พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติฯ กับผลกระทบต่อด้านทันตกรรม

พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติฯ กับผลกระทบต่อด้านทันตกรรม

พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 เป็นกฎหมายใหม่ซึ่งประกาศใช้

แทนพระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ.2504 โดยจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560 กฎหมายฉบับนี้มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองประชาชนและสิ่งแวดล้อม จากนิวเคลียร์และรังสีที่ใช้ในกิจการต่างๆ รวมทั้งในด้านที่เกี่ยวกับการสาธารณสุข ซึ่งมักจะใช้รังสีในกระบวนการวินิจฉัยและรักษาโรค เช่น การมีบทบัญญัติกำหนดให้ผู้ใช้งานเครื่องกำเนิดรังสี ต้องเป็นเจ้าหน้าความปลอดภัยทางรังสี และผู้ครอบครองหรือใช้เครื่องกำเนิดรังสีต้องได้รับใบอนุญาตจากเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เป็นต้น ซึ่งจะก่อให้เกิดผลดีในการคุ้มครองผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงประชาชนทั่วไปมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในด้านทันตกรรมซึ่งจะต้องมีการใช้รังสีในกระบวนการวินิจฉัยเช่นกันนั้น อาจได้รับผลกระทบที่แตกต่างออกไป เนื่องจากการใช้รังสีในเครื่องเอกซเรย์ฟัน เป็นไปเพื่อการวินิจฉัยไม่ใช่การรักษา รังสีที่ใช้ต่อครั้งจึงมีปริมาณน้อยมาก และไม่เคยปรากฏอุบัติการณ์ความเสียหายต่อร่างกาย ชีวิตหรือทรัพย์สินแต่อย่างใด การประกาศใช้พระราชบัญญัติข้างต้นที่มุ่งควบคุมการใช้รังสีอาจมีผลกระทบต่อการประกอบวิชาชีพด้านทันตกรรม ดังจะได้อธิบายต่อไปนี้

มาตรา 4 พระราชบัญญัตินิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 กำหนดนิยามของ “เครื่องกำเนิดรังสี” หมายความถึง เครื่องหรือระบบอุปกรณ์เมื่อมีการให้พลังงานเข้าไปแล้วจะก่อให้เกิดการปลดปล่อยรังสีออกมา ทั้งที่มีอยู่ในธรรมชาติหรือเกิดจากการผลิตหรือการใช้วัสดุนิวเคลียร์ การผลิตจากเครื่องกำเนิดรังสี หรือกรรมวิธีอื่นใด ทั้งนี้ ไม่รวมถึงวัสดุกัมมันตรังสีที่มีลักษณะเป็นวัสดุนิวเคลียร์ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการยกร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภทของเครื่องกำเนิดรังสี ที่อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยหากเครื่องกำเนิดรังสีที่ใช้ในทางทันตกรรมหรือเครื่องเอกซเรย์ฟันถูกตีความรวมอยู่ในความหมายของ “เครื่องกำเนิดรังสี” ตามมาตรา 4 จะส่งผลกระทบดังต่อไปนี้

ประการแรก สถานพยาบาลทางทันตกรรมต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี (RSO) ประจำอยู่ตลอดเวลาทำการ เพื่อทำหน้าที่ควบคุมดูแลความปลอดภัยในการใช้งานเครื่องกำเนิดรังสี และควบคุมการได้รับปริมาณรังสีของผู้ปฏิบัติงานและประชาชนทั่วไป แต่เนื่องจากในหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิตของทุกมหาวิทยาลัยมีการเรียนการสอนวิชารังสีวิทยาอยู่แล้ว จึงมีประเด็นที่ควรพิจารณาว่ามีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด ที่ทันตแพทย์ต้องสอบเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี อีกทั้งในทางปฏิบัติ บทบัญญัติดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความไม่สะดวกต่อผู้รับการรักษาพยาบาล

เช่น หากเกิดกรณีที่ทันตแพทย์ผู้ทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีไม่อยู่ประจำคลินิก โดยที่ทันตแพทย์อื่นที่ปฏิบัติงานไม่มีใบอนุญาต จะไม่สามารถทำการเอกซเรย์ได้ และในกรณีฉุกเฉินที่จำเป็นต้องทำการเอกซเรย์ฟันทันที เช่น เด็กล้มใบหน้ากระแทกพื้นจนฟันหัก กระดูกเบ้าฟันแตก และเหตุเกิดในชนบทที่อาจจะมีคลินิกทันตกรรมหรือโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็กแค่เพียงแห่งเดียว ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับความสะดวก ต้องทนเจ็บ เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อไปรับการรักษาที่สถานบริการอื่น ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านทันตกรรมได้ยากขึ้น

ประการที่สอง การครอบครองหรือใช้เครื่องกำเนิดรังสี ต้องได้รับอนุญาตจากเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โดยการขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีการออกกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันก็มีการกำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลทางทันตกรรมต้องจัดให้มีเครื่องเอกซเรย์ฟันที่ได้มาตรฐานทางการแพทย์อยู่แล้ว โดยเป็นไปตามกฎกระทรวงสาธารณสุขออกตามความในพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และมีการควบคุมคุณภาพของเครื่องเอกซเรย์ฟัน โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตามประกาศเรื่องข้อปฏิบัติการควบคุมคุณภาพเครื่องเอกซเรย์วินิจฉัย ซึ่งกำหนดให้มีการตรวจสอบลักษณะของห้องเอกซเรย์ ค่าเวลาในการฉายรังสี ระดับปริมาณรังสี ค่าการกรองรังสีของหลอดเอกซเรย์ และปริมาณรังสีรั่ว ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมตามมาตรฐานทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) นั่นหมายความว่าสถานพยาบาลทางทันตกรรมทุกแห่งจะต้องมีเครื่องเอกซเรย์ฟันที่ได้มาตรฐาน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด จึงจะได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล

จึงเห็นได้ว่าเมื่อพระราชบัญญัตินิวเคลียร์เพื่อสันติฯ มีผลใช้บังคับเพิ่มไปอีกหนึ่งฉบับอาจเกิดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงานระหว่างสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับกระทรวงสาธารณสุขในเรื่องของการตรวจสอบควบคุมคุณภาพของเครื่องกำเนิดรังสีที่ใช้ในทางทันตกรรมเพื่อออกใบอนุญาต ดังนี้ ในการออกกฎกระทรวงจึงจำเป็นต้องพิจารณาเพื่อลดความซ้ำซ้อนและลดขั้นตอนในการขอใบอนุญาต ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มภาระเกินจำเป็นต่อผู้ปฏิบัติงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

แม้การตราพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 จะเกิดจากเจตนารมณ์ที่ดี แต่ก็พึงพิจารณาผลกระทบในการดำเนินการของผู้เกี่ยวข้องในส่วนต่างๆ อย่างรอบคอบ เพื่อให้การกำหนดมาตรการทางกฎหมายเป็นไปอย่างเหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดภาระแก่ผู้ปฏิบัติงานหรือผลกระทบด้านลบแก่ประชาชนเกินสมควรด้วยเช่นกัน

-------------------

ชญานี ศรีกระจ่าง, ทพญ. บุหลัน ทองคำ