่วง 2000 เป็นต้นมานั้น ไทยได้ประโยชน์จากการขาดดุลการค้าที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการขยายตัวทางการส่งออกของจีน โดยการกำหนดค่าเงินให้อ่อนค่าเทียบกับเงินสหรัฐ นอกจากนั้นก็ยังได้อานิสงค์จากนวัตกรรมทางการเงินของสถาบันการเงินสหรัฐใช้อนุพันธ์ทางการเงินต่างๆ เช่น ซีดีโอและซีดีเอส (เรื่องนี้ผมเคยเขียนถึงในอดีตแล้วจึงขอไม่ขยายความในวันนี้) ทำให้เกิดฟองสบู่ทั่วโลกและเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกเมื่อบริษัทเงินทุน แบร์ สเตอร์น และบริษัทเลห์แมน บราเธอร์ ล่มสลายลงในปี 2007 ในช่วง 2002-2007 นั้นจีดีพีไทยขยายตัวปีละ 5.1% แต่ก็เป็นการขยายตัวที่ไม่ยั่งยืนและเป็นการพึ่งพาการส่งออกเช่นเคยกล่าวคือ จีดีพีขยายตัวเฉลี่ยปีละ 5.1% และการส่งออกขยายตัวปีละ 15.8%

ในยุคหลังจากการฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2007-2008 นั้นจีดีพีไทยขยายตัวได้เพียง 3.0-3.5% ต่อปี ส่วนหนึ่งเพราะการส่งออกขยายตัวอย่างเชื่องข้าลงมาก ในช่วงดังกล่าวการส่งออกขยายตัวใกล้กับจีดีพีและใน 3 ปีที่ผ่านมา รวมถึงปีนี้ด้วยนั้น การส่งออกจะไม่ขยายตัวแต่หดตัวด้วยซ้ำ

จึงไม่แน่ใจว่าอะไรจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจใน 5 ปีหรือ 20 ปีข้างหน้า

การขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้นตามทฤษฎีเคนซ์ที่ยึดถือกันมา จะต้องดูว่าขาดอุปสงค์ (demand) หรือไม่ ในกรณีที่พิจารณาแนวโน้มของเศรษฐกิจในระยะสั้น (1-2 ปี) กล่าวคือจะต้องดูว่าการบริโภคเพียงพอหรือไม่ การส่งออกจะส่งเสริมให้ขยายตัวได้อีกมากน้อยเพียงใด และหากจำเป็นก็จะต้องใช้การกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ โดยให้รัฐบาลต้องขาดดุลงบประมาณมากขึ้นจากการลดภาษีหรือการเพิ่มรายจ่าย หมายความว่าให้รัฐบาลยืมอุปสงค์ในอนาคตมาใช้ในปัจจุบัน แต่การจะให้เศรษฐกิจขยายตัวในระยะยาวอย่างยั่งยืนและต่อเนื่องเป็นเวลา 10-20 ปีนั้น จะต้องคำนึงถึงปัจจัยที่กำหนดอุปทาน (หรือ supply side) ซึ่งผมจะเขียนถึงในครั้งต่อไปครับ