การลงทุนปีระกา กับนโยบายที่เปลี่ยนแปลง

การลงทุนปีระกา กับนโยบายที่เปลี่ยนแปลง

ท่ามกลางความผันเปลี่ยนที่เกิดขึ้น ทำให้ต้องพิจารณาอย่างระมัดระวังมากขึ้นในเรื่องการลงทุน

เรากำลังจะผ่านพ้นปี 2559 ซึ่งถือว่าอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงนโยบายหลายประการที่จะเกิดขึ้นในปี 2560 ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านเศรษฐกิจการเงิน การค้าระหว่างประเทศ และการเมือง ท่ามกลางความผันเปลี่ยนที่เกิดขึ้น ทำให้เราต้องพิจารณาอย่างระมัดระวังมากขึ้นในเรื่องการลงทุนนับจากสินทรัพย์เสี่ยงอย่าง กองทุนสินค้าโภคภัณฑ์ ตลาดหุ้น รวมถึงการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนประจำ อย่างเช่น ตราสารหนี้ กองทุนอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน

ปัจจัยสำคัญกำลังเปลี่ยนแปลง

1.นโยบายด้านการคลังของรัฐบาลสหรัฐ การกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะอัตราจ้างงานใกล้เข้าสู่ระดับสมดุลจะเริ่มสร้างแรงผลักดันส่งต่อไปสู่อัตราความต้องการแรงงานเพิ่มเติม ขณะที่นโยบายของรัฐที่จะลดการจ้างงานของคนต่างชาติ จะทำให้อัตราค่าแรงในสหรัฐปรับตัวขึ้นเร็ว และ ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่มเร็วกว่านักวิเคราะห์คาดไว้เดิม

2.การหยุดเครื่องยนต์ของนโยบายอัดฉีดสภาพคล่องทางการเงินของยุโรปในปลายไตรมาส 1/2560 ทำให้ตลาดการเงิน และตลาดทุนต้องปรับพอร์ต เครื่องพิมพ์ธนบัตรของธนาคารกลางสหรัฐหยุดไปแล้ว คราวนี้จะถึงกำหนดเวลาที่ธนาคารกลางยุโรปจะเริ่มปิดวาล์วการพิมพ์ธนบัตรเป็นเครื่องที่สอง

3.การกลับมาของกลไกเก็งกำไรในตลาดล่วงหน้าสินค้าโภคภัณฑ์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ โดนัล ทรัมพ์ ต้องการให้มีการแก้กฎหมายสำคัญที่จำกัดการดำเนินธุรกรรมของธนาคารพาณิชย์ในช่วงหลังเหตุการณ์วิกฤตการเงิน เลย์แมน ล้มสลาย การผ่อนคลายกฎระเบียบให้สถาบันการเงิน บริษัทประกันสามารถประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ ตราสารหนี้ค้ำประกัน ตราสารเกี่ยวข้องสินเชื่อบ้าน และการลงทุนกับกองทุนเฮดฟันด์ได้มากขึ้น

4.การเลือกตั้งในหลายประเทศสมาชิกของอียู ซึ่งอาจส่งผลต่อการให้ประชาชนได้มีโอกาสโหวตเพื่ออยู่เป็นสมาชิกอียู หรือเดินออกจากการเป็นประเทศสมาชิกอียูเฉกเช่นเดียวกับประชากรของเครือจักรภพอังกฤษ

5.สังคมเข้าสู่การพัฒนาไปสู่เทคโนโลยี เจนเนเรชั่นยุคใหม่ ซึ่งตัดธุรกิจคนกลาง ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) และ กระทบต่อการจ้างงานของธุรกิจบางประเภท ระบบการประมวลผล Artificial Intelligence (AI) จะนำมาถูกใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น

แน่นอน ตลาดหุ้นทั่วโลกจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในหลายสิ่งหลายอย่างทั่วโลก ขณะที่ประเทศไทยจะต้องดำเนินนโยบายที่ยืดหยุ่น และเอื้อต่อการปรับตัวได้เร็วกับสถานะการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป การลงทุนในตราสารหนี้และตลาดหุ้นจะผันผวนอีกครั้งสะท้อนกับการปรับเปลี่ยนของนโยบายประเทศขนาดใหญ่ อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น นักวิเคราะห์คาดอัตราผลตอบแทนตลาดหุ้นไทยราว 15% แต่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะมีทิศทางที่ดีขึ้นน่าจะมากกว่าการลงทุนในตลาดหุ้น