Trumpian Policies: ผลต่อเศรษฐกิจ ตลาดการเงินโลกและไทย ตอน1

 Trumpian Policies: ผลต่อเศรษฐกิจ ตลาดการเงินโลกและไทย ตอน1

การที่ผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดีที่นำเสนอนโยบายเสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจ การเมืองแบบอนุรักษ์นิยมขวาจัด เหยียดเชื้อชาติ

นอกกรอบกระแสหลักอนุรักษ์นิยมแบบอเมริกัน ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งนั้น เป็น สิ่งที่ต้องนำไปศึกษาวิจัยและขบคิดต่อว่า ประเทศสหรัฐอเมริกา และ โลก จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

พลังที่ทำให้ “โดนัล ทรัมป์” นักธุรกิจนอกแวดวงอำนาจในวอชิงตันชนะการเลือกตั้งนั้น ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการที่ อเมริกันชน เบื่อ “นักเลือกตั้ง” ใน วอชิงตัน และ พลังของชนชั้นกลางผิวขาวและการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีที่ประสบความยากลำบากทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ต้องการ “ความหวังใหม่” ในการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง นั่นเอง คนอเมริกันจำนวนไม่น้อยมีความรู้สึกว่า ตัวเองถูกแย่งงานจาก ผู้อพยพชาวต่างชาติ และ ธุรกิจได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรี จะเห็นได้ชัดว่า 8 ปีของ บารัค โอบามา สนับสนุนการเปลี่ยนแปลง หรือ Pro-Change ไม่ได้ทำให้เกิดการปฏิรูปอย่างที่คาดหวัง ไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริง เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าเกินไป แม้นมีสัญญาณกระเตื้องขึ้นในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา แต่คนว่างงานมาหลายปีคงไม่ได้เห็นว่ามีความหวังใดๆ พวกเขาจึงลองเลือก คนคิดนอกกรอบ นอกวงการเมือง แถมห่ามๆและไม่ค่อยมีมารยาท กล้าคิดกล้าทำ พูดปลุกกระแสได้เก่ง ปราศรัยแนวโน้มจี้จุดไปที่ปัญหาที่คนส่วนใหญ่เผชิญ

นอกจากช่วงโค้งสุดท้ายยังมีทีเด็ด การสอบสวนจากเอฟบีไอ เรื่องอีเมล์ฉาว ของ “คลินตัน” ที่ทำให้คะแนนฮิลลารี่นำมาแต่แรกถูกแซง และ แดโมแครตก็ไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทั้งหมด รวมทั้ง สมาชิกพรรคแดโมแครตที่คาดว่า “ฮิลลารี่” น่าจะชนะแน่แล้วไม่ไปใช้สิทธิกัน จึงทำให้คะแนนเสียง Electoral Vote ในรัฐที่มีคะแนนเสี่ยงก้ำกึ่งกลายเป็นของพรรครีพับรีกันไปอย่างน่าเสียดาย

ผลการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯออกมาผิดไปจากที่คนจำนวนมากและตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ จึงทำให้ตลาดการเงินมีความผันผวน ทองคำปรับขึ้นไป 3-5% ค่าเงินเปโซเม็กซิโกดิ่งลงกว่า 12% เงินหยวนปรับตัวลงไปอ่อนสุดในรอบ 6 ปี ดัชนีดาวโจนส์ล่วงหน้าดิ่งลงกว่า 800 จุดและฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ขนาดเศรษฐกิจและจีดีพีของสหรัฐอเมริกานั้นใหญ่ที่สุดในโลกมีมูลค่า 18.558 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นสัดส่วนประมาณหนึ่งในสี่ของเศรษฐกิจโลก เฉพาะบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่สัญชาติสหรัฐฯบางแห่งก็มีขนาดมูลค่าบริษัทและทรัพย์สินใหญ่กว่าหรือเท่ากับจีดีพีของประเทศไทยแล้ว ไล่เรียงตั้งแต่ General Electric, Ford Motor, General Motor, Exxon Mobil เป็นต้น การดำเนินนโยบายของผู้นำคนใหม่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกในระยะฟื้นตัว สหรัฐอเมริกาและประเทศชั้นนำทางเศรษฐกิจไม่ได้เหลือพื้นที่ทางนโยบายมากนักในการดูแลเศรษฐกิจหากเกิดวิกฤติขึ้นอีก ประธานธนาคารกลางสหรัฐ “เจเน็ต เยลเลน” จะถูกกดดันจากผู้นำคนใหม่ เราอาจเห็นอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวมากขึ้นกว่าที่คาดไว้เดิม นโยบายการเงินสหรัฐฯจะผ่อนคลายน้อยลง ส่วนนโยบายการคลังจะผ่อนคลายมากขึ้น

ผลกระทบของการเลือกตั้งสหรัฐฯจะส่งผลให้ตลาดการเงินโลกมีความผันผวนไปอีกระยะหนึ่งทั้งปรับขึ้นและลง เป็นผลมาจากการที่ตลาดการเงินไม่ได้คาดการณ์ว่า โดนัล ทรัมป์จะชนะการเลือกตั้ง ขณะที่จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของรัฐบาลใหม่สหรัฐฯค่อนข้างมาก ตลาดหุ้นทั่วโลกกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังการปรับลงแรงก่อนหน้านี้ การประท้วงผลการเลือกตั้งตามเมืองใหญ่ของสหรัฐฯจะยุติลงด้วยความเรียบร้อยเนื่องจากสหรัฐฯมีวัฒนธรรมประชาธิปไตยและผู้แพ้ Electoral Vote แต่ชนะ Popular Vote อย่างฮิลลารี่ คลินตันได้ประกาศการยอมรับผลการเลือกตั้ง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอำนาจอย่างสันติ (Peaceful Power Transition)

เราจะได้เห็นการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจทางด้านอุปทาน (Supply-Side Economic Policy) มากขึ้น ลดภาษีในอัตราก้าวกระโดด (ลดภาษีนิติบุคคลหรือองค์กรธุรกิจจาก 35% ลงมาเหลือ 15%) ซึ่งจะต้องมีการตัดลดสวัสดิการจำนวนมากยกเว้นเศรษฐกิจเติบโตมากๆจึงจะทำให้ไม่เกิดปัญหาหนี้สาธารณะ การปรับลดภาษีชุดใหญ่และอย่างแรงทั้งภาษีรายได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคลพร้อมกับการประกาศลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจจะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯมีหนี้สาธารณะเพิ่มอีกอย่างน้อย 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯแต่ก็น่าจะทำให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจของสหรัฐฯสูงขึ้น

จะมีการผ่อนคลายกฎระเบียบในการทำธุรกิจมากขึ้นในสหรัฐฯ ขณะที่กีดกันสินค้านำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้น มีนโยบายโน้มเอียงสนับสนุนชาตินิยมทางเศรษฐกิจมากขึ้น

การตอบสนองในตลาดปริวรรตเงินตราในระยะสั้น เงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้น เงินเปโซเม็กซิโกทรุดลง (ไม่ต่ำกว่า 10-20%) เงินหยวนอ่อนค่าลง ค่าเงินบาทและเงินสกุลเอเชียส่วนใหญ่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยสำคัญจากผลการเลือกตั้งดังกล่าว ราคาน้ำมันปรับตัวลงเล็กน้อย ส่วนสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆในตลาดล่วงหน้าปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะทองคำ ทางด้านหุ้นและผลประกอบการกลุ่มพลังงานหลัก (น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ) ได้ผลบวกจากนโยบายของทรัมป์ นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจเวชภัณฑ์และบริการสุขภาพ กลุ่มอุตสาหกรรมอาวุธและป้องกันประเทศ ที่ปรับตัวลงก่อนหน้านี้ในช่วงที่มีการคาดการณ์ว่า ฮิลลารี่ คลินตันจะชนะการเลือกตั้ง ราคาหุ้นของกลุ่มนี้ได้กลับฟื้นขึ้นมาหลังผลเลือกตั้งออกมาว่า โดนัล ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง

นโยบายและมาตรการกีดกันสินค้าจากจีนโดยการตั้งกำแพงภาษี 45% ที่ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์กล่าวระหว่างการหาเสียงไม่อาจเกิดขึ้นได้จริงเพราะขัดต่อระเบียบองค์กรการค้าโลกและไม่น่าจะผ่านรัฐสภา  

ผมขอเรียก ชุดนโยบายสาธารณะของประธานาธิบดีทรัมป์และทีมงาน ว่า Trumpian Policiesอันประกอบไปด้วย นโยบายการค้า ทบทวนข้อตกลงการค้าเสรีใหม่ กีดกันสินค้านำเข้าบางส่วนเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมและการจ้างงานภายใน ไม่สนับสนุน TPP สิ่งเหล่านี้จะมีผลต่อการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจและระบบการค้าโลก ปริมาณการค้า การลงทุนระหว่างประเทศอย่างไรโดยเฉพาะ FDI เป็นสิ่งที่ต้องติดตามต่อไป นโยบายการคลัง ลดภาษีชุดใหญ่และตัดลดสวัสดิการบางส่วน นโยบายต่อต้านผู้อพยพผิดกฎหมายและเข้มงวดกับการอพยพเข้ามาทำงานในสหรัฐฯ นโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน ทรัมป์ไม่เชื่อในเรื่องผลกระทบของภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงชั้นบรรยากาศ จึงไม่เป็นผลบวกต่อธุรกิจอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน พลังงานทางเลือก พลังงานสะอาดหรือกิจการหรือการผลิตที่ให้ความสำคัญกับเรื่องปัญหาภาวะโลกร้อน แต่เป็นผลดีกับอุตสาหกรรมถ่านหินและพลังงานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ส่วนนโยบายต่างประเทศ จะมียกเลิกการคว่ำบาตรอิหร่าน มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นขึ้นกับรัสเซีย เป็นต้น

                Trumpian Policies เป็นนโยบายที่ฝากความหวังไว้กับกลุ่มทุนว่าจะขยับขยายการลงทุน ทำให้เกิดจ้างงานหรือไม่

ชุดนโยบาย Trumpian Policies จึงเชื่อใน Trickle Down Effect Theory ภาษาไทยอาจเรียกว่า เป็น ทฤษฎีฝนหล่นจากฟ้า ก็ได้ หรือ ทฤษฎีไหลรินของผลประโยชน์จากเบื้องบน เชื่อว่า บรรดาธุรกิจกลุ่มบรรษัทข้ามชาติสหรัฐฯจะดึงเงินกลับไปลงทุนสร้างงานในสหรัฐอเมริกา ยุทธศาสตร์ของนโยบายประเภทนี้ มุ่งเน้นไปที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นโดยไม่คำนึงถึงวิธีการที่จะทำให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ความมั่งคั่ง รายได้ กระจายไปยังชนชั้นล่างหรือชนชั้นกลาง เพราะแนวทางนี้จะเชื่อว่า เมื่อเศรษฐกิจโตมากพอมันจะไหลริน แพร่กระจาย (Spread Effects) ไปยัง ผู้มีรายได้น้อยและชนชั้นกลาง วิธีการแบบนี้ ประเทศไทยโดยสภาพัฒนาเศรษฐกิจฯใช้แนวทางการพัฒนาแบบนี้มาตลอดตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่1 ถึง แผน 7ผลของการกระจายไม่เกิดขึ้น ชนทบยากจนไม่ดีขึ้นนักเราให้ความสำคัญกับเมืองใหญ่และกรุงเทพฯ ภาคชนบทถูกทอดทิ้ง การกระจายความเจริญและผลประโยชน์จากศูนย์กลางหรือเมืองไปยังชนบทมีน้อยแต่กลับเกิดสิ่งตรงกันข้ามเกิด การดูดกลืนกลับสู่ศูนย์กลาง เป็น Backwards Effects ไม่ได้เกิด Trickle down Effects ไม่ได้เกิด Spread Effects เราจึงมีการเปลี่ยนทิศทางของนโยบายเศรษฐกิจมาตั้งแต่แผน 8

                ผมคาดว่า Trumpian Policies จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯโตเพิ่มขึ้นการเติบโตของตลาดหุ้น แต่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจจะแย่ลง  

ส่วนผลกระทบต่อไทย ผลที่มีต่อตลาดการเงินไม่มีนัยยสำคัญมาก ตลาดหุ้นอาจผันผวนบ้างในระยะสั้น เงินบาทอาจมีการอ่อนตัวบ้าง เงินทุนระยะสั้นอาจเคลื่อนย้ายออกบ้าง ผลกระทบสำคัญน่าจะเป็นด้านการค้ามากกว่าทั้งทางบวกและทางลบ การส่งออกไปสหรัฐฯจะมีความเสี่ยงมากขึ้นตั้งแต่ไตรมาสสองปีหน้าเป็นต้นไป การกีดกันสินค้านำเข้าจากจีนจะกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยด้วยเพราะไทยจีนมีสินค้าหลายตัวอยู่ในห่วงโซ่อุปทานเดียวกัน ภาคส่งออกไทยจะมีความยากลำบากมากขึ้นเนื่องจากปัจจุบันสหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย (ถ้าไม่นับอาเซียน 10 ประเทศรวมกัน) โดยในปี 2558 ไทยมีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ  24,055 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.2 ของมูลค่าการส่งออกของไทยทั้งหมด โดยมีสินค้าสำคัญ อาทิ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องนุ่มห่ม รวมทั้งอาหารทะเลและผลไม้กระป๋องแปรรูป ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 51.4 ของการส่งออกไทยไปสหรัฐฯทั้งหมด  ดังนั้น หากสหรัฐมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าในทิศทางที่มีการกีดกันมากขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการส่งออกของไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  จึงควรเพิ่มปริมาณการค้าการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนและเอเชียมากขึ้นอีก

ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ได้ประกาศตั้งแต่เริ่มหาเสียงแล้วว่า ไม่เอาข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) นั้นเป็นผลดีกับไทย การเริ่มต้มใหม่เรื่อง TPP นั้นเป็นเรื่องโชคดีของไทย ส่วนเวียดนามและมาเลเซียได้ประโยชน์จากการเข้าร่วม TPP ไปก่อนหน้านี้แม้นยังไม่เต็มรูปแบบ แต่อุตสาหกรรมสิ่งทอที่ย้ายฐานการผลิตจากไทยไปเวียดนาม แม้ TPP ไม่ได้เป็นนโยบายของผู้นำสหรัฐฯคนใหม่ แต่เงินทุนที่ไหลเข้าเวียดนาม ก็ไหลเข้าไปแล้ว มีตัวเลข 8 เดือนแรก เงินทุนไหลเข้าไปกว่า 14.4 พันล้านสหรัฐ จะเห็นว่า ทีพีพีจะไม่เกิดแต่เวียดนามก็ได้ประโยชน์จาก FDI ที่ไหลเข้าไปแล้ว

 ส่วนประเทศไทยนั้นควรมียุทธศาสตร์และนโยบายทางการค้าที่ชัดเจนกว่านี้ เนื่องจากขณะนี้ไม่มีความคืบหน้ามากนักใน FTA กับอียู FTA กับสหรัฐฯ