ลงทุนแบบ 'ตีกิน'

ลงทุนแบบ 'ตีกิน'

ไม่ชอบลงทุนในอุตสาหกรรมที่สู้กันยิบตา แต่นิยมซื้อหุ้นของบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากการแข่งขันโดยตัวเองไม่ต้องเปลืองแรง

ช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวหนึ่งซึ่งน่าประหลาดใจไม่แพ้ 'โดนัลด์ ทรัมป์' ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คือการที่บริษัทเบิร์คเชียร์ แฮธาเวย์ ของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ เข้าซื้อหุ้นสี่สายการบินใหญ่ในอเมริกา ได้แก่ อเมริกัน แอร์ไลน์ส, เดลต้า, ยูไนเต็ด คอนติเนนทัล และ เซาธ์เวสต์ โดยซื้อในราคาที่แพงเสียด้วย

แต่ไหนแต่ไรมา บัฟเฟตต์พูดเสมอว่า ไม่ชอบธุรกิจสายการบิน เนื่องจากค่าใช้จ่ายลงทุนสูงมาก การแข่งขันก็สูง สร้างความได้เปรียบก็ยาก นักลงทุนทั้งผองจึง 'งง' ไปตามๆ กันเมื่อทราบข่าวดังกล่าว

บ้างก็มองว่า 'ปู่' กลืนน้ำลายตัวเองตอนแก่

อันที่จริงแล้ว การลงทุนของเบิร์คเชียร์ในช่วงหลังๆ ที่เซอร์ไพรส์เราบ่อยครั้ง รวมทั้งการซื้อหุ้น Apple ไม่น่าจะใช่บัฟเฟตต์ตัดสินใจเอง โดยคาดว่าคนที่เคาะซื้อน่าจะเป็น เท็ด เวลช์สเลอร์ กับ ท็อดด์ คอมบ์ สองผู้จัดการกองทุนรุ่นใหม่ที่บริหารพอร์ตก้อนโตของเบิร์คเชียร์อยู่เวลานี้ และทำให้แนวทางการเลือกหุ้นของ BRK ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ไหนๆ ก็พูดถึงสายการบินแล้ว ขอวกมาที่บ้านเราบ้างนะครับ ตลาดหุ้นไทยมีสายการบินให้เลือกลงทุนไม่มากนัก และต่างก็แข่งขันกันรุนแรง แม้โลว์คอสต์บางรายจะทำกำไรเป็นกอบเป็นกำ แต่บรรทัดสุดท้าย อุตสาหกรรมนี้ยังคงเป็น Red Ocean คือ 'แข่งเดือด' ชนะก็เหนื่อย แพ้ยิ่งเหนื่อย

โดยส่วนตัว ผมไม่ชอบลงทุนในอุตสาหกรรมที่สู้กันยิบตา แต่นิยมซื้อหุ้นของบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากการแข่งขันโดยตัวเองไม่ต้องเปลืองแรง ผมจึงไม่ชอบหุ้นสายการบิน แต่ชอบหาหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการขยายตัวของธุรกิจการบิน ซึ่งไม่ใช่แค่ 'หุ้นสนามบิน' เพราะมันง่ายเกินไป ใครๆ ก็มองออก

การที่เครื่องบินลำหนึ่งจะขึ้นไปลอยอยู่บนท้องฟ้าได้ ล้วนต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่าง ต้องมีหลายๆ ธุรกิจเข้าไปดำเนินการ ยิ่งถ้าเป็นธุรกิจกึ่งผูกขาด ก็ยิ่งเป็นการลงทุนที่น่าสนใจมากขึ้น

ดูบัฟเฟตต์เป็นตัวอย่าง แกไม่ชอบธุรกิจสายการบิน แต่กลับลงทุนมหาศาลใน Precision Castparts บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ฝังอยู่ในเครื่องบินทุกลำ ไม่ว่าจะเป็นโบอิ้งหรือแอร์บัส โดยไม่มีใครมาแข่งขันด้วยได้ นี่คือการลงทุนในอุดมคติโดยแท้ (แต่ต้องซื้อไม่แพงด้วยนะ)

นักลงทุนก็เหมือนเจ้าของกิจการ ถ้ากิจการเหนื่อย ตัวเราก็พลอยเหนื่อยใจไปด้วย เพราะฉะนั้น ลองทำอย่างที่ผมบอก มองหาธุรกิจที่ 'ตีกิน' สบายๆ เขาแข่งกันแทบตาย แพ้-ชนะ ต้องมาจ่ายเงินให้เรา

ค้นเจอเมื่อไร เงินทองอยู่ไม่ไกล กำไรอยู่แค่เอื้อมครับ