อิทธิพลของ “ข่าวปลอม” และ “ฟองสบู่ตัวกรอง” บนโซเชียลมีเดีย

อิทธิพลของ “ข่าวปลอม” และ “ฟองสบู่ตัวกรอง” บนโซเชียลมีเดีย

หนึ่งเดือนผ่านไปหลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดี

อเมริกันคนใหม่ คนอเมริกันและกูรูทั่วโลกยังคงง่วนอยู่กับการค้นหาคำอธิบายปรากฎการณ์ช็อกโลกครั้งนี้กันอย่างขมักเขม้น

ทฤษฎีหนึ่งในบรรดาทฤษฎีจำนวนมากที่ลอยล่องอยู่ในโลกออนไลน์ คือ การชี้นิ้วไปยังโซเชียลมีเดียที่เราๆ ท่านๆ เสพติดกันงอมแงม (ซึ่งก็เป็นสื่อชนิดที่ชาวอเมริกันรุ่น ‘มิลเลนเนียล’ เสพสูงสุด ดังที่ผู้เขียนยกตัวอย่างในตอนที่แล้ว) ว่าเป็นตัวการสำคัญ เพราะมันไม่ได้ทำตามสัญญาที่เคยประกาศกร้าวไว้ว่า จะเป็นเครื่องมือที่เชื่อมโลกทั้งใบและเปิดโอกาสให้เสียงทุกเสียงได้ส่งออกมาอย่างเท่าเทียมกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นว่า โซเชียลมีเดียเหล่านี้มีส่วนทำให้ประชาชนแตกแยกเชิงอุดมการณ์กันมากกว่าเดิม (คือเพียงแต่เชื่อว่าใครเป็น “ฝั่งตรงข้าม” ก็จะปิดหูปิดตาไม่อยากฟังไม่อยากอ่านว่าเขาพูดอะไร) “ข่าวปลอม” และ “ข่าวลวง” ทั้งหลายกระจายเกลื่อนและทำให้คนจำนวนมากได้ข้อมูลผิดๆ และคนจำนวนมากตกเป็นเหยื่อของการ “ล่าแม่มด” และข่มขู่คุกคามนานัปการ

ปัญหาทั้งหมดนี้ทำให้ง่ายที่จะด่าเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และโซเชียลมีเดียเจ้าดังอื่นๆ ว่า “ล้มเหลว” แต่บทความ “Facebook And Twitter Didn’t Fail Us This Election” บนเว็บ Buzzfeed (https://www.buzzfeed.com/charliewarzel/facebook-and-twitter-didnt-fail-us-this-election) ตีพิมพ์เดือนพฤศจิกายน 2559 จั่วหัวอย่างน่าคิดว่า อันที่จริงโซเชียลมีเดียเหล่านั้นอาจไม่ได้ “ล้มเหลว” เลยแม้แต่น้อย!

บทความชิ้นนี้เกริ่นนำแบบชวนให้มองอีกมุมว่า ตลอดสิบห้าเดือนก่อนวันเลือกตั้ง เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และโซเชียลมีเดียอื่นๆ ทำงานตรงตามที่มันถูกออกแบบมาให้ทำ นั่นคือ กระจายข้อมูลอย่างรวดเร็ว ทำให้คนมองเห็น ‘ชีพจร’ ของทั้งประเทศ สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของประชาชน และมีส่วนผลักดันขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยการทำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงบางกลุ่มที่ไม่เคยมีใครได้ยิน ได้ส่งเสียงของพวกเขาออกมาดังๆ ซึ่งนั่นก็ตรงกับสิ่งที่บริษัทผู้ผลิตแพล็ตฟอร์มเหล่านี้อยากเห็น – เพียงแต่เป็นกลุ่มคนที่นักเทคโนโลยี ผู้สังเกตการณ์ และนักวิชาการจำนวนมากไม่ชอบความคิดทางการเมืองเท่านั้นเอง!

เพียงสองวันเท่านั้นหลังจากที่สหรัฐอเมริกาได้ประธานาธิบดีคนใหม่ เลสลี ไมลีย์ (Leslie Miley) อดีตผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมของทวิตเตอร์ ก็ให้ความเห็นว่า ผลกระทบของทวิตเตอร์กับเฟซบุ๊ก นั่นคือ ความสามารถในการกระจายข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็วโดยไม่มีทางที่ใครจะประมวลผลก่อน ...ส่งผลให้ [ข้อมูลบางอย่าง] ที่ถูกแพร่กระจายออกไปไม่ถูกต้อง และคุณก็ไม่มีเวลาที่จะมีปฏิกิริยาอื่นใดกับมัน นอกจากใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง”

ด้าน วิเวียน ชิลเลอร์ (Vivian Schiller) อดีตซีอีโอของเอ็นพีอาร์ (NPR – National Public Radio) สถานีวิทยุสาธารณะของอเมริกา ผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายข่าวของทวิตเตอร์ มองว่าทวิตเตอร์ไม่ใช่ “ฟองสบู่ตัวกรอง” (filter bubble หมายถึงปรากฎการณ์ที่ซอฟต์แวร์ของโซเชียลมีเดียบางค่ายพยายามเดาว่าผู้ใช้อยากเห็นอะไร คอยป้อนแต่เนื้อหาที่สอดคล้องกับพฤติกรรมในอดีตของผู้ใช้ เช่น เคยคลิกไลก์อะไร เคยอ่านอะไร จนสุดท้ายผู้ใช้จะไม่เห็นเนื้อหาใดๆ ที่เห็นต่างจากตัวเอง) เท่ากับเป็นแพล็ตฟอร์มที่ “เปลี่ยนอุดมการณ์เป็นอาวุธ”

“[การทำงานของทวิตเตอร์]ทำให้เกิดผลข้างเคียงแย่ๆ หลายอย่าง เช่น การ ‘เกรียน’ หรือหาเรื่องกัน และการข่มขู่คุกคามกัน แต่แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะปฏิเสธว่าไม่รู้เรื่อง ไม่เคยเห็นความเห็นต่าง ทวิตเตอร์ไม่ใช่พื้นที่ซึ่งจะปลอดจากความคิดที่ทำให้คุณไม่สบายใจแน่ๆ”

พูดอีกอย่างคือ ความ ‘ดิบ’ ซึ่งบางครั้งปรากฏให้เราเห็นในรูปของการด่าทอหรือความใจแคบแบบที่เลวร้ายที่สุดของมนุษย์นั้น ถูกฝังอยู่ในโค้ดของทวิตเตอร์กันเลยทีเดียว

บทความ Buzzfeed เสนอต่อไปว่า ทวิตเตอร์ไม่ได้ถูกออกแบบมาอย่างตั้งใจจะให้กระจายความเกลียดชัง การเหยียดเพศ ความเกลียดกลัวคนต่างด้าว หรือการล่าแม่มด แต่ทวิตเตอร์เหมือนกันกับเรดดิด (Reddit) ตรงที่มันถือกำเนิดด้วยจุดยืนแบบ “เสรีภาพการแสดงออกเต็มแม็กซ์” (maximalist free speech) แบบอุดมคติ ไร้ซึ่งนิยามที่ชัดเจนหรือแนวทางที่จะกำหนดวิวัฒนาการ อดีตพนักงานของทวิตเตอร์คนหนึ่งบอกกับนักข่าว Buzzfeed ว่า ผู้บริหารทวิตเตอร์ซึ่งล้วนแต่เป็นคนผิวขาวฐานะดีไม่เข้าใจและมองไม่เห็นว่าใครจะใช้แพล็ตฟอร์มของพวกเขาไปในทางที่เลวร้ายได้อย่างไร และ “มักจะไม่สนใจความกังวลของผู้ใช้ในโลกที่พวกเขาไม่รู้จัก นั่นคือ ผู้หญิงและคนผิวสี”

อีธาน ซุคเกอร์แมน (Ethan Zuckerman) ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อพลเมือง ห้องแล็บสื่อ ณ มหาวิทยาลัยเอ็มไอที (MIT) นักเทคโนโลยีที่ผู้เขียนชื่นชอบที่สุดคนหนึ่ง มองว่าการที่โซเชียลมีเดียเหล่านี้ขยายขนาดอย่างรวดเร็วอาจเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เขาบอกว่า แพล็ตฟอร์มเหล่านี้ถูกออกแบบมาให้เป็น ‘หมู่บ้าน’ แต่ต่อมาได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็น ‘เมือง’ และ ‘ทวีป’ ในที่สุด โดยที่ทีมนักออกแบบไม่เคยวางแผนระยะยาวใดๆ ที่จะรับมือกับการใช้ระดับนี้เลย

ซุคเกอร์แมนยกตัวอย่างที่คนจำนวนมากต่อต้านกระแส “ข่าวปลอม” บนเฟซบุ๊ก และประณามเฟซบุ๊กที่ซ้ำเติมปัญหา ฟองสบู่ตัวกรอง หรือ filter bubble เพราะใช้โค้ดคอมพิวเตอร์ประมวลผลเนื้อหาที่ถูกกดไลก์และกดแชร์ ในการเลือกข่าวที่จะส่งขึ้นฟีด (feed) ของผู้ใช้ ซึ่งหลายข่าวเป็นข่าวปลอมและส่วนใหญ่เป็นข่าวที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับความคิดทางการเมืองของผู้ใช้อยู่แล้ว เขาบอกว่า “ผมไม่คิดว่าใครสักคนในเฟซบุ๊กนั่งลงแล้วบอกว่า ‘เอาล่ะ เรามาสร้างเครื่องโฆษณาชวนเชื่อเพื่อลดความชอบธรรมของสื่อกระแสหลักกันดีกว่า!’ หรอกครับ”

ซุคเกอร์แมนเสนอว่า โซเชียลมีเดียทั้งหลายควรศึกษาตัวเองให้มากกว่านี้ ต้องถามตัวเองว่า “เราอยากให้เทคโนโลยีของเราสร้างสถานการณ์แบบนี้หรือ?” และ “เราอยากเป็นอะไรกันแน่?”

ก่อให้เกิดคำถามว่า ทุกวันนี้เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และโซเชียลมีเดียอื่นๆ กำลังทำอะไร มีแนวทางจัดการกับ ข่าวปลอมทั้งหลายหรือไม่?

โปรดติดตามตอนต่อไป