ธุรกิจขนาดกลาง-เล็กในญี่ปุ่น คุณลักษณะกับปัญหา

ธุรกิจขนาดกลาง-เล็กในญี่ปุ่น คุณลักษณะกับปัญหา

ธุรกิจขนาดกลาง-เล็กในญี่ปุ่นมีจำนวนผู้ประกอบการ (นิติบุคคลและบุคคล) รวมกันประมาณ

3.85 ล้านราย ในขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่มีจำนวนเพียงประมาณ 1 หมื่นราย ดังนั้นธุรกิจขนาดกลางและเล็กจึงมีจำนวนถึง 99.7% ของจำนวนธุรกิจทั้งหมด โดยที่สามารถแบ่งเป็นธุรกิจประเภทต่างๆ ดังแสดงในตารางที่ 1 โปรดสังเกตว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีมีเพียง 17% เท่านั้น นอกนั้นเป็นธุรกิจที่คุ้นเคยกัน

กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และ อุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่นได้ทำการสำรวจธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กโดยแยกตามเป้าหมายการดำเนินงานว่ามุ่งหวังตลาดท้องถิ่นหรือตลาดโดยทั่วไปดังแสดงในตารางที่ 2 และ 3 ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพวกที่มีท้องถิ่นเป็นตลาดเป้าหมายหลักนั้น มีสัดส่วนของตลาดตั้งแต่ระดับจังหวัดลงมาถึง 59% แต่พวกที่มีตลาดทั่วไปเป็นเป้าหมายหลักนั้น มีสัดส่วนของตลาดระดับประเทศและต่างประเทศถึง 62% เมื่อสำรวจดูแนวทางธุรกิจ จะเห็นได้ว่า พวกที่เน้นท้องถ่ินเป็นตลาดเป้าหมายหลักมีแนวทางที่ต้องการให้ธุรกิจมีเสถียรภาพกว่าการขยายตัวเป็นส่วนใหญ่ ในทางตรงกันข้ามพวกที่เน้นตลาดโดยทั่วไปเป็นเป้าหมายหลักมักจะมีแนวทางให้ธุรกิจขยายตัว

เมื่อสำรวจดูคุณสมบัติด้านต่างๆ ของธุรกิจขนาดกลางและเล็กแล้ว อาจให้ข้อสรุปได้ตามที่แสดงในตารางที่ 5 จะเห็นได้ว่า เรื่องยอดขาย อัตราขยายตัวยอดขาย จำนวนลูกจ้างที่เพิ่ม และที่ตั้งใน 3 เมืองใหญ่ ล้วนแล้วแต่เป็นคุณลักษณะของธุรกิจขนาดกลางและเล็กที่มีตลาดทั่วไปเป็นเป้าหมายหลัก ที่น่าสนใจคือ อายุที่เร่ิมคิดตั้งธุรกิจกับอายุจริงที่ตั้งธุรกิจ ธุรกิจประเภทที่มีท้องถิ่นเป็นเป้าหมายหลักน่าจะเป็นธุรกิจประเภทที่คุ้นเคยโดยทั่วไป เช่น ขายปลีก เป็นต้น มีโอกาสเริ่มต้นธุรกิจได้ง่ายกว่า ในขณะที่ธุรกิจที่มีตลาดทั่วไปเป็นเป้าหมายหลักจะต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในตลาดที่มีขนาดใหญ่กว่ามาก จึงต้องใช้เวลาในการเตรียมความพร้อมและตั้งธุรกิจภายหลังจากที่เริ่มต้นคิดหลายปี

การสอบถามผู้ประกอบการต่อปัญหาในการเริ่มต้นธุรกิจนั้น พบว่าเงินทุนและขั้นตอนของทางการในการขอจัดตั้งและดำเนินธุรกิจเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด การสำรวจค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการเปิดดำเนินการธุรกิจเปรียบเทียบระหว่างปี 1991 และ 2011 พบว่า ลดลงจากประมาณ 10 ล้านเยนเหลือเพียงประมาณ 6 ล้านเยน อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการมีเงินทุนเริ่มต้นของตนเองโดยเฉลี่ยเพียง 2.3 ล้านเยน ทำให้จะต้องจัดหาเงินทุนส่วนที่เหลือจากแหล่งต่างๆ ซึ่งก็คงไม่ต่างอะไรจากที่คุ้นเคยกับในไทย อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้นโดยเฉลี่ยของธุรกิจขนาดกลางและเล็กของญี่ปุ่นอยู่ที่ประมาณ 1.5 เทียบกับอัตราส่วนเดียวกันของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ประมาณ 3.0 อาจจะต่ำกว่า แต่ก็ถือได้ว่าเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับธุรกิจขนาดเล็กและอาจจะดีกว่าของไทยเล็กน้อย

รัฐบาลญี่ปุ่นมีการจัดสรรงบประมาณรายปี ๆ ละ 20,000 ล้านเยนให้แก่ทบวงธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจในการจัดตั้งกิจการอันจะเป็นการสร้างความคึกคักให้แก่เศรษฐกิจในแต่ละท้องถ่ิน โดยจะให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนไม่เกิน 2 ใน 3 แต่มีเพดานไม่เกินรายละ 2 ล้านเยนสำหรับธุรกิจท้องถ่ิน 5 ล้านเยนสำหรับธุรกิจที่เปิดกิจการเพิ่มเติม และ 7 ล้านเยนสำหรับธุรกิจที่สามารถทำตลาดในต่างประเทศได้

ส่วนปัญหาขั้นตอนทางการตามกฎหมายนั้น มีความรุนแรงสำหรับธุรกิจเริ่มต้นใหม่ถึงร้อยละ 60 แต่เมื่อดำเนินการไประยะหนึ่งแล้วจะลดลงเหลือเพียงประมาณ15% เท่านั้น ปัญหาบุคลากรก็ถือได้ว่าเป็นเรื่องสำคัญในช่วงที่ธุรกิจดำเนินการไปแล้วและกำลังขยายตัว กล่าวคือ ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจที่มีปัญหาบุคลากรมีเพียงร้อยละ 37 แต่ในช่วงขยายตัว ธุรกิจที่มีปัญหาบุคลากรจะมีถึง 60% โดยสามารถแยกออกได้เป็นปัญหามากไปน้อย ดังแสดงในตารางที่ 7 เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจะมีค่าใช้จ่ายตามมาสำหรับการจัดหาบุคลากรตามคุณสมบัติที่ต้องการ หรือไม่ ก็เป็นค่าใช้จ่ายฝึกอบรมบุคลากรเพื่อให้ได้มาซึ่งใบอนุญาตในการประกอบวิชาชีพ ปัญหาเงินทุนเป็นเรื่องสำคัญในช่วงขยายตัวจะเริ่มรุนแรงน้อยลงหลังจากที่ธุรกิจเริ่มมีเสถียรภาพแล้ว

ถ้าหากพิจารณาความรุนแรงของปัญหาในตอนจัดตั้งธุรกิจแยกตามประเภทธุรกิจแล้ว จะพบว่า ธุรกิจก่อสร้างและรักษาพยาบาลตจะมีปัญหามากกว่าเฉลี่ยสำหรับกลุ่มธุรกิจที่มีตลาดท้องถ่ินเป็นเป้าหมายหลัก ส่วนธุรกิจสื่อสาร สารสนเทศ เทคโนโลยี และ โรงแรม เป็นธุรกิจที่มีปัญหามากกว่าเฉลี่ยในกลุ่มธุรกิจที่มีตลาดทั่วไปเป็นเป้าหมายหลัก ทั้งนี้เพราะว่ากลุ่มแรกเป็นพวกที่มีขั้นตอนตามกฎหมายมาก ในขณะที่กลุ่มหลังมีปัญหาเชิงเทคโนโลยีและการทำตลาด

เมื่อถามธุรกิจที่สำรวจว่าต้องการความช่วยเหลือในด้านใดบ้าง ความช่วยเหลือด้านบุคลากรและขั้นตอนทางการตามกฎหมายเป็น 2 เรื่องที่ต้องการมากที่สุดถึง 70% ความช่วยเหลือที่ต้องการรองลงมาได้แก่ การอบรมความรู้การจัดตั้งและบริหารธุรกิจ การหาช่องทางจำหน่าย และ ระบบสารสนเทศ มีประมาณ 60%

เมื่อเปรียบเทียบลักษณะของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ดังแสดงในตารางที่ 8 จะเห็นได้ว่า ญี่ปุ่นมีขนาดเศรษฐกิจเป็น 12.7 เท่าของไทย แต่มีจำนวนผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและเล็กเพียง 1.4 เท่าของไทย และ มีการจ้างงานเพียงประมาณ 3.6 เท่าของไทย ซึ่งเป็นการชี้ว่า แม้ว่าผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กของไทยจะมีจำนวนมาก แต่ว่าแต่ละรายก็มีขนาดเล็ก ในขณะเดียวกัน ยอดสินเชื่อคงค้างรวมแก่ธุรกิจขนาดกลางและเล็กของญี่ปุ่นมีขนาดถึงรายละเกือบ 20 เท่าของไทย ดังนั้นข้อมูลข้างต้นพอจะบอกได้ว่า ธุรกิจขนาดกลางและเล็กของไทยได้รับการสนับสนุนสินเชื่อน้อยกว่าของญี่ปุ่นมากๆ นโยบายของรัฐบาลไทยในด้านการเงินต่อธุรกิจขนาดกลางและเล็กจะต้องปรับปรุงเป็นอย่างมาก

สถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ควรจะมีภาคธุรกิจเอกชนที่ดำเนินงานด้านนี้โดยเฉพาะมากกว่าที่จะให้เป็นสถาบันการเงินภาครัฐบาล โดยทำงานร่วมกับธนาคารพาณิชย์ สินเชื่อผู้บริโภคอย่างบัตรเครดิตเป็นตัวอย่างอันดีที่ปล่อยให้มีการแข่งขันจากสถาบันที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์และเป็นผลประโยชน์แก่ลูกค้าเป็นอย่างมากจนประชาชนใช้จ่ายเงินเกินตัวไป ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง กฎระเบียบที่แตกต่างออกไป และ การควบคุมอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกันโดยรวม จะทำให้ได้สถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อแก่ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ที่ดีขึ้น

การช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ที่เหลืออยู่มีอีก 2 เรื่องคือ การช่วยเหลือเกี่ยวกับขั้นตอนของทางการตามกฎหมาย และ การช่วยเหลือจัดหาบุคลากรที่ต้องการ ซึ่งทบวงธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ของญี่ปุ่นถือเป็นภารกิจหลัก

ในบางครั้ง มีผู้ที่มีความเห็นว่า ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ทางด้านเทคโนโลยี สารสนเทศ และ สินค้าส่งออกที่มีศักยภาพ สมควรแก่การส่งเสริมเนื่องจากสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ระบบเศรษฐกิจได้มาก แต่การช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ควรเป็นการช่วยเหลือโดยทั่วไปในเชิงของธุรกิจขนาดกลางและเล็ก มากกว่าเป็นการเฉพาะด้าน ซึ่งในกรณีนั้นเป็นเรื่องของการส่งเสริมการลงทุนมากกว่า