มาตรฐานข้าวไทยที่ปรับปรุงใหม่

มาตรฐานข้าวไทยที่ปรับปรุงใหม่

ข้าวไทยที่ส่งออก เป็นข้าวคุณภาพดีมีมาตรฐานตามที่ตกลงซื้อขายกันไว้ จึงเป็นที่นิยมของ

ผู้ซื้อในต่างประเทศ มาตรฐานข้าวที่ส่งออกและใช้อ้างอิงในการตกลงกันในการซื้อขายคือ มาตรฐานข้าวตามที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศกำหนด ซึ่งเป็นที่ทราบกันแพร่หลายในต่างประเทศ มาตรฐานข้าวไทยฉบับแรกคือ มาตรฐานข้าวตามประกาศกระทรวง เศรษฐการ เรื่องกำหนดมาตรฐานข้าว ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2500 และให้มีผลปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2500 เป็นต้นไป หลังจากที่มีการใช้มาตรฐานข้าวฉบับแรกมา 16 ปีเศษ จึงมีการแก้ไขปรับปรุง และได้ประกาศใช้มาตรฐานข้าวที่ปรับปรุงใหม่ ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดมาตรฐานข้าว ลงวันที่ 30 มกราคม 2517 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2517 เป็นต้นไป

หลังจากใช้มาตรฐานข้าวฉบับ พ.ศ.2517 มายี่สิบกว่าปี จึงมีการแก้ไขปรับปรุงมาตรฐานข้าวอีกครั้งหนึ่ง จนในปี พ.ศ.2540 จึงได้ประกาศใช้มาตรฐานข้าวที่มีการปรับปรุงใหม่ ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์. เรื่องมาตรฐานสินค้าข้าว พ.ศ.2540 และเนื่องจากยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานข้าวหอมไว้เป็นการเฉพาะ การส่งออกข้าวหอมที่ผ่านมาจึงอิงตามมาตรฐานข้าวขาวเป็นเกณฑ์ ในปี พ.ศ.2541 จึงได้มีการกำหนดมาตรฐานของข้าวหอมแยกไว้เป็นการเฉพาะ เรียกว่ามาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องสินค้าข้าวหอมมะลิไทย พ.ศ.2541 และต่อมาได้มีประกาศกำหนดให้ข้าวหอมมะลิไทยเป็นสินค้ามาตรฐาน ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ.2503 ด้วย ซึ่งมีผลให้การส่งออกข้าวหอมมะลิไทยต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าว

ต่อมาในปี 2547 ได้มีการประกาศใช้มาตรฐานข้าวหอมปทุมธานี ซึ่งเป็นพันธ์ข้าวหอมที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้พัฒนาขึ้นใหม่ ให้เป็นทางเลือกของผู้นิยมบริโภคข้าวหอมที่มีราคาย่อมเยากว่าข้าวหอมมะลิไทย ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่อง ข้าวหอมปทุมธานี พ.ศ.2547

ช่วงปลายปี พ.ศ.2555 ต่อต้นปี พ.ศ.2556 รัฐบาลถูกฝ่ายค้านตรวจสอบและอภิปรายเรื่อง การทุจริตตามโครงการรับจำนำข้าวอย่างหนัก โดยเฉพาะการระบายข้าวที่กระทรวงพาณิชย์อ้างว่าเป็นการขายข้าวแบบจีทูจี ให้รัฐบาลจีน ปริมาณหลายล้านตัน แต่เมื่อฝ่ายค้านและสื่อมวลชนได้ตรวจสอบข้อมูลและสถิติการส่งออกข้าวจากแหล่งต่างๆ ไม่ปรากฏว่ามีการส่งออกข้าวแบบจีทูจีไปจีนตามที่กระทรวงพาณิชย์อ้างแต่อย่างใด เป็นเหตุให้ผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ถูกฝ่ายค้านและสื่อมวลขนโจมตีอย่างหนัก และเริ่มถูกคณะกรรมการ ปปช.ไต่สวน ต่อมา ในวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2555 กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกประกาศกำหนดให้ ข้าวขาวรวม 5 ชนิดเป็นสินค้ามาตรฐาน ซึ่งมีผลให้การควบคุมการส่งออกข้าวขาว รวมทั้งข้อมูลที่เกี่ยวกับการส่งออก อยู่ในความควบคุม ของกระทรวงพาณิชย์แต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า การกำหนดให้ข้าวขาว 5 ชนิด เป็นสินค้ามาตรฐาน มีเจตนาแอบแฝงเพื่อการควบคุมและปกปิดข้อมูลการส่งออกข้าวไม่ให้สาธารณชนได้รับทราบ ซึ่งปรากฏในถ้อยคำของพยานที่ให้การไว้ในสำนวนสอบสวนของคณะกรรมการ ปปช.ด้วย

เนื่องจากมีการร้องขอจากผู้ส่งออกข้าวและฝ่ายที่เกี่ยวข้องในวงการค้าข้าว ขอให้มีการปรับปรุงมาตรฐานข้าวไทยโดยเฉพาะมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยที่กำหนดคุณภาพมาตรฐานไว้สูงมาก จึงทำให้เกิดปัญหากรณีที่ผู้ซื้อต้องการสั่งซื้อข้าวหอมคุณภาพชั้นรองลงไป ก็ไม่สามารถกระทำได้ สมควรแก้ไขปรับปรุงมาตรฐานข้าวหอม ให้มีความยืดหยุ่นขึ้นเพื่อเปิดช่อง ให้ผู้ซื้อสามารถสั่งซื้อข้าวหอมคุณภาพชั้นรองลงไปและสามารถส่งออกไปได้

ในต้นปี พ.ศ.2559 กระทรวงพาณิชย์ได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อพิจาณาปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานข้าว ทั้งข้าวขาว ข้าวหอม และ ข้าวหอมมะลิให้เหมาะสมแก่การส่งออกตามภาวะการค้าข้าวในปัจจุบัน ซึ่งคณะทำงานได้พิจารณาเสร็จและกระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศใช้บังคับแล้ว ดังนี้

  1. ประกาศกรนะทรวงพาณิชย์ เรื่องมาตรฐานสินค้าข้าว พ.ศ.2559 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2559 เป็นต้นไป มาตรฐานข้าวที่ปรับปรุงใหม่ มีการยกเลิก ชนิดข้าวหักเอวันเลิศ ที่ไม่มีการซื้อขายกันในปัจจุบัน รวมทั้งปรับปรุงส่วนผสมและสิ่งที่อาจให้มีปนได้ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น รวมทั้งได้อกประกาศยกเลิกการกำหนดให้ข้าวขาวเป็นสินค้ามาตรฐานด้วย ซึ่งหมายถึงการส่งออกข้าวขาวตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2559 เป็นต้นไป ไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ.2503
  2. ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดให้ข้าวหอมมะลิไทย เป็นสินค้ามาตรฐานและมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทย (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2559 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2559 เป็นต้นไป ซึ่งยังคงกำหนดให้ข้าวหอมมะลิไทยยังคงเป็นสินค้ามาตรฐาน ที่ผู้ส่งออกต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ.2503 โดยมีการปรับปรุงมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทยเช่นพันธ์ขาวดอกมะลิ 105 และพันธ์ กข15 ที่สำคัญคือ ยกเลิกข้าวหอมไทยชนิดพิเศษที่กำหนดให้มีส่วนผสมของข้าวหอมมะลิไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ98 และกำหนดให้ข้าวหอมมะลิไทยทุกประเภทและทุกชนิดต้องมีส่วนผสมของข้าวหอมมะลิไทย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 92 โดยปริมาณ ข้าวที่ส่งออกที่มีส่วนผสมของข้าวหอมมะลิไทยไม่ถึงร้อยละ 92 โดยปริมาณไม่ถือว่าเป็นข้าวหอมมะลิไทย
  3. ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องมาตรฐานสินค้าข้าวหอมไทย พ.ศ.2559 ได้กำหนดมาตรฐานข้าวหอมไทยขึ้น นอกเหนือจากมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย ประกาศฉบับนี้ได้กำหนดให้ข้าวหอมไทยทุกพันธ์รวมทั้งข้าวหอมปทุมธานี ยกเว้นข้าวหอมมะลิไทย ต้องมีมาตรฐานเป็นไปตามมาตรฐานข้าวหอมไทย ฉบับนี้ สาระที่สำคัญคือข้าวหอมไทยต้องมีส่วนผสมของข้าวหอมไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 โดยปริมาณ และไม่ได้กำหนดให้ข้าวหอมไทยเป็นสินค้ามาตรฐาน กล่าวคือ การการส่งออกข้าวหอมไทยไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ.2503

การกำหนดมาตรฐานข้าวหอมไทยเพิ่มขึ้น จะเป็นการเพิ่มศักยภาพในการส่งออกข้าวหอมไทยให้หลากหลาย ยิ่งขึ้น ให้ผู้ซื้อมีทางเลือกในการซื้อและนำเข้าข้าวหอมไทยซึ่งมีอยู่หลายพันธ์ นอกเหนือจากข้าวหอมมะลิไทยที่เป็นข้าวหอมพันธ์ที่มีคุณภาพเป็นพิเศษจากข้าวหอมพันธ์อื่นๆ ให้เหเมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภคข้าวหอมในประเทศของผู้นำเข้า ซึ่งจะส่วยส่งเสริมให้สามารถส่งออกข้าวหอมไทยได้เพิ่มขึ้น