ราชนีติ : วิถีพระราชามรรคาผู้นำ (1)

ราชนีติ : วิถีพระราชามรรคาผู้นำ (1)

พระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์

จักรี เป็นที่รับรู้ไปทั่วโลก ด้วยพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติอันยังประโยชน์แก่พสกนิกรชาวไทยนั้น มีมากมายมหาศาลเกินกว่าจะวัดได้ด้วยดัชนีชี้วัดใดๆ ในโลกนี้ เป็นที่ประจักษ์แก่สายตามชาวโลกมาตลอดรัชสมัยของพระองค์ จึงทรงได้รับการยกย่องและทูลเกล้าถวายรางวัลจากองค์กรต่างๆ เป็นอันมาก สิ่งที่พระองค์ทรงคิดและทรงปฏิบัตินั้น ไม่เพียงแต่ยังประโยชน์แก่พสกนิกรชาวไทยของพระองค์เท่านั้น หากแต่ยังประโยชน์แก่ชาวโลกด้วย เช่น แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่องค์การสหประชาชาติ ได้นำไปเผยแพร่เป็นแนวทางการพัฒนาประเทศต่างๆ โครงการฝนหลวงที่เคยพระราชทานช่วยเหลือแก่ประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น ดังนั้น หากกล่าวว่า นอกจากพระองค์ทรงเป็นพระราชาของไทยแล้ว ยังทรงเป็นพระราชาของโลกด้วยก็ไม่ผิดความจริงแต่อย่างใด

พระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นแบบอย่างในการทำงานเพื่อประโยชน์ตนเองและผู้อื่นอย่างสมบูรณ์ ดังนั้น ในฐานะพสกนิกรใต้ร่มพระบารมี ผู้เขียนก็เป็นเช่นเดียวกับคนไทยทั้งหลาย ที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นหาที่สุดมิได้ของพระองค์ จึงได้ศึกษาหาความรู้และนำความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นเท่าที่กำลังตนเองจะสามารถทำได้ ตามที่ทรงปฏิบัติเป็นแบบอย่างแก่พวกเราชาวไทยตลอด 70 ปีที่ผ่านมา

ผู้เขียนมีโอกาสได้อ่านหนังสือ ราชนีติ ซึ่งเป็นคัมภีร์อินเดียโบราณเขียนขึ้นมา ซึ่งมีฉบับแปลเป็นภาษาไทย ที่ผู้เขียนได้อ่านศึกษามีสองสำนวน คือ ฉบับสำนวนแปลของนายทอง หงส์ลดารมภ์ในชื่อราชนีติ พากษ์บาลีและพากษ์ไทย” ด้วยว่ามีทั้งส่วนภาษาบาลีและส่วนภาษาไทยไว้คู่กัน กับ สำนวนแปลของ เสฐียรโกเศศ หรือ พระยาอนุมาราชธน พิมพ์รวมไว้ในเล่ม นานานีติ อันประกอบไปด้วยคัมภีร์สำคัญสามเรื่อง คือ โลกนีติ ธรรมนีติ และ ราชนีติ โดย ราชนีติ ใช้ชื่อว่า ราชนีติ แบบแห่งพระราชา

มีผู้ศึกษาคัมภีร์ราชนีติก่อนหน้านี้ไว้บ้างแล้ว แต่เป็นการศึกษาในแง่บทเรียนทางธุรกิจและการตลาด ผู้เขียนยังไม่เห็นการศึกษาในฐานะหลักการเมืองการปกครอง ซึ่งหากมีการศึกษาเปรียบเทียบ วิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ เช่นเดียวกับการศึกษาตำราและวรรณกรรมทางฝ่ายจีน เช่น พิชัยสงครามซุนหวู่ ตำราขงจื่อ วรรณกรรมสามก๊ก ก็น่าจะมีประโยชน์เป็นอันมาก

ใน “ข้อความเบื้องต้น” ของฉบับสำนวนแปล นายทอง หงส์ลาดรมภ์ ได้กล่าวถึงคัมภีร์ราชนีติว่า ฉบับภาษาบาลี เป็นของพราหมณ์อนันตญาณ และพราหมณ์คณามิสสกะ และใน “คำชี้แจง” ฉบับเดียวกันได้ให้ข้อมูลว่า “...เป็นหลักปกครองของราชาธิปไตยสมัยโบราณ คนแต่ก่อน ตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่สมัยก่อน พ.ศ.2575 ในเมืองไทยนี้ใช้หลักการนี้แทบทั้งนั้น แม้ในปัจจุบันนี้ถ้ารู้จักใช้ รู้จักผ่อนปรนแก้ไขก็อาจใช้ได้ดี”

เมื่อได้อ่านคัมภีร์ราชนีติ ผู้เขียนได้เปรียบเทียบแนวทางที่กล่าวไว้ในหนังสือกับสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงปฏิบัติตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชสมบัตินั้น พบว่าเป็นไปตามแนวทางที่กล่าวไว้ในคัมภีร์เป็นอันมากดังที่ท่านผู้แปลฉบับนายทอง หงส์ลดารมณ์ได้กล่าวไว้ในคำชี้แจง จึงเกิดความคิดว่า น่าจะบอกเล่าแก่สาธารณชนให้ได้ร่วมรับรู้ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจแห่งนี้ เท่าที่ความสามารถในการบอกเล่าอันน้อยนิดจะทำได้ โดยขอยกข้อความหรือ “คาถา” จากทั้งฉบับของนายทอง หงส์ลดารมภ์ และฉบับของเสฐียรโกเศศ มาไว้ให้ผู้อ่านเทียบเคียงกันทุกครั้งไป

ราชนีติ แม้ชื่อจะบอกว่าเป็นเรื่องของพระราชา แต่ไม่เพียงเฉพาะพระราชาเท่านั้นที่ใช้หลักการต่างๆ ที่ปรากฏในคัมภีร์ บรรดาผู้นำทั้งหลายก็สามารถใช้ประโยชน์ได้เช่นกัน เพราะพระราชากับผู้นำก็มีภาระหน้าที่และความรับผิดชอบในวิถีเดียวกัน

ราชนีติ ศาสตร์สำหรับพระราชา อันยังประโยชน์เห็นทันตาให้สำเร็จ ข้าพเจ้าจะกล่าว เพื่อเป็นเครื่องเพิ่มพูนความรู้ ในการย่ำยีแคว้นผู้อื่นฯ (เสถียรโกเศศ)

ข้าพเจ้าจะแสดงราชนีติ ที่เห็นประโยชน์ทันตา เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ในการขยายพระราชอาณาจักร” (นายทอง หงส์ลดารมภ์)

เห็นได้ว่า การย่ำยีแคว้นผู้อื่นหรือ การขยายพระราชอาณาจักรจากคาถาบทที่ 1 ที่ยกมาข้างบนนี้ก็ท้าทายให้วิเคราะห์ศึกษาปรับใช้ในยุคปัจจุบันเป็นอย่างยิ่งแล้ว