ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป กับการเงินที่เปลี่ยนแปลง

ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป กับการเงินที่เปลี่ยนแปลง

ความพร้อมในโอกาสและเครื่องมือ

ปัจจุบันหากเราถามว่าในไทย มีประชาชนที่ยังไม่มีการฝากเงิน หรือใช้บริการธนาคารพาณิชย์หรือไม่นั้น เป็นที่น่าสนใจคือมีประมาณ 25% ของประชากรที่ยังไม่มีบัญชีเงินฝาก แต่หากถามว่าปริมาณโทรศัพท์มือถือ หรือเลขหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร ต้องยอมรับว่า ปริมาณหมายเลขปัจจุบัน มีจำนวนมากกว่าจำนวนประชากรเป็นจำนวนไม่น้อย 

การสื่อสารระหว่างบุคคล เปลี่ยนแปลงรูปแบบไปจากเดิม อาทิ การสื่อการเดิมจะเป็นการสื่อสารทางโทรศัพท์พูดคุยกันทางเสียง เป็นการสื่อสารที่หลากหลายขึ้นไม่ว่าจะเป็นการคุยผ่านโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต เห็นภาพแต่ละฝ่าย พิมพ์ข้อความส่งถึงกัน และสามารถส่งรูปภาพและวิดีโอหากันได้ด้วย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางด้านการสื่อสาร เกิดจากความมีมากขึ้นของโครงสร้างที่จำเป็น สำหรับการใช้งาน โทรศัพท์มือถือจากเดิมมีปุ่ม เพื่อใช้สำหรับกดเลขหมายเป็นหลัก เป็นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ตัวเล็กๆ ที่หน้าตาคล้ายโทรศัพท์ มีฟังก์ชันหลากหลายให้เลือก และมีการพัฒนาทางเลือกในการใช้บริการมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ความพร้อมในด้านโครงสร้างที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงความต้องการของผู้ใช้งานหรือผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย คือ จากเดิมการดำเนินการทางการเงินมักจะมีการใช้เงินสดเป็นหลัก ลูกค้าจะเข้ามาธนาคารเพื่อทำธุรกรรมทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็น ฝาก ถอน โอน แต่ในปัจจุบันเราอาจเห็นจำนวนของลูกค้าที่มาใช้บริการธนาคารน้อยลง และการทำธุรกรรมทางการเงินมักจะเกิดขึ้นไม่เพียงแต่เวลาทำการของธนาคาร คือ เราเริ่มเห็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นเยอะของลูกค้าบุคคลเป็นเข้าระบบของธนาคารผ่านอินเทอร์เน็ต หรือ Application และทำการชำระบิล โอนเงินต่าง ๆ หลังสี่ทุ่มเพิ่มเติมขึ้นมาก จากเดิมมักจะทำธุรกรรมในเวลาทำการ เป็นทำธุรกรรมนอกสถานที่และนอกเวลา

กติกาใหม่ แนวปฏิบัติใหม่ การเงินใหม่

ด้วยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะจากความพร้อมที่มีมากขึ้นในปัจจุบัน และการปรับตัวของผู้ใช้บริการที่มีการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มขึ้น (โดยเฉพาะเทคโนโลยีนั้นใช้ง่ายมากกว่าเดิมเยอะมาก การออกแบบการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้ามีการพัฒนาดีขึ้น ซึ่งหากสังเกตดู ในปัจจุบันไม่ค่อยมีคู่มือการใช้งานออกมาพร้อมกับผลิตภัณฑ์มากนัก ลูกค้าผู้ใช้ผลิตภัณฑ์นั้นๆ มักสามารถใช้ได้โดยไม่ต้องอ่านคู่มือเหมือนในอดีต) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ในภาครัฐและเอกชน เห็นได้จากโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้น อาทิ National E-Payment, โครงการขยายร้านค้ารับบัตร, โครงการผ่านทางโดยอิเล็กทรอนิกส์ M-Pass, โครงการจองซื้อสลากผ่านช่องทางต่าง ๆ ของธนาคาร (สาขา ATM Internet Banking), โครงการหนังสือค้ำประกันออนไลน์, โครงการผ่านทางโดยความร่วมมือของ M-Pass & EASY Pass, โครงการตั๋วร่วม (แมงมุม)

ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง

จากความพร้อมที่มี และความต้องการที่จะทำให้เกิดการลดค่าใช้จ่าย ประหยัดเวลา และทำให้เกิดความสะดวกเพิ่มเติมขึ้นกับแต่ละบุคคลที่เกี่ยวข้อง (Stakeholders) ทำให้การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นที่ยอมรับ ผมมีตัวอย่างที่น่าสนใจคือ บริการเช็คเกี้ยว .... พวกเราน่าจะเคยได้ยินว่าเกษตรกรที่ปลูกอ้อยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเวลาต้นฤดูการปลูก ต้องไปติดต่อกับโรงน้ำตาลที่ใกล้เคียงและแสดงความจำนวนว่า ณ ปลายปีเวลาเก็บผลผลิตจะนำอ้อยมาส่ง ขณะเดียวกัน ก็จะขอสินเชื่อจากโรงงานน้ำตาลด้วย ซึ่งเป็นการออกเช็คที่ลูกค้าต้องนำไปขายลดกับธนาคารเมื่อต้องการใช้เงิน ดูกระบวนการไม่ได้ยุ่งยากและสามารถดำเนินการได้ แต่ถ้าเราดูลึกๆ แล้ว ในแต่ละโรงงานจะมีเกษตรกรเป็นจำนวนมาก ซึ่งบางครั้งมีมากหลายพันคน และแต่ละคนต้องเดินทางเป็นหลักสิบหรือเกือบร้อยกิโลในการเดินทางไปโรงงาน หรือไปธนาคารเพื่อขึ้นเงินดังกล่าว การทำให้ลูกค้าสามารถใช้เงินสินเชื่อจากผู้รับซื้อได้ และเป็นอิเล็กทรอนิกส์ก็ทำให้ลดเวลาของทุกคนในการดำเนินการดังกล่าว

ตั้งเป้าหมายรองรับการเปลี่ยนแปลง

ความพร้อมนี้เกิดขึ้นแล้วและเราก็ต้องอยู่กับการเปลี่ยนแปลงนี้ ดังนั้นเราที่ทำการค้าขายต้องนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ให้มากที่สุด เมื่อเราใช้เทคโนโลยีแล้ว เราก็สามารถลดต้นทุน หาตลาดใหม่ มีลูกค้าใหม่และอยู่รอดได้ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ได้น่ากลัว และไม่ต้องห่วงว่าการรับรู้การเปลี่ยนแปลงทั้งความคุ้นชินของการใช้เทคโนโลยีไม่มีในประชาชนทั่วไป ปัจจุบันเทคโนโลยีได้ปรับตัวเข้าหาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว