Ethical Goods สินค้าธรรมาภิบาล

Ethical Goods สินค้าธรรมาภิบาล

แนวโน้มใหญ่ที่สามารถสังเกตได้ในการดำเนินธุรกิจปัจจุบันคือการที่ภาคธุรกิจได้ให้ความสำคัญกับการนำเสนอสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ไม่ทำให้สังคมเสื่อมถอย และสามารถใช้ประเด็นของความรับผิดชอบต่อสังคมนี้ เป็นจุดเด่นในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ให้ผู้บริโภคได้มีความตื่นตัวต่อแนวคิดใหม่ในการทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล

ซึ่งก็หมายความว่า ธุรกิจธรรมาภิบาล จะต้องเติบโตควบคู่ไปกับพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคที่จะต้องให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาลในตัวสินค้าหรือการบริการที่ธุรกิจนำเสนอด้วย

ดังนั้น สินค้าธรรมาภิบาล (Ethical Goods) จึงต้องพัฒนาร่วมไปกับ การบริโภคอย่างมีธรรมาภิบาล (Ethical Consumerism)

สินค้าสำคัญหลายชนิดที่มีความสัมพันธ์พื้นฐานกับเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายที่สุดก็คือ สินค้าไม้ธรรมชาติแปรรูป ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่า จะต้องเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ ที่พิสูจน์ผลเสียให้เห็นแล้วอย่างชัดเจน

แต่มีหลายวิธีที่ผู้ประกอบการ จะสามารถเยียวยาสภาพแวดล้อม โดยไม่ทำให้เกิดความกระทบกระเทือนต่อการเติบโตของธุรกิจ

เช่น การแสดงให้เห็นว่า มีการปลูกป่าทดแทนในปริมาณที่มากกว่าต้นไม้ที่ตัดไป มีการวางแผนอย่างรัดกุมในระยะยาว เพื่อให้สมดุลธรรมชาติกลับมาได้อย่างยั่งยืน และสามารถรักษาธุรกิจไว้ได้จากการยินดีสนับสนุนของผู้บริโภคที่มีธรรมาภิบาล และมองเห็นความพยายามของธุรกิจ

การพยายามพัฒนานวัตกรรมในกระบวนการผลิตและการตัดไม้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และลดการสูญเสียของวัตถุดิบไปโดยไม่จำเป็น

ส่วนการบริจาคเงิน หรือทำกิจกรรมแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม อย่างฉาบฉวย เป็นครั้งคราว คงไม่อาจตบตาผู้บริโภคที่จะฉลาดและมีความรู้มากขึ้นตลอดเวลาได้ต่อไป เนื่องจากกิจกรรมเหล่านี้ ไม่ได้ทำให้เกิดความต่อเนื่องอย่างยั่งยืนกับธรรมชาติและการกระทบกระเทือนต่อภาพลักษณ์ของธุรกิจได้ในระยะกลางและระยะยาว

นอกจากตัวอย่างในเรื่องของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลืองแล้ว เรื่องของการใช้แรงงานที่ไม่คำนึงถึงธรรมาภิบาล ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เจ้าของสินค้าธรรมาภิบาล จะต้องคำนึงถึง

เริ่มต้นจากการไม่ละเมิดกฎหมายด้านแรงงาน และกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชน ที่ถือว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญ ตลอดไปจนถึงการดูแลพนักงานในเรื่องของค่าจ้างค่าตอบแทนที่เป็นธรรม การจัดสวัสดิการให้อย่างเพียงพอ และการพัฒนาความรู้ความสามารถ การเพิ่มทักษะในการทำงาน เพื่อให้โอกาสกับพนักงานสามารถพัฒนาตัวเองและครอบครัวไปสู่ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ในส่วนของการบริโภคอย่างมีธรรมาภิบาล มีข้อแนะนำกว้างๆ ให้กับผู้บริโภคที่ตระหนักและให้ความสำคัญกับการใช้สินค้าหรือบริการที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือไม่เอาเปรียบสังคมอย่างไม่เป็นธรรม ดังนี้

หมวดอาหาร–สนับสนุนอาหารอินทรีย์ อาหารที่ไม่ได้มาจากการตัดแต่งพันธุกรรม (GMO) อาหารที่ไม่ได้ใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณมากจนตกค้าง สมุนไพรจากธรรมชาติ

หมวดสินค้าเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต–เครื่องสำอางหรือยาที่ไม่ได้ใช้สัตว์มีชีวิตในการทดสอบ ผู้ผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงาน

หมวดเครื่องใช้ในบ้าน–อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงาน สินค้าที่ผลิตจากชิ้นส่วนรีไซเคิล สนับสนุนสินค้าพื้นบ้าน สินค้าที่ไม่ต้องขนส่งมาเป็นระยะทางไกล เพราะต้องใช้พลังงานมากขึ้น สินค้าที่มีการลดใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่จะทำให้ปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น สินค้าที่ใช้ไม้จริงจะต้องแน่ใจว่า ผู้ผลิตได้คำนึงถึงธรรมาภิบาลในด้านการรักษาป่าไม้

ข้อคำนึงทั่วไป–หากเป็นไปได้ อาจเลือกใช้สินค้าหรืออุปกรณ์มือสอง ไม่สนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่มีข่าวในทางเสื่อมเสียด้านธรรมาภิบาล เลือกสินค้าที่มีตรารับรองจากองค์กรประกันคุณภาพที่เชื่อถือได้ เช่น ฉลากเบอร์ 5 หรือ ฉลากเขียว หรือสนับสนุนบริษัทที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้ผลิตที่คำนึงถึงการใช้พลังงาน หรือได้รับการยกย่องได้รางวัลเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล

เพื่อร่วมกันแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และสร้างโลกใบนี้ให้น่าอยู่ขึ้น โดยเริ่มต้นจากการนำเสนอสินค้าธรรมาภิบาล และกระตุ้นการบริโภคอย่างมีธรรมาภิบาล ให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง