คิดมาพูด ... คิดไปทำ

คิดมาพูด ... คิดไปทำ

กำหนดบทบาทและเป้าหมายการทำงานให้แก่ผู้ร่วมงานอย่างชัดเจนรวมทั้งกำกับดูแลการทำงานของผู้ร่วมงานอย่างใกล้ชิด

ขณะนี้ผู้คนทั่วโลกกำลังให้ความสนใจกับคำถามที่ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกามีความตั้งใจที่จะนำนโยบาย Make America Great Again ที่หาเสียงไว้ไปทำให้เกิดเป็นจริงขึ้นหรือไม่ และแม้จะตั้งใจทำจริงจะทำสำเร็จหรือไม่ เพราะนโยบายหลายเรื่องดูเป็นเรื่องเกินจริง และอาจมีผลกระทบในทางลบกับประเทศอื่นๆ อย่างที่ไม่สามารถคาดหมายได้ เช่น นโยบายการแก้ไขปัญหาผู้อพยพโดยการทุ่มเงิน 13,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ สร้างกำแพงล้อมชายแดนระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศเม็กซิโก นโยบายการตั้งกำแพงภาษีทางการค้ากับประเทศจีนเพื่อบีบให้เปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ทางการค้า นโยบายการขึ้นภาษีกับบริษัทสัญชาติอเมริกันที่มีการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตไปอยู่ต่างประเทศ เป็นต้น

ในทางการเมืองนั้น การคิดนโยบายที่ทำไม่ได้หรือไม่คิดจะทำมาพูดเพียงเพื่อหาเสียงนั้นมีตัวอย่างให้เห็นมากมาย แต่ในการทำธุรกิจนั้น ผู้นำต้องคิดเพื่อไปทำเพราะการที่ผู้นำไม่คิดจะนำสิ่งที่วางแผนไว้ไปทำให้เกิดขึ้นหรือไม่มีความสามารถที่จะทำตามแผนได้ ถือเป็นข้อด้อยที่มักจะทำให้องค์กรเสียหายอย่างร้ายแรง ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นกันเป็นจำนวนมากทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ

ดังนั้น ผู้นำในองค์กรธุรกิจไม่ว่าจะเป็นประเภทนักคิด นักพูด นักทำ อ่อนน้อม แข็งกร้าว หรือประเภทอื่นใด สุดท้ายก็จะต้องวัดผลงานกันที่ผลลัพธ์ว่าสามารถนำองค์กรให้ขับเคลื่อนไปตามกลยุทธ์ที่วางไว้ได้หรือไม่ ซึ่งถือเป็นงานที่ยากและท้าทายกว่าการที่เพียงแต่คิดกลยุทธ์ขึ้นมามาก เพราะกลยุทธ์นั้นเป็นเรื่องการกำหนดความคิดลงในกระดาษโดยผู้นำเองหรือทีมงานไม่กี่คน ซึ่งใช้ระยะเวลาไม่นานนักก็ทำขึ้นมาได้ แต่การทำให้สำเร็จตามกลยุทธ์ (Execution) นั้น ส่วนใหญ่จะต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจและทุ่มเทของบุคคลากรในองค์กรจำนวนมาก ซึ่งความสำเร็จจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากผู้นำไม่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการคัดสรรและกำหนดบทบาทของผู้ร่วมงานแต่ละคนแต่ละกลุ่ม กำหนดเป้าหมายรวมทั้งให้คำแนะนำแก้ผู้ร่วมงาน และกำกับดูแลการทำงานของผู้ร่วมงาน

ในงานเทคโอเวอร์ บริษัท บิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งผมทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายให้แก่บริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) (BJC) ซึ่งเป็นผู้เข้าซื้อกิจการเมื่อต้นปีมานี้ ผมได้มีโอกาสทำงานร่วมกับผู้บริหารของ BJC หลายท่าน ซึ่งล้วนแต่มากความสามารถ และทำงานอย่างทุ่มเทจนทำให้การเทคโอเวอร์ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

ความยากของดีลนี้เริ่มตั้งแต่การวางกลยุทธ์ การกำหนดราคาที่เหมาะสม และการเจรจาให้แต่ละฝ่ายได้ในสิ่งที่ต้องการ ซึ่งเมื่อสามารถทำความตกลงกับผู้ขายคือ “คาสิโน” ของฝรั่งเศสและพันธมิตรซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่จะขายหุ้นได้แล้ว งานยากถัดมาคือการระดมเงินกู้เพื่อนำมาใช้ในการปิดดีล ทั้งในส่วนของเงินค่าหุ้นที่จะต้องจ่ายให้แก่กลุ่มของคาสิโนประมาณ 1.2 แสนล้านบาท และเงินที่จะต้องนำไปซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายย่อยในการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์อีกประมาณ 8 หมื่นล้านบาท

คุณสิทธิชัย ชัยเกรียงไกร กรรมการบริหารของ BJC เป็นผู้นำในการระดมเงินกู้ครั้งนี้ โดยมีระยะเวลาที่จะต้องทำให้สำเร็จเพียงประมาณ 1 เดือนเศษเท่านั้น ซึ่งเป็นงานยากชนิดมหาหิน เพราะเป็นเรื่องที่มีกระบวนการและรายละเอียดที่จะต้องกำหนดกันไว้ให้ชัดเจนเยอะมาก รวมทั้งต้องติดต่อประสานงานกับสถาบันการเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศที่จะร่วมในการให้กู้เงินครั้งนี้จำนวนมาก ซึ่งย่อมจะมีความประสงค์และผลประโยชน์ที่แตกต่างกันบ้างในหลายประเด็น

ในที่สุด คุณสิทธิชัยก็สามารถนำทีมงานทำงานแสนยากนี้ได้สำเร็จภายในเวลาที่กำหนด โดยสามารถจัดเงินกู้ให้แก่ BJC เป็นสกุลเงินยูโรเทียบเท่ากับจำนวนประมาณ 1.2 แสนล้านบาทจากสถาบันการเงินต่างประเทศที่ร่วมกันให้กู้ถึง 7 แห่ง และเป็นสกุลเงินบาทอีกจำนวนประมาณ 8 หมื่นล้านบาทจากสถาบันการเงินในประเทศไทยที่ร่วมกันให้กู้อีกหลายแห่ง

ผมสังเกตว่าคุณสิทธิชัยเป็นผู้ที่กำหนดบทบาทและเป้าหมายในการทำงานให้แก่ผู้ร่วมงานอย่างชัดเจนรวมทั้งกำกับดูแลการทำงานของผู้ร่วมงานอย่างใกล้ชิด และเมื่อเกิดข้อผิดพลาดขึ้นก็ลงไปช่วยแก้ปัญหาให้อย่างรวดเร็ว ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้งานที่แสนยากนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ผมจึงไม่มีข้อกังขาใดๆ เลยเมื่อทราบว่าคุณสิทธิชัยในอีกบทบาทหนึ่งคือ CFO ของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) นั้นเคยได้รับการยกย่องให้เป็น Best CFO ของประเทศไทยจากการคัดเลือกของสถาบันชั้นนำของต่างประเทศมาแล้วหลายครั้ง

ก็คงเป็นอย่างที่ Larry Bossidy (อดีต Chairman ของ Honeywell International) และ Ram Charan ร่วมกันเขียนไว้ในหนังสือ “Execution: The Discipline of Getting Things Done” ว่า “Leadership without the discipline of execution is incomplete and ineffective.”