หนังสือ”ชีวิตของเซอร์วิลเลียม ออสเลอร์”

หนังสือ”ชีวิตของเซอร์วิลเลียม ออสเลอร์”

วิลเลียม ออสเลอร์ (ค.ศ. 1849-1919) มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในหมู่นักศึกษาแพทย์

และแพทย์รุ่นเก่า ในฐานะครูแพทย์ผู้เป็นแบบอย่างในยุคร้อยกว่าปีที่แล้ว มากกว่าที่จะเป็นชื่อที่รู้จักในหมู่คนทั่วไปในยุคปัจจุบัน แต่เขาเป็นนักอ่าน นักค้นคว้า นักพูด นักเขียน ผู้มีบทบาทและความคิดอ่านที่น่าสนใจในด้านสังคม ปรัชญา วรรณกรรม ฯลฯ เป็นคนที่ให้แรงบันดาลใจแก่ลูกศิษย์ลูกหาและคนที่รู้จักเขา หนังสือประวัติชีวิตแพทย์ชาวคานาดาผู้นี้ ค้นคว้าอย่างละเอียดและเขียนอย่างช่วยให้เราเห็นภาพชัดเจน โดยแพทย์รุ่นน้อง ผู้ทำงานใกล้ชิดกับเขา เป็นหนังสือที่ได้รับรางวัลพูสิตเซอร์ด้วย

ออสเลอร์เป็นลูกของนักบวชโปรแตสแตนท์ในเมืองเล็กๆ ในชนบทของแคนาดา เป็นเด็กหัวดี มีจินตนาการ ที่กลายเป็นเด็กเกเรชอบหนีไปเรียนรู้จากธรรมชาติ เพราะไม่ชอบระบบโรงเรียนที่หัวเก่า น่าเบื่อหน่าย โชคดีที่เขาชอบอ่านหนังสือ และต่อมาได้พบครูที่สนใจวิทยาศาสตร์ธรรมชาติที่สนใจการเรียนรู้นอกห้องเรียน ทำให้ออสเลอร์พัฒนาเป็นคนสนใจการเรียนรู้ รวมทั้งได้เลือกที่จะไป.เรียนต่อระดับสูงวิชาวิทยาศาสตร์และแพทย์ ทั้งที่เดิมสภาพแวดล้อมครอบครัวโน้มน้าวให้เขาเรียนเทววิทยา เพื่อจะได้ไปมีอาชีพนักบวช ออสเลอร์ผสมผสานทั้ง 2 เรื่องเข้าด้วยกัน เป็นแพทย์ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ นักค้นคว้าสูง ขณะเดียวกัน ก็มีแนวคิดอุดมคติในเชิงมนุษยธรรมสูง เขาได้พบครูแพทย์ที่เป็นแบบอย่างที่ให้แรงบันดาลใจกับเขาด้วย

การศึกษาในมหาวิทยาลัยในยุคร้อยปว่าปีที่แล้วยังสนใจการศึกษาแบบคลาสสิกที่รวมถึงเรื่องปรัชญา วรรณกรรม สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ทำให้ออสเลอร์ซึ่งเป็นนักอ่านอยู่แล้ว เป็นผู้ที่อ่านและรู้ทางวรรณกรรมคลาสสิกของกรีกยุคโบราณ แนวคิดอุดมคติของแพทย์กรีกยุคโบราณ ฮิปโปคราติสที่แพทย์รุ่นหลังยังใช้ท่องเป็นคำปฏิญาณอยู่นั้น ออสเลอร์ถือเป็นแนวทางในการทำงานตลอดชีวิตของเขา เขายังอ่านวรรณกรรมยุคทำให้โลกสว่าง เช่น วอลแตร์, เชลลี่ย์, จอห์น ล็อค, ....ฯลฯ ทำให้เขามีความคิดไปในทางเสรีประชาธิปไตย และรักความเป็นธรรม

ในยุคร้อยกว่าปีที่แล้ว การแพทย์และโรงพยาบาลในอเมริกาและยุโรปเองอยู่ในสภาพตั้งต้น ความรู้เรื่องสาเหตุการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ เช่น วัณโรค ไข้ทรพิษ มาเลเรีย ไทฟรอยด์ ปวดบวม ภาวะติดเชื้อ โรคบิด อหิวาตกโรค ไข้เหลือง ฯลฯ ยังมีน้อย ถือเป็นปัญหาใหญ่สำหรับการแพทย์และสาธารณสุขในยุคนั้น ออสเลอร์ทำงานทั้งเป็นอาจารย์แพทย์ในโรงพยาบาล เป็นนักวิจัย และเป็นแพทย์รักษาคนด้วย แม้แพทย์จะมีน้อย แต่แพทย์ก็ยังได้ผลตอบแทนค่อนข้างต่ำ โรงเรียนแพทย์ก็ไม่ค่อยมีงบประมาณ ยุคนั้นยุโรปและอเมริกาเหนือเองก็ยังพัฒนาเศรษฐกิจทินยมระยะแรกๆ

ออสเลอร์และแพทย์ในยุคของเขาคือนักบุกเบิกในการปฏิรูปโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาล และสาธารณสุข ที่สำคัญ ทั้งแคนาดา สหรัฐฯ และอังกฤษ ที่ออสเลอร์ได้ไปทำงานตามลำดับ เขาริเริ่มยืนยันให้นักศึกษาและอาจารย์แพทย์ต้องใช้ชีวิตอยู่ในหอในโรงพยาบาลและเรียนรู้ สังเกต พูดคุยและฟังคนไข้อย่างใกล้ชิด และมีส่วนพัฒนาคณะแพทย์จอห์น ฮอบกินส์ที่สหรัฐฯ.. พัฒนาห้องสมุดแพทย์ที่มหาวิทยาลัยออกฟอร์ด.อังกฤษ และที่อื่นๆ อีกมาก เขียนตำราแพทย์ที่ใช้กันทั่วโลกมาจนถึงปี 1947 จนราชสำนักอังกฤษแต่งตั้งให้เขาเป็นอัศวินระดับท่านเซอร์

สิ่งที่น่าสนใจในหนังสือเล่มนี้คือ นอกจากเราจะได้รู้จักชีวิตคนๆ หนึ่ง ซึ่งเป็นปัญญาชนที่มีวิวัฒนาการ มีอุดมคติและไฟจินตนาการ และเป็นคนที่มีชีวิตชีวา เช่นรักเด็ก ดูแลเอาใจใส่คนไข้ ลูกศิษย์ แพทย์รุ่นน้องขี้เล่น ชอบแกล้งล้อคนแบบมีอารมณ์ขัน ฯลฯแล้ว เรายังได้รู้เรื่องประวัติการแพทย์ การสาธารณสุขในโลกตะวันตก ประวัติศาสตร์ทางสังคมจนถึงยุคสงครามโลกครั้งที่๑ เรื่องทางการศึกษาหาความรู้ของคนตะวันตกในยุคนั้น ที่ให้ความสำคัญกับการอ่านหนังสือ การทำห้องสมุด ทำบรรณานิทัศน์หนังสือชุดต่างๆ การทำวารสารวิชาการ การประชุมวิชาการ และการปาฐกถาแบบตั้งใจเชิญคนพูดให้เตรียมตัวมาอย่างดีมีทั้งสำหรับในหมู่สมาชิก และสำหรับให้ความรู้คนทั่วไป

ออสเลอร์ได้เข้าประชุมและเสนอปาฐกถาในหลายแห่งหลายครั้งมาก ทั้งเรื่องการแพทย์ การสาธารณสุข ซึ่งเขามักโยงถึงเรื่องวิทยาศาสตร์และการหาความรู้แขนงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การบรรยายให้นักศึกษา บัณฑิตแพทย์และพยาบาล ที่ผู้เขียนได้ค้นคว้าและนำมาเสนออย่างน่าสนใจ งานปาฐกถาของออสเลอร์หลายชิ้นที่มีทั้งเนื้อหาสาระและภาษาที่ดี เพราะเขาเป็นนักอ่านนวรรณกรรมตัวยง ยังคงเป็นที่นิยมอ่านกันมาจนถึงปัจจุบัน

ออสเลอร์ยังได้รับอิทธิพลจากปรัชญาสโตอิกของกรีกโบราณ ที่เน้นการทำวันนี้ให้ดีที่สุด และมีจิตใจที่สงบนิ่งได้โดยไม่หวั่นไหวไปกับชะตากรรม ไม่ว่าดีหรือร้าย ในบั้นปลายชีวิตเขาต้องสูญเสียลูกชายเพียงคนเดียวในสงครามโลกครั้งที่ 1 แม้เขาจะหัวใจแตกสลาย แต่ก็ยังคงทำงานที่เขารักในเรื่องการทำบรรณานิทัศน์ หรือแคตตาล็อกหนังสือชุดวิทยาศาสตร์การแพทย์กว่า 7 พันเล่มต่อจนถึงวาระสุดท้าย

หนังสือเล่มนี้เขียนโดยหมอฮาร์วีย คุชชิง ลูกศิษย์และผู้ร่วมงานใกล้ชิด ค้นคว้าจากจดหมาย บันทึก ปาฐกถา ฯลฯ อย่างละเอียด แถมมีเชิงอรรถที่ยาวมากด้วย จนทำให้เป็นหนังสือเล่มที่หนาและมีรายละเอียดมากเกินไป แพทย์ พยาบาล นักสาธารณสุข ควรอ่านอย่างยิ่ง สำหรับคนทั่วไปที่สนใจเรื่องแพทย์และสาธารณสุขน้อย อาจอ่านแบบพลิกข้ามๆ ไปบ้างก็ยังจะพบเรื่องราวที่น่าสนใจของหมอออสเลอร์ รวมทั้งมีการอ้างอิงกวี นักเขียนสำคัญๆ ที่มีเนื้อหาสาระเชิงปรัชญาชีวิตและมีความสละสลวย คมคาย รวมทั้งวาทะของออสเลอร์เอง

แพทย์ที่ไม่ชอบอ่านหนังสือ อาจจะเล่นกอล์ฟหรือไพ่บริดจ์ได้ดี แต่ในทางวิชาชีพ เขาคือวิญญาณที่หลงทาง

หนังสือเล่มนี้แปลโดยวิภาดา กิตติโกวิท และพิมพ์โดยมูลนิธิหนังสือเพื่อสังคม (Facebook: มูลนิธิหนังสือเพื่อสังคม โทร/ไลน์: 094-203-7475)