"สวยบน ย่นล่าง"

"สวยบน ย่นล่าง"

ใครๆก็อยากทำ อยากเห็นและอยากเอาสายไฟฟ้าที่พันกันมั่วจนอุจาดตาลงไปหลบอยู่ใต้ดินใต้ถนน เพื่อทำให้ทัศนียภาพสวยงามยิ่งขึ้น

แต่กรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นบนแนวสองข้างทางของถนนราชวิถีจนเป็นข่าวประจาน   จนทำให้ต้องฉุกคิดว่า ทำไมเรื่องยากๆ(เก็บสายไฟลงดิน)ทำได้ ทำไมเรื่องที่ง่ายกว่า(กลบถนนปิดร่องรอย)กลับทำไม่เป็น?

                เรื่องของเรื่องเกิดขึ้น เมื่อการไฟ้ฟ้านครหลวงดำเนินการรื้อถอนเสาไฟฟ้าบริเวณถนนราชวิถี ตามแผนงานโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ด้วยผลงานเหลือเชื่อสามารถทำเสร็จเร็วกว่ากำหนดอย่างน่าอัศจรรย์ภายในสองเดือนกว่าๆจากกำหนดเดิม 10 เดือน

                แต่หลังจากนั้น กลับกลายเป็นว่า ไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาทำหน้าที่รับช่วงต่อในการปิดกลบซ่อมแซมถนนส่วนที่ถูกขุดฝังสายไฟฟ้าเพื่อทำให้ถนนอยู่ในสภาพที่ปกติสมบูรณ์ แต่กลับปล่อยให้ถนนอยู่ในสภาพไม่งามตาจนถึงขั้นอุจาดตาแทนที่ จนมีสภาพไม่ต่างจากภาวะ "สวยบน ย่นล่าง" อย่างไงอย่างนั้น ไม่ต่างจากสภาพของนักร้องดังอย่างมาดอนน่าในวัยที่ย่างเข้า 60 ปี ที่หน้าตาดูสละสะสวยอ่อนวัยกว่าอายุจริง แต่กลับมีรอยเหี่ยวย่นของมือที่บ่งบอกวัยอย่างแท้จริง เรียกว่าให้ความสำคัญกับการดูแลใบหน้าแต่กับละเลยมองข้ามความงามของใบมือ

                บ่อยครั้ง เรามักจะบอกว่าปัญหาในลักษณะนี้เกิดขึ้นเพราะขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนพัฒนากลายเป็นวัฒนธรรมหนึ่งในสังคมไทย จะเรียกว่า "วัฒนธรรมฟันหลอ" ก็คงจะไม่ผิด เพราะขาดการเชื่อมต่อประสานเป็นแนวเนื้อเดียวกัน   ปัญหารถไฟฟ้าสายสีม่วงที่สิ้นสุดตรงสถานีเตาปูนแทนที่จะสร้างเชื่อมต่อกับระบบรถไฟใต้ดินที่สถานีบางซื่อให้สมบูรณ์ หรือปัญหารถไฟแอร์พอร์ตลิงค์ที่ขาดการวางแผนเชื่อมต่อระหว่างสถานีมักกะสันกับระบบรถไฟใต้ดินบริเวณสถานีเพชรบุรี ก็ล้วนแต่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมฟันหลอทั้งสิ้น

                ในแต่ละปี หลายๆหน่วยงานมีการเดินทางไปศึกษาดูงานต่างประเทศเป็นว่าเล่น แต่น่าเสียดายว่า สิ่งที่ได้ไปดูไม่เคยคิดนำกลับมาประยุกต์ใช้ให้คุ้มค่ากับงบประมาณเลย เรียกว่าดูแล้วดูเลย โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่หลายๆหน่วยงานชอบไปดูงานจนเรียกว่าทะลุปรุโปร่ง ไปดูบ่อยๆจนหลายๆหน่วยงานในญี่ปุ่นบ่นว่าจะดูสักกี่รอบ ดูแล้วดูเล่าจนเขาไม่เป็นอันทำงาน

                ถ้าหากหน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้องกับการดูแลถนน ได้ศึกษาเรียนรู้งานจากการไปดูของจริงที่ญี่ปุ่นแล้วนำกลับมาประยุกต์ใช้จริงๆ เชื่อได้แน่ว่า ท้องถนนในกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ก็คงจะงามวิไลมากกว่านี้อย่างแน่นอน