เล่นกับเงิน

 เล่นกับเงิน

เงินที่ได้มาจากการคอร์รัปชัน เงินในตลาดมืด เงินที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย รวมทั้งเงินปลอมหรือธนบัตรปลอม

ล้วนเป็นเงินที่ไม่พึงปรารถนาและรัฐบาลของทุกประเทศ ต้องการกำจัดให้หมดสิ้นไป 

ธุรกรรมผิดกฎหมายที่กล่าวถึงข้างต้น ย่อมชำระกันด้วยเงินสด หรือ “​ธนบัตร” ที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายนั่นแหละ ถ้าถามว่าเขาชำระกันด้วยธนบัตรชนิดใด ก็คงต้องคาดว่า น่าจะเป็นธนบัตรฉบับที่มีมูลค่าสูงสุด เพราะนับง่าย และใช้พื้นที่ในการเก็บ น้อยที่สุด 

เจ้า “ถุงขนมลึกลับ” บรรจุเงินสด 2 ล้านบาท ซึ่งมีบุคคลลึกลับ (ทำทีว่า) “ลืม” ทิ้งไว้บนศาลเมื่อหลายปีก่อน ในระหว่างที่มีคดีดัง หรือ เงินสด นับสิบล้าน ร้อยล้าน ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจค้นได้จากบ้านผู้ถูกกล่าวหาในเรื่องการคอร์รัปชัน ก็น่าจะเป็นธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท เพราะคงไม่มีใครที่ชำระค่าธุรกรรมผิดกฎหมาย ด้วยธนบัตรชนิด 100 บาท หรือ 500 บาท ให้นับยากและเปลืองพื้นที่เปล่าๆ

รัฐบาลอินเดียก็เลยปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่า ต้องใช้วิธี “หนามยอก เอาหนามบ่ง” คือ “เอาเงินไปบ่งเงิน” ดังนั้นเมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลจึงประกาศ “ดัดหลัง” ผู้ร้าย ด้วยการออกประกาศ ให้ธนบัตรที่มีมูลค่าสูงสุดของอินเดียสองชนิด คือชนิด 500 รูปี (250 บาท) และชนิด 1,000 รูปี (500 บาท) เป็นธนบัตรที่ไม่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย อีกต่อไป

พูดง่ายๆ ว่าธนบัตรทั้งสองชนิด หมดค่าทันที แต่รัฐบาลก็ตระหนักว่าไม่ใช่เฉพาะคนร้ายเท่านั้นที่มีธนบัตรสองชนิดนี้ คนดี ที่เขาทำมาหากินตามปกติ ก็ย่อมมีธนบัตรชนิด 500 รูปี และ 1,000 รูปีเช่นกัน รัฐบาลก็เลยประกาศให้ผู้ครอบครอง สามารถนำธนบัตรทั้งสองชนิดไปแลกเป็นธนบัตรชนิดอื่นได้ ที่ธนาคารพาณิชย์ และที่ทำการไปรษณีย์ ภายในสิ้นปี 2559 นี้ คือเหลือเวลาอีก 1 เดือน

ความคาดหวังก็คือ คนร้ายที่ได้เงินมาจากคอร์รัปชัน หรือธุรกรรมผิดกฎหมาย ก็ต้องนำธนบัตรออกมาแลกด้วย เพราะไม่เช่นนั้นเงินที่อุตส่าห์ “โกงมา” หรือมาจากการทำผิดกฎหมาย ก็จะกลายเป็นกระดาษไร้ค่าในเวลาอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เจ้าหน้าที่ก็จะได้เล็งตัวและเปิดหน้าไอ้โม่งทั้งหลายเสียที เพราะพวกนี้คงมีธนบัตรนำออกมามาแลกจำนวนมาก..... ช่างเป็นไอเดียที่สุดประเสริฐอะไรเช่นนั้น ใช่ไหมครับ

แต่พอประกาศใช้ แทนที่จะได้ “คนร้าย” กลับได้ “คนตาย” เพราะเมื่อเวลาผ่านไปเพียง 20 กว่าวัน มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 70 คน ส่วนใหญ่เกิดจากอาการหัวใจล้มเหลว อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการฆาตกรรมและการฆ่าตัวตาย ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับมาตรการยกเลิกธนบัตร ดังกล่าว

คุณผู้อ่านคงจะงุนงง ว่าเกิดความสูญเสียเช่นนี้ได้อย่างไร ก็อยากจะบอกว่าธุรกรรมทางเศรษฐกิจของอินเดียนั้นใช้ “เงินสด” กัน มากกว่า 90% บางแหล่งบอกว่ามากถึง 97% แต่ที่แน่ๆ ก็คือมาตรการของรัฐบาลทำให้ธนบัตรทั้งสองราคานี้ หลุดออกไปจากวงจรการชำระเงินในวันรุ่งขึ้นทันที เพราะไม่มีใครยอมรับการชำระค่าสินค้าหรือบริการ ด้วยธนบัตรฉบับละ 500 รูปี และ 1,000 รูปี อีกต่อไป

คนที่มีธนบัตรทั้งสองชนิด ซึ่งรัฐบาลให้เวลาไปแลกเป็นชนิดอื่นได้จนถึงสิ้นปี จึงแห่กันไปที่ธนาคารพาณิชย์ ทำให้ธนาคารมีคิวของประชาชนยาวเฟื้อย ต้องอยู่ในแถวยาวนาน 3-4 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น แต่ละวันประชาชนผู้หาเงินมาอย่างบริสุทธิ์ กลับต้องออกจากบ้าน นำเงินไปเข้าคิวกลางแดด รอจนเป็นลม บางคนล้มหมอนนอนเสื่อ หัวใจวาย เสียชีวิตตามข่าว
บางคนเกิดความเครียด เพราะไม่มีเงินสดจับจ่ายใช้สอย ไปไหนก็ไม่ได้ ซื้ออะไรก็ไม่ได้ เพราะธนบัตรที่ทำมาหากินได้มา อยู่ดีๆ ก็นำไปใช้จ่ายไม่ได้เสียแล้ว บางคนเครียดจนฆ่าตัวตาย ธุรกรรมทางเศรษฐกิจสะดุด คนขับรถแท็กซี่บอกว่ารายได้เหลือเพียงครึ่งเดียว แถมช่วงนี้เป็นฤดูการแต่งงาน กระทบคู่แต่งงานจำนวนมาก เพราะต้องใช้เงินสดในการจองโรงแรมและจัดเลี้ยงต่างๆ ฯลฯ พูดง่ายๆ ว่าเดือดร้อนกันทั่วหน้าและสาหัส สากรรจ์ เกินกว่าที่รัฐบาลจะคาดคิดไว้

คนที่มีฐานะดี ก็เดือดร้อนน้อยกว่า ที่สำคัญคือ ผมยังไม่เห็นมีข่าวว่าสามารถจับคนร้ายที่คอร์รัปชันหรือทำธุรกรรมนอกกฎหมายได้ ด้วยเหตุว่าคนร้ายไปยืนแลกเงินที่ธนาคารแต่อย่างใดเลย กลับเห็นแต่ข่าวประชาชนธรรมดาๆ เดือดร้อนอย่างยิ่งยวด และข่าวธุรกิจเกิดใหม่ คือธุรกิจรับจ้างเข้าคิว เป็นต้น

รัฐบาลเห็นปัญหา ก็บอกให้ประชาชนหันไปใช้อินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง แต่นั่นก็ไม่ใช่ทางออก เพราะประชาชนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ มีจำนวนจำกัด และอย่าว่าแต่อินเทอร์เน็ตแบงกิ้งเลย แม้กระทั่ง “แบงกิ้งธรรมดาๆ” คนอินเดียจำนวนกว่าครึ่งของประเทศ ก็ยังไม่เคยมีบัญชีกับธนาคาร ด้วยซ้ำ

ขณะนี้ปัญหาต่างๆ ยังไม่ลดความรุนแรงลง ประชาชนมากมายออกมาประท้วงเพิ่มมากขึ้น ฝ่ายค้านระบุว่าเป็นความผิดพลาดร้ายแรง แต่รัฐบาลก็ยังยื้อด้วยคำอธิบายและวิธีการต่างๆ ซึ่งเราคงต้องติดตาม ว่ารัฐบาลอินเดียจะยื้ออยู่ต่อจนถึงสิ้นปีนี้ ได้หรือไม่

เล่นกับเงิน ไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับ