คนคุณธรรม สร้างยากแต่ต้องทำ (1)

คนคุณธรรม สร้างยากแต่ต้องทำ (1)

วันที่ 21 ก.พ.2500 ธนาคารไทยพาณิชย์จัดพิธีฉลองครบรอบ 50 ปี ณ สวนอัมพร

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในพิธี ทรงมีพระราชดำรัสกับผู้บริหารและพนักงานไทยพาณิชย์ โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า

กิจการในด้านการเงินที่จะเจริญรุ่งเรืองไปได้ ก็ย่อมต้องอาศัยความซื่อสัตย์ในทางปฏิบัติหน้าที่ต่อผู้ที่มาติดต่อกับธนาคาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ได้ทำตนให้ประจักษ์แจ้งในข้อนี้ จึงได้รับความชมเชยจากผู้มาติดต่อ ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็น ข้าราชการ พ่อค้า คหบดี ทุกประเทศย่อมต้องการสถาบันการเงินที่มั่นคง ที่ดำเนินงานเพื่อประโยชน์ของประเทศและเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมกับรักษาประโยชน์ของตนให้ได้ดี 

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้และเป็นสิริมงคลยิ่งต่อธนาคารฯที่ได้น้อมนำเอามาพระราชดำรัสมาเป็นหลักในการปฏิบัติหน้าที่

ความซื่อสัตย์ มีความหมายว่า ประพฤติตรง จริงใจ ไม่คิดทรยศ ไม่คดโกง ไม่หลอกลวง คุณธรรมนี้สำคัญมากไม่เฉพาะต่อธนาคารเท่านั้นแต่ยังสำคัญต่อสถาบันการเงินและองค์กรอื่นทุกองค์กร วัฒนธรรมตะวันตกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้านในสังคมไทย จากที่เคยเป็นสังคมยกย่องความดี มีน้ำใจต่อกัน มุ่งประโยชน์ส่วนรวม กลายเป็นสังคมยกย่องอำนาจ นับถือความรวย ลุ่มหลงวัตถุ บริโภคนิยม เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน จึงเกิดภาวะวิกฤติคุณธรรมขึ้น เมื่อสิ่งล่อใจมีอยู่ทั่วแต่ภูมิคุ้มกันความชั่วในตัวต่ำ ความโลภเข้ามาครอบงำ หลายคนจึงถลำไปกระทำ “การทุจริต ซึ่งนำความเสียหายอย่างใหญ่หลวงมาสู่ตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันแก้ไข 

การสร้างคนในสังคมให้มีคุณธรรมเป็นการฝืนกระแสเหล่านี้ถึงจะเป็นเรื่องยากแต่ก็เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง แม้จะยากเพียงใดก็ยังมีองค์กรภาครัฐ 2 องค์กรที่ประสบความสำเร็จในการสร้างคนให้มีคุณธรรมจนกลายมาเป็นต้นแบบ โรงเรียนคุณธรรม และ โรงพยาบาลคุณธรรม ให้เราศึกษาหาแนวทางไปปรับใช้กับองค์กรของเราได้ องค์กร 2 แห่งที่ผมพูดถึงก็คือ โรงเรียนบางมูลนากภูมิพิทยาคม และ โรงพยาบาลชลบุรี นั่นเองครับ

โครงการต้นแบบโรงเรียนคุณธรรม เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2553 จากการร่วมมือระหว่างศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และ โรงเรียนบางมูลนากภูมิพิทยาคม โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ในจังหวัดพิจิตร ก่อนเริ่มโครงการโรงเรียนนี้ประสบปัญหา นักเรียนขาดระเบียบวินัย ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่รักษาสาธารณสมบัติ ลอกการบ้าน ทุจริตในการสอบ พูดจาไม่สุภาพ ทะเลาะวิวาท ใช้จ่ายฟุมเฟือย สูบบุหรี่ ติดเกม และมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร นับว่าเป็นความท้าทายอย่างมากในการแก้ปัญหาเหล่านี้

การดำเนินโครงการนี้เป็น การทำงานแบบสมัครใจและเต็มใจ และใช้กระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็น คณะผู้บริหาร ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน โดยประสานความร่วมมือนับตั้งแต่ การทำความเข้าใจและเตรียมความพร้อมให้คณะผู้บริหารและครู การกำหนดยุทธศาสตร์ที่มุ่งพัฒนาแบบองค์รวมคือพัฒนาทั้ง ครู นักเรียน และ สภาพแวดล้อม ไปพร้อมๆกัน การระดมสมองโดยนักเรียนมีส่วนร่วมในการกำหนดบัญชีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ (Do)และไม่พึงประสงค์ (Don’t) เพื่อค้นหาคุณธรรมเป้าหมายที่จะนำมากำหนดเป็น คุณธรรมหลัก 3 ประการ หรือ คุณธรรมอัตลักษณ์ ของคนในองค์กรที่ทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน คือ “1) ความซื่อสัตย์ 2) ความรับผิดชอบ 3) ความพอเพียง 

คุณธรรมหลัก 3 ประการนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่ชื่อคุณธรรมที่นำไปติดไว้ที่ป้ายโรงเรียนแต่ได้ถูกแปลงเป็นพฤติกรรมที่นำไปปฏิบัติได้ 

สำหรับครู : ความซื่อสัตย์ คือ ไม่เบียดบังเวลาราชการ ไม่แสวงหาผลประโยชน์ มีสัจจะไม่โกหก ไม่สร้างความแตกแยก ความรับผิดชอบ คือ ตรงต่อเวลา รับผิดชอบต่อหน้าที่ แต่งกายถูกระเบียบราชการ ยิ้มไหว้ทักทาย ความพอเพียง คือ ประหยัดทรัพยากรของโรงเรียน เสียสละและแบ่งปัน

สำหรับนักเรียน : ความซื่อสัตย์ คือ ไม่ลักขโมย ไม่เล่นการพนัน ไม่ทะเลาะวิวาท ไม่มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ไม่ใช้ยาเสพติด ไม่พูดคำหยาบ ความรับผิดชอบ คือ แต่งกายถูกระเบียบ เดินเป็นแถว เอาใจใส่การเรียน มีสัมมาคารวะ เชื่อฟังครูและผู้ปกครอง มีจิตอาสา ความพอเพียง คือ ประหยัดอดออม รักษาสาธารณสมบัติ เสียสละ มีน้ำใจต่อผู้อื่น พฤติกรรมที่พึงประสงค์เหล่านี้ทั้งคณะผู้บริหาร ครู และนักเรียนต่างให้สัจจะวาจาว่าจะปฏิบัติและถือเป็น สัญญาประชาคม ที่ทุกฝ่ายให้ไว้ร่วมกัน

จากนั้นจึงขับเคลื่อนโครงการผ่านกิจกรรมให้ความรู้และสร้างคุณธรรมเช่น กิจกรรมปฐมนิเทศเด็กดีสร้างได้ ค่ายคุณธรรม การอบรมผู้นำเยาวชนจิตอาสา การศึกษาดูงานสร้างคุณธรรมของมูลนิธิพุทธฉือจี้ ประเทศไต้หวัน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี โครงงานคุณธรรม” ซึ่งมีมากถึงร้อยกว่าโครงงาน โครงงานเหล่านี้จะเริ่มทำจากห้องเรียนเดียวก่อน เช่น โครงงานลดละเลิกการลอกการบ้าน เมื่อทำสำเร็จแล้วห้องเรียนอื่นเห็นว่าดีก็จะนำไปปฏิบัติตามทำให้สิ่งดีๆค่อยๆ งอกงามขึ้นทั้งโรงเรียน 

โครงการต้นแบบนี้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องถึง 4 ปีเต็ม จึงประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ปัจจัยแห่งความสำเร็จ คือ ทุกคนช่วยกันกำหนดพฤติกรรมและตั้งใจทำกันทั้งโรงเรียน มีการติดตามและประเมินผลอยู่เสมอ โดยผลสำเร็จวัดได้จากการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นทั้งครู นักเรียน และสภาพแวดล้อม เสียงสะท้อนจากชุมชน การลดลงอย่างมากของปัญหาที่เล่าไว้ในตอนต้น จากความสำเร็จนี้ได้กลายมาเป็น บางมูลนากโมเดล ที่ใช้เป็นต้นแบบให้กับโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศ และโมเดลนี้ยังถูกนำมาใช้เป็นต้นแบบในการสร้าง โรงพยาบาลคุณธรรม ที่ผมจะนำมาเล่าในตอนต่อไป สวัสดีครับ