ตามดูลู่ทางการค้าในอุตสาหกรรมผลิตล้อยางของอินเดีย (จบ)

ตามดูลู่ทางการค้าในอุตสาหกรรมผลิตล้อยางของอินเดีย (จบ)

เมื่อตอนที่แล้ว ดิฉันได้เรียนให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบเกี่ยวกับการเข้าร่วมโครงการ

Road Show นำผู้ประกอบการยางพาราไทยสำรวจตลาดและพบผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์และผลิตล้อยางในเขตระเบียงเศรษฐกิจเมืองเจนไน-เมืองบังคาลอร์ ซึ่งจัดโดยสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

นอกจากทางสถานกงสุลใหญ่ฯ จะได้จัดให้คณะผู้ประกอบการไทยได้เข้าร่วมงาน Road Show รวม 3 งานแล้ว คณะของเรายังได้มีโอกาสพบผู้ประกอบการผลิตล้อยางของอินเดียด้วย ซึ่งได้แก่ บริษัท MRF และบริษัท Apollo Tyres

ทางผู้บริหารของบริษัท MRF ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งของอินเดีย ได้ให้เกียรติมาพบกับพวกเรา คือ Mr. Arun Mammen ซึ่งเป็น Managing Director ของบริษัท

ท่านได้กรุณาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตของ MRF ว่า MRF มีฐานการผลิตในเมืองเจนไน รัฐทมิฬนาฑูมามากกว่า 60 ปี แล้ว กว่าร้อยละ 30 ของรายได้จากการลงทุนของ MRF มาจากรัฐทมิฬนาฑู และมีแผนจะลงทุนในรัฐทมิฬนาฑูเพิ่มขึ้นอีกกว่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในอีก 5 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ ปัจจุบัน MRF มีพนักงานกว่า 15,000 คน โดยมี Turnover อยู่ที่ประมาณ 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีกำไรสุทธิประมาณ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ผลิตภัณฑ์ของ MRF ประกอบด้วย ยางประเภทต่างๆ ทั้งยางล้อสำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลยานยนต์สองล้อรถบรรทุก รถบัส รถแทร็คเตอร์ ยานพาหนะที่ใช้ขนส่ง และยางรถ off-the-road รวมถึงยังผลิต conveyor belting ด้วย

Mr.Arun Mammen กล่าวว่าท่านไปเมืองไทยค่อนข้างบ่อย ได้ไปพบปะผู้คนและลูกค้า ชอบเมืองไทยมาก และที่สำคัญ ท่านยินดีที่จะรับซื้อยางจากประเทศไทยที่มีคุณภาพ

ปัญหาอุปสรรคสำคัญของการซื้อยางจากประเทศไทย คือ อัตราภาษีนำเข้าของอินเดียที่ค่อนข้างสูง ซึ่งอาจจะทำให้ราคายางจากประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันกับราคายางในประเทศของอินเดียได้

ในส่วนของการสั่งซื้อยางนั้น หากผู้ประกอบการของไทยรายได้สนใจ ก็สามารถติดต่อผ่านมาที่ฝ่ายจัดซื้อของบริษัทโดยตรง นั่นคือ Mr. Mohan Kurian ตำแหน่ง Vice President – Material ซึ่งล่าสุดก็เพิ่งเดินทางไปประเทศไทย และได้มีโอกาสไปดูแหล่งผลิตยางของไทยทางภาคใต้และภาคอีสานของไทย โดย Mr.Kurian จะเป็นผู้พิจารณาในส่วนของคุณภาพและราคา

นอกจากบริษัท MRF ในเมืองเจนไนแล้วเรายังได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตล้อยางของ Apollo Tyres ที่เมือง Sriperumbudur เขต Kancheepuram ด้วย

โรงงานของ Apollo Tyres ดังกล่าวอยู่ห่างจากเมืองเจนไนมาตามเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจเมืองบังคาลอร์ประมาณ 55 กิโลเมตร ซึ่งใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาที เนื่องจากถนนเป็นถนนวิ่งสวนกันข้างละ 2 ช่องทาง และมีการจราจรที่หนาแน่น มีรถบรรทุกวิ่งจำนวนมาก เพราะอยู่ในเขตที่ตั้งของเขตเศรษฐกิจพิเศษหลายแห่ง มีทั้งโรงงานขนาดใหญ่ตั้งอยู่ตามรายทางเป็นระยะ

ทางบริษัท Apollo Tyresได้ให้ข้อมูลว่า ในช่วงปี 2559 นี้ เป็นช่วงที่ดีช่วงหนึ่งของบริษัทฯ โดยล้อยางรถบรรทุก ประเภท truck bias tyres มีการเติบโตประมาณร้อยละ 9 ขณะที่ประเภท truck radial tyres มีการเติบโตประมาณร้อยละ 4 และยางล้อรถยนต์ มีการเติบโตประมาณถึงร้อยละ 30

ในส่วนของตลาดอินเดียของบริษัท Apollo Tyres นั้น โดยที่มีเทรนด์ของการเติบโตในส่วนของ farm trucks เพิ่มขึ้น ดังนั้น อุปสงค์ของยางล้อสำหรับยานยนต์เพื่อการเกษตรจึงมีเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ตลาดยุโรป สำหรับบริษัท Apollo Tyres ก็สดใสมากขึ้น โดยสามารถส่งออกยางไปยังยุโรปเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 3-4 ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559

อย่างไรก็ดี ปัญหาอุปสรรคสำคัญสำหรับตลาดยางล้อของอินเดีย ก็คือ การเข้ามาตีตลาดของยางล้อจำนวนมากจากประเทศจีน โดยขณะนี้ มียางล้อจากจีนประเภท Truck Radial Tyre มีส่วนแบ่งในตลาดอินเดียประมาณร้อยละ 32-33

ทางสมาคมผู้ผลิตล้อยางของอินเดียจึงเห็นว่า การนำเข้ายางจากประเทศจีนมาเป็นจำนวนมากนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตล้อยางท้องถิ่นของอินเดีย จึงได้ขอให้รัฐบาลอินเดียมีมาตรการสกัดกั้น เช่น การตั้งกำแพงภาษีให้สูงขึ้น เนื่องจาก หากอุตสาหกรรมล้อยางของอินเดียมีปัญหาจากการแข่งขันกับยางราคาถูกจากจีน ก็จะส่งผลกระทบต่อลูกจ้างคนอินเดียและผู้ผลิตยางในประเทศอินเดียด้วย

อย่างไรก็ดี ทางบริษัท Apollo Tyres มองว่า ตลาดล้อยางในอินเดียจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องต่อไป ซึ่งทางบริษัทฯ ได้เตรียมแผนที่จะเพิ่มการผลิตล้อยางให้มากขึ้น โดยจะเริ่มเพิ่มกำลังการผลิตภายในเดือนตุลาคม 2559 ให้มากขึ้น และบริษัทฯ จะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับบริษัทผลิตรถยนต์อย่าง BMW Mercedes Benz และ General Motors ด้วย

นอกจากนี้ ในส่วนของการขยายตลาดในยุโรป ทาง บริษัท Apollo Tyres มีแผนจะสร้าง R&D Center ที่เมือง Frankfurt เยอรมนี โดยจะมีวิศวกรประมาณ 35 คน ทำงานในส่วนของการพัฒนายางล้อและการทดสอบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

อีกทั้งยังจะตั้ง Greenfield Plant แห่งใหม่ที่ประเทศฮังการี ในเดือนมีนาคม 2560 นี้ด้วย

ซึ่งในเรื่องนี้ จะส่งผลต่อการเปลี่ยนโฉมเทคโนโลยีและแผนการลงทุนของบริษัทในภาพรวมในอนาคต

----------------------

ดร.พรพิมล สุคันธวณิช

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน