แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าบทเรียนจากสหภาพยุโรป(จบ)

แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าบทเรียนจากสหภาพยุโรป(จบ)

ขณะที่รถยนต์ขนาดใหญ่ (heavy duty vehicles) จะต้องได้มาตรฐาน Euro VI

(มาตรฐานระดับเดียวกับมาตรฐาน Euro 6 ของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถบรรทุกเล็ก) ซึ่งจะส่งผลให้รถยนต์ขนาดใหญ่จะต้องได้รับการรับรองการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงเพิ่มเติม นอกเหนือจากการควบคุมปริมาณฝุ่นละออง ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ คาร์บอนมอนน็อกไซด์ และก๊าซไฮโดรคาร์บอนต่างๆ ที่บังคับใช้อยู่แล้ว (รายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://www2.thaieurope.net/eu-hdv-proposal/) โดยจากงานวิจัยของสถาบัน MOBI พบว่า มีการพัฒนาและวิจัยเทคโนโลยีใหม่ๆ สำหรับยานยนต์ที่ใช้น้ำมันให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเช่น เทคโนโลยีเครื่องยนต์ และระบบวินิจฉัยอุปกรณ์ควบคุมสารมลพิษ (On-Board Diagnostic System - OBD) เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีข้อบังคับ End-of-Live Vehicles Directive(ELV) ซึ่งกำหนดให้ผู้ผลิตวางมาตรการการจัดการซากยานยนต์อย่างถูกวิธีและนำชิ้นส่วน/อะไหล่กลับมาใช้ประโยชน์ในสัดส่วนขั้นต่ำที่กำหนด ตลอดจนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการกำจัดซากยานยนต์ รวมทั้งยังมีระเบียบที่กำหนดให้ยานยนต์ภายใน EU จะต้องได้รับการรับรองการตรวจสอบสัดส่วนที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ รีไซเคิล และดึงทรัพยากรกลับคืน (reusability, recyclability, and recoverability) โดย Dr. Van Mierlo ย้ำว่า กฎระเบียบเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ผู้ประกอบการต้องพัฒนาเทคโนโลยีทางเลือกใหม่ๆ เช่น ระบบไฮบริด ระบบเซลเชื้อเพลิง และระบบแบตเตอรี่ เพื่อให้ได้มาตรฐานตามที่ EU กำหนด ซึ่ง Dr. Van Mierlo มองว่า การพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้ราคายานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะระบบแบตเตอรี่มีราคาที่ถูกลง และตอบโจทย์การใช้งานที่หลากหลายของผู้บริโภคในอนาคต

การประเมินวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life-Cycle Assessment): ความคุ้มค่าการลงทุน

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า คือ ปัจจัยด้านราคาที่ผู้ประกอบการยังมองว่า ยังไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ผู้ประกอบการจึงเลือกที่จะพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันให้มีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

Dr.Messagie ให้ความเห็นว่า การประเมินวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ หรือ LCAเป็นเครื่องมือสำคัญในการประเมินความคุ้มค่า (cost-efficiency) ของยานยนต์แต่ละประเภท ในแง่ของการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด โดยคำนึงถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมดตลอดอายุการใช้งาน โดยครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการใช้ทรัพยากรและพลังงานในการผลิต ตลอดจนการใช้งาน การกำจัดซากผลิตภัณฑ์หลังการใช้ และการนำกลับมาใช้ใหม่

ในบริบทของเบลเยียม ยานยนต์ไฟฟ้ามีความคุ้มค่ามากที่สุดเมื่อพิจารณาถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นมลภาวะทางอากาศ มลพิษทางเสียง และขยะอุตสาหกรรม ซึ่งต่างก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำลายชั้นโอโซน และสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน เนื่องจากวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ โดนกัดกร่อนทำให้เสื่อมสภาพเร็ว โดยยานยนต์ไฟฟ้ามีค่าใช้จ่ายที่คำนวณจากผลกระทบเหล่านี้เพียง 4.75 ยูโรต่อกิโลเมตร ขณะที่ยานยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลมีค่าใช้จ่ายถึง 22.6 ยูโรต่อกิโลเมตร ทั้งนี้ จากงานวิจัยของสถาบัน MOBI ชี้ให้เห็นว่าโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าในเบลเยียมที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์เป็นหลักถึง 55% และการรีไซเคิลส่วนประกอบหลักอย่างเช่นแบตเตอรี่ชนิดลิเธียมไอออน (Lithium Ion) ในยานยนต์ไฟฟ้า เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยานยนต์ไฟฟ้ามีความคุ้มค่ามากกว่ายานยนต์ประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะยานยนต์ที่ใช้น้ำมัน

จะเห็นได้ว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต และโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าที่ประเทศไทยยังพึ่งสัดส่วนจากก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ซึ่งนักวิชาการบางกลุ่มมองว่า การนำก๊าซธรรมชาติมาผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงขับเคลื่อนยานยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงโดยตรง เช่น เชื้อเพลิง CNG ที่ใช้ในรถยนต์ NGV กันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย อาจเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพและไม่คุ้มค่าเท่าที่ควร อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าก็ยังเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมยานยนต์พื้นฐานของไทยที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมใน Supply chain ของโลก และผลักดันความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของโครงการวิจัยเกี่ยวกับนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของสถาบันวิจัย MOBI ได้ที่ http://bit.ly/2ek9G8oและสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของ EU ได้ทาง www.thaieurope.net หรือติดตามและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ผ่าน Facebook “Thaieurope.net” และ Twitter “Thaieurope”