'ช้อปช่วยชาติ' ถูกที่ ถูกทาง ถูกเวลา ?

'ช้อปช่วยชาติ' ถูกที่ ถูกทาง ถูกเวลา ?

หนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี

 ที่กระทรวงการคลังจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันนี้ คือ มาตรการช้อปช่วยชาติ โดยให้ประชาชนนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการ วงเงินสูงสุดไม่เกิน 3 หมื่นบาท มาหักลดหย่อนภาษี ได้ตลอดเดือนธ.ค. 2559 เพิ่มขึ้นจากปลายปี 2558 ที่มีมาตรการช้อปช่วยชาติเช่นกัน แต่กำหนดให้ประชาชนนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการ วงเงินไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท มาหักลดหย่อนภาษีได้ ในระยะเวลา 7 วัน (25-31 ธ.ค.2558)

เรียกว่า หากมาตรการนี้ผ่านครม.จะเป็นการเพิ่มวงเงินใช้จ่าย “เท่าตัว” และเพิ่มระยะเวลาของมาตรการกว่า “สี่เท่าตัว” เมื่อเทียบกับปี 2558

เรียกว่า ช้อปกันได้จุใจ แถมไม่ต้องรีบร้อน !  

ย้อนกลับไปในปีที่ผ่านมา มาตรการที่ว่านี้ นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก จนบรรดาห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ทั้งหลาย เรียกร้องให้ต่ออายุมาตรการนี้ออกไปอีก พร้อมแถลงข่าวใหญ่ว่า เป็นมาตรการที่ออกมา “ถูกที่ ถูกทาง ถูกเวลา” เสียนี่กระไร

ตามข้อมูลของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ระบุว่า มีผู้ได้ประโยชน์ราว 3.2 ล้านคน จากฐานผู้เสียภาษี 9.6 ล้านคน ส่งผลให้การใช้จ่ายช่วงปีใหม่เพิ่มขึ้นถึง 20% เป็นเงินประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ทำให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 2-3 เท่า หรือ ราว 1.25 แสนล้านบาท

มาคราวนี้ รัฐจะคาดหวัง ความสำเร็จเหมือนกันปีที่ผ่านมาได้หรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องคิดต่อภายใต้ภาวะเศรษฐกิจ 1 ปีผ่านมา ไม่ได้ดูดีขึ้นจากปี 2558 

นั่นคือ เงินในกระเป๋าผู้คนในภาพรวมไม่ได้เพิ่มขึ้น 

อย่างที่เข้าใจกันว่า อาจจะกระตุ้นการใช้จ่ายได้ใน “คนชั้นกลาง” ที่ยังพอมีกำลังซื้อแต่ที่ผ่านมาระมัดระวัง และไม่มีอารมณ์จับจ่าย

ถามต่อไปว่า ใครที่ได้ประโยชน์จากมาตรการนี้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย !

คำตอบคือ ร้านรวง ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้ารายกลางและใหญ่ ที่อยู่ในระบบภาษี ที่สามารถ“ออกใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ”ให้กับประชาชน เพื่อนำมาหักลดหย่อนภาษี 

ปีที่ผ่านมา มีเสียงบ่นจากหลายร้านค้าขนาดเล็ก “นอกระบบภาษี” ว่าไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ กลายเป็น “แรงกดดัน” ที่พวกเขาต้องเข้ามาอยู่ในระบบภาษี เพื่อรับการช่วยเหลือ การเหลียวแลจากรัฐ ซึ่งรัฐเองก็ต้องการให้เป็นเช่นนั้น

ยังได้แต่หวังว่า ผู้ที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง จะไม่โดดร่วมวงกับมาตรการนี้ ผ่านการรูด “บัตรเครดิต” หรือ “ก่อหนี้นอกระบบ” เพื่อหวังวงเงินหักลดหย่อนภาษีไม่กี่พันบาท ซึ่งสุดท้ายแล้วไม่เพียงจะไม่กระตุ้นเศรษฐกิจ ยังจะเป็นการสร้างปัญหาให้กับระบบเศรษฐกิจเพิ่ม ภายใต้ภาวะ“หนี้ครัวเรือน”ที่ยังอยู่ในระดับสูง เพราะยิ่งเพิ่มทั้งวงเงิน และช่วงเวลาช้อปนานขึ้นด้วยแล้ว 

จะยิ่ง ล่อใจผู้คนที่ไม่พร้อมจ่าย ให้ ตบะแตกเอาง่ายๆ