Trumponomics : จะไปทางไหนดี

Trumponomics : จะไปทางไหนดี

บทความเมื่อเดือนที่แล้วของผู้เขียนเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “ประธานาธิบดีประชานิยม”

ที่ได้ตีพิมพ์ล่วงหน้าหนึ่งวันก่อนจะรู้ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยได้คาดการณ์ว่านายทรัมป์อาจมีโอกาสได้ชัยชนะจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างพลิกล็อคเหมือนกรณีของ Brexit เพราะจับประเด็นปัญหาที่มีลักษณะคล้ายกัน คือ กรณีของสหรัฐก็จะมีคนงานอเมริกันจำนวนไม่น้อย ที่ได้รับผลกระทบทางลบในเชิงเศรษฐกิจ จากกระแสโลกาภิวัตน์ โดยที่ไม่ได้รับการชดเชยจากภาครัฐเท่าที่ควร

กลุ่มพลังคนด้อยโอกาสเหล่านี้ ต่างก็ผิดหวังกับระบบการเมืองแบบเดิมๆ จนต้องหันมาสนับสนุนนักการเมืองหน้าใหม่ อย่างนายทรัมป์ ให้ก้าวขึ้นมาคว้าชัยชนะจากการเลือกตั้งใหญ่ได้อีกครั้ง ภายหลังจากที่เคยเอาชนะการแข่งขันในระบบคอคัสและไพรมารีของพรรรครีพับลิกันที่มีผู้สมัครรวมกันมากกว่า 14 คนมาแล้ว

การหาเสียงในครั้งที่ผ่านมานี้ ทรัมป์ได้สร้างความแตกแยกไปทั่วสังคมอเมริกัน โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากกระแสโลกาภิวัตน์ และกลุ่มที่ตกขบวนการเกลี่ยผลประโยชน์ของโลกาภิวัตน์ที่กระจายไม่ทั่วถึง ซึ่งก็เป็นประเด็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่ถูกกระตุ้นจนจุดติดขึ้นมาจากนายเบอร์นี แซนเดอร์ส ที่มาจากพรรคของฝั่งทางนางฮิลลารีเองด้วย

ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์จึงจำเป็นจะต้องสร้างงานใหม่ เพื่อทำให้เกิดการจ้างงานในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมตามที่สัญญาไว้ ดังนั้น จึงมีโอกาสสูงที่เขาอาจพึ่งพาการใช้นโยบายภาษีนำเข้าและนโยบายที่ไม่ใช่ภาษี (nontariff barriers) เพื่อกีดกันสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้านำเข้าจากจีน

นอกจากนี้ ก็จะมีการเจรจาเรื่องข้อตกลงการค้ากันใหม่กับประเทศคู่ค้าสำคัญๆ ของสหรัฐมากขึ้น และรวมถึงการยกเลิกข้อตกลงร่วมมือ TPP ด้วย ซึ่งท่าทีเช่นนี้อาจทำให้เกิดกระแสต่อต้านการค้าเสรีโลกได้ และส่งผลทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวลดลงในที่สุด นอกจากนี้ เขาก็ยังมีมาตรการเข้มงวดในการสกัดกั้นแรงงานอพยพต่างชาติที่จะเข้ามาแย่งงานคนอเมริกันด้วย ทรัมป์สัญญาว่าจะไม่แตะต้องผลประโยชน์จากระบบสวัสดิการสังคม และจะลดภาษีให้กับคนรวยและภาคธุรกิจเพื่อกระตุ้นการลงทุนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ดังนั้นสหรัฐก็น่าจะมีการขาดดุลงบประมาณที่สูงมากขึ้นด้วย แสดงว่าภาระหนี้ภาครัฐจะมีสูงมากขึ้นภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีคนใหม่นี้

นโยบายของว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ทั้งหมดที่หาเสียงไว้ซึ่งมีผู้เรียกสรุปรวมกันว่า Trumponomics นั้น ก็คาดว่าจะมีผลกระทบต่อไทยในสาระหลักอย่างน้อยสองประการ ดังนี้

ประการแรก การเปลี่ยนแปลงทิศทางการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐที่จะก่อให้มีการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงการค้าเสรีที่มีอยู่เดิมเพื่อให้เป็นคุณต่อสหรัฐมากขึ้น พร้อมกับการยกเลิกข้อตกลงใหม่โดยเฉพาะข้อตกลง TPP นั้น แม้ไทยจะได้ประโยชน์ในเบื้องต้น แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะทำให้จีนมีบทบาทมากขึ้น ในฐานะพี่ใหญ่ของการรวมกลุ่มการค้าของเอเชียเมื่อสหรัฐลดบทบาทลง ในการเป็นผู้ถ่วงดุลผ่านการผลักดันข้อตกลง TPP ในอดีต ก็จะทำให้จีนสามารถเรียกร้องผลประโยชน์จากประเทศอื่นๆ ในเอเชียได้มากขึ้น

หลักฐานที่ยืนยันกรณีเช่นนี้ได้ชัดเจน ก็คือ ท่าทีของจีนต่อกรณีพิพาทในบริเวณหมู่เกาะทะเลจีนใต้ที่ผ่านมา หรือท่าทีวิธีการของจีนในการบริหารจัดการน้ำบริเวณแม่โขงที่มีจีนเป็นเจ้าของต้นน้ำ เป็นต้น ดังนั้น การที่สหรัฐจะกีดกันสินค้านำเข้าจากจีนมากขึ้น ก็ย่อมจะทำให้จีนหันมากดกันเพื่อระบายสินค้าจีนมาตีตลาดของประเทศคู่ค้าอื่นในเอเชียมากขึ้น ซึ่งก็รวมทั้งไทยด้วย

ประการที่สอง นโยบายใหม่ของสหรัฐในเรื่องภาษีและการใช้จ่ายจะทำให้หนี้รัฐบาลมีเพิ่มสูงขึ้น หากรัฐบาลเพิ่มการขายพันธบัตรให้กับภาคเอกชนและภาคครัวเรือนมากขึ้น ก็จะต้องเสนอให้อัตราดอกเบี้ยในระยะยาวที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อไป

ดังนั้น หากว่าที่ประธานาธิบดีจะพยายามกู้เพิ่มขึ้นจากธนาคารกลางแทน ก็คงต้องพยายามเข้าแทรกแซงธนาคารกลางสหรัฐมากขึ้น ซึ่งย่อมแน่นนอนว่าไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ แต่ในสถานะการณ์เฉพาะพิเศษบางกรณีที่ทำให้เขาสามารถควบคุมธนาคารกลางได้นั้น นาง Laura Tyson ศาสตราจารย์จาก University of California at Berkeley ได้อธิบายว่า รัฐบาลอาจขอกู้จากธนาคารกลางและขอต่อหนี้ที่ถึงกำหนดไปได้โดยไม่สิ้นสุด วิธีนี้ก็จะทำให้อัตราดอกเบี้ยไม่ปรับตัวสูงขึ้น แม้รัฐบาลจะมีหนี้เพิ่มขึ้นก็ตาม

แต่การทำเช่นนี้นอกจากจะทำลายความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางแล้ว ยังจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงและวิกฤตทางเศรษฐกิจและการเงินของโลกในอนาคตได้ ซึ่งก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างมากต่อไป

ดังนั้น ทิศทางการเปลี่ยนแปลงและขนาดของการเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสมในเชิงนโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐจึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไป