Trumpian Policies: ผลต่อเศรษฐกิจ ตลาดการเงินโลกและไทย (จบ)

Trumpian Policies: ผลต่อเศรษฐกิจ ตลาดการเงินโลกและไทย (จบ)

เม็ดเงินลงทุนของกลุ่มทุนสหรัฐอเมริกาในไทยอยู่ในอันดับต้นๆมาตลอด ในปี พ.ศ. 2555 (ก่อนรัฐประหาร) อยู่ที่ 22,782 ล้านบาท

ช่วง ส.ค. พ.ศ. 2558 ถึง ส.ค. พ.ศ. 2559 เม็ดเงินลงทุนอยู่ที่ราว 6,115 ล้านบาท หาก “สหรัฐฯ” เห็น “ไทย” เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคได้ ก็น่าจะเร่งลงทุนในไทยมากขึ้น การลงทุนทางด้านกิจการพลังงาน อุตสาหกรรมยานยนต์ น่าจะเพิ่มขึ้น

แรงกดดันของสหรัฐฯต่อไทยในเรื่องสิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชน ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงกับการค้าจะลดลง เนื่องจากผู้นำสหรัฐฯคนใหม่ไม่ได้ให้น้ำหนักหรือความสำคัญต่อเรื่องดังกล่าว แรงกดดันต่อไทยให้กลับคืนประชาธิปไตยและการเลือกตั้งลดลง ผู้นำสหรัฐฯจะขับเคลื่อนนโยบายต่างประเทศโดยนำเอาประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ การค้าและผลประโยชน์ทางธุรกิจและการลงทุน เป็นตัวนำ

ตอนนี้ พรรครีพับรีกันครองเสียงข้างมากทั้งสองสภา และ ประธานาธิบดีมาจากพรรคเดียวกัน โอกาสในการเกิดสภาวะชะงักงันทางการเมือง (Political Gridlock) เช่นปี พ.ศ. 2556 ไม่มี ความมั่นคงและเสถียรภาพทางการเมืองเข้มแข็งทำให้นโยบายและมาตรการต่างๆของรัฐบาลได้รับการพลักดันได้ง่ายขึ้น หากคณะของประธานาธิบดีคนใหม่สหรัฐฯดำเนินนโยบายและมาตรการเศรษฐกิจที่ดีจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและโลก อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามว่า จะมีใครเป็นทีมเศรษฐกิจและทีมที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจบ้าง และ ท่าทีของประธานาธิบดีคนใหม่ต่อบทบาทและนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกจะถูกจำกัดลงหากประธานาธิบดีทรัมป์ที่มีนโยบายแปลกๆและขาดความน่าเชื่อถือในเรื่องความสามารถในการบริหารเศรษฐกิจมี “ทีมเศรษฐกิจ” ที่แนะนำให้ดำเนินนโยบายที่ถูกต้องเหมาะสมไม่เช่นนั้นจะเป็นเหมือนที่ พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง ได้เขียนไว้ในบทความล่าสุดว่า “ภายใต้สภาพใดๆ ก็ตาม การเอาคนที่ไม่มีความรับผิดชอบ คนที่ฟังคำแนะนำจากคนที่คิดผิดๆ ทั้งหลายแหล่มาเป็นผู้นำประเทศที่มีเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดในโลกนั้นถือเป็นข่าวร้ายมากๆ”

                หวังว่า สิ่งที่ “พอล ครุกแมน” คาดการณ์ไว้ในบทความนิวยอร์กไทม์จะไม่เกิดขึ้นนะครับ

                ในระหว่างหาเสียง ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ เคยกล่าวว่า “ The Trans-Pacific Partnership is another disaster done and pushed by special interests who want to rape our country” แปลว่า TPP เป็นหายนะอย่างหนึ่งที่เกิดจากจุดประสงค์พิเศษของผู้ที่ต้องการทำลายสหรัฐอเมริกา ทัศนะแบบนี้ของว่าที่ผู้นำ หรือ ความคิดเห็นแบบนี้ซึ่งฟังมาจากทีมที่ปรึกษา ที่มีทัศนคติที่เป็นลบอย่างมากต่อการเปิดเสรีและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่เป็นอันตรายต่อระบบการค้าโลกและนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศอย่างมาก

                หากพิจารณาในส่วนของประเทศไทย สถาบันอนาคตไทยศึกษา ชี้ว่า ไทยจะได้ประโยชน์ทางการค้าเพิ่มขึ้นจากเพียง 3 ประเทศที่เรายังไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีด้วย คือ สหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโก ซึ่งมีมูลค่าการค้ารวมกันเพียง 10% ของมูลค่าการค้ารวมของไทย และในจำนวนนี้เป็นการค้ากับสหรัฐฯ สูงถึง 8% ซึ่งประโยชน์จาก TPP ผ่านการลดภาษีจึงไม่น่าจะมีมาก เพราะโดยปกติสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าต่ำอยู่แล้ว โดยเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 1.4% และประโยชน์จากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นชัดเจนน่าจะได้จากเพียง 4 อุตสาหกรรม ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เครื่องจักร และยาง ซึ่งคิดเป็นเพียง 1 ใน 4 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด เพราะอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นอุตสาหกรรมที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มาก จึงมีโอกาสที่นักลงทุนจะมาตั้งฐานการผลิตเพิ่มขึ้น คุณรุจา อดิศรกาญจน์ แห่ง สถาบันอนาคตไทยศึกษา ยังวิเคราะห์ว่า ข้อตกลง TPP ทั้งหมด 30 บท มีกว่า 20 บทที่ไม่ใช่ข้อตกลงทางการค้า ประเด็นสำคัญของ TPP จึงอยู่ที่ประเด็นอื่นที่ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจโดยตรง ซึ่งไทยคงต้องคิดว่าเบ็ดเสร็จแล้ว เราได้ประโยชน์แค่ไหน  เพราะจะมีทั้งการปรับกฎระเบียบของมาตรฐานให้มีเกณฑ์สูงขึ้น เช่น ด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อม รัฐวิสาหกิจ และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และประเด็นเชิงเศรษฐกิจการเมืองที่สหรัฐฯ สามารถกำหนดข้อตกลงที่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจสหรัฐฯ ได้

                สิ่งที่น่าสนใจติดตาม คือ กระแส Anti-GlobalizationAnti-Trade Agreement ของกลุ่มผู้นำใหม่ทำเนียบขาวจะส่งผลพลิกผันอย่างไรต่อเศรษฐกิจและระบบการค้าโลกในระยะต่อไป