ข้าวถุงแฮนด์เมด

ข้าวถุงแฮนด์เมด

อันเนื่องมาจากผลผลิตข้าวล้นตลาด จึงส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกและภายในประเทศ

มีราคาตกต่ำ ชาวนาบางส่วนก็หาทางช่วยตัวเอง โดยการสีข้าวและนำออกขายเอง ข้าวที่ชาวนาสีและขายเองอาจแยกได้สามระดับคือ ระดับครอบครัวหรือกลุ่มชาวนาหรือเป็นวิสาหกิจชุมชนขนาดเล็กที่ใช้เครื่องสีข้าวขนาดเล็ก ระดับกลุ่มชาวนาหรือวิสาหกิจชุมชนขนาดกลางที่ใช้เครื่องสีข้าวขนาดกลาง ระดับสหกรณ์ชาวนาที่มีศักยภาพที่มีโรงสีของสหกรณ์ นอกจากนี้ อาจมีชาวนาบางส่วนจ้างโรงสีในท้องถิ่นสีข้าวโดยเก็บไว้บริโภคเองส่วนหนึ่ง ส่วนที่เหลือก็นำไปขายตามช่องทางที่เปิดโอกาสให้

ชาวนาสีข้าวแล้วขายเอง โดยเฉพาะที่ดำเนินการในระดับครอบครัว หรือกลุ่มชาวนาหรือวิสาหกิจชุมชนขนาดเล็กที่ใช้เครื่องสีข้าวขนาดเล็ก ไม่มีจุดประสงค์แข่งกับธุรกิจ แต่เพื่อพึ่งพาตนเองให้มีช่องทางระบายข้าว สามารถขายข้าวได้บางส่วนในราคาที่เหมาะสมยามข้าวมีปัญหาราคาตกต่ำ ให้มีรายได้มาจุนเจือใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีพเป็นเบื้องต้น ผลตามมาจะช่วยให้ชาวนามีอำนาจต่อรองมากขึ้น และเป็นช่องทางพัฒนาให้วิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์มีความก้าวหน้าเข้มแข็งพึ่งพาและเลี้ยงตัวเองได้ในระยะต่อไป ไม่ต้องรอแต่ความช่วยเหลือจากรัฐบาลซึ่งไม่ยั่งยืนแต่เพียงอย่างเดียว

คุณภาพมาตรฐานของข้าวที่วางขายตามท้องตลาด หรือที่ส่งออกมีการคัดและจัดชั้นคุณภาพ เป็นข้าวชนิดต่างๆ เช่น ข้าวเปลือกเจ้าเมื่อสีเป็นข้าวสารเรียกว่าข้าวขาว ชั้นคุณภาพ แยกเป็นชนิด เช่น ข้าวขาว100 เปอร์เซ็นต์ ข้าวขาว 5 เปอร์เซ็นต์ ข้าวขาว 10 เปอร์เซ็นต์ ข้าวขาว 15 เปอร์เซ็นต์ ข้าวขาว 25 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เป็นข้าวหอม ก็มีการจัดชั้นคุณภาพ ทำนองเดียวกับข้าวเจ้า โดยมีคุณภาพในส่วนของจำนวนเปอร์เซ็นต์ ข้าวหอมกำหนดไว้นอกเหนือจากคุณภาพด้านอื่นด้วย

เกณฑ์ที่ใช้ในการขัดชั้นคุณภาพข้าวชนิดต่างๆ ที่สำคัญแยก อาจได้เป็นสามเกณฑ์ คือ เกณฑ์แรก จำนวนข้าวหักที่มีปนอยู่ ถ้ามีข้าวหักปนอยู่น้อย ก็เป็นข้าวคุณภาพดี ข้าวขาว 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นข้าวคุณภาพดีสุด มีข้าวหักไม่เกิน 4.5 เปอร์เซ็นต์ ลำดับรองลงไปคือข้าวขาว 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นข้าวที่มีข้าวหักปนอยู่ ไม่เกิน 7 เปอร์เซ็นต์ เกณฑ์ที่สองคือ ต้องไม่มีข้าวเมล็ดเสีย เมล็ดบกพร่อง เช่นเมล็ดสีดำ เมล็ดฝ่อ เมล็ดถูกแมลงกัดแทะ ปนอยู่ หากมีปนอยู่ต้องไม่เกินอัตราที่กำหนดของข้าวแต่ละชนิด วิธีพิจารณาง่ายฯคือ ข้าวคุณภาพดีในข้าวสาร 100 เมล็ด ไม่ควรมีข้าวเมล็ดเสียปนอยู่เกินหนึ่งหรือสองเมล็ด เกณฑ์ที่สามคือระดับการขัดสี ข้าวคุณภาพดีต้องมีระดับการขัดสี จนรำเกลี้ยงขาว วาวเป็นมัน และลดหลั่นไปตามลำดับชั้น

จากเกณฑ์ของการจัดชั้นคุณภาพข้าวดังกล่าวข้างต้น ชาวนาที่สีข้าวและขายเองระดับครอบครัวหรือวิสาหกิจชุมชนขนาดเล็ก ที่ใช้เครื่องสีข้าวขนาดเล็ก ก็สามารถที่จะปรับปรุงคุณภาพและจัดลำดับคุณภาพข้าวที่สีเองได้ ดังนี้

ในกรณีใช้เครื่องสีข้าวขนาดเล็กรุ่นเก่าที่ยังไม่มีตระแกรงร่อนข้าวในตัว สามารถร่อนคัดแยกข้าวหัก โดยใช้เครื่องมือพื้นบ้านที่เคยใช้และเคยทำกันมา คือกระด้ง ฝัดข้าวเพื่อแยกสิ่งที่ไม่ใช่เนื้อข้าวออกไป ขั้นต่อไป คือกระทายข้าว เพื่อแยกและคัดข้าวหักออกไป เครื่องมือมี่ใช้ในการกระทายคือกระด้ง โดยเขย่าลักษณะกระแทก จนข้าวหักหรือข้าวปลายกระจายแยกออกจากข้าวเต็มเมล็ด หรือข้าวเต็ม ซึ่งต้องเป็นผู้มีประสบการณ์พอสมควรจึงร่อนด้วยวิธีนี้ได้ หรือจะใช้วิธีร่อนโดยใช้ตระแกงรูกลมเบอร์เก้า ร่อนแบบร่อนทรายก็ได้

ขั้นต่อไปคือการคัดข้าวเมล็ดเสียออกไป โรงสีทันสมัยมีเครื่องคัดและดีดข้าวเมล็ดเสีย ข้าวเมล็ดดำ เหลืองออกไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งชาวนาก็สามารถกระทำได้ โดยเทข้าวสารลงในกระบะที่มีพื้นสีขาว หรือในกระด้งที่ปูด้วยผ้าพลาสติกสีขาวก็ได้ แล้วรุมล้อมช่วยกันเขี่ยออกก็ได้เช่นกัน แม้ต้องใช้เวลาในการดำเนินการอยู่บ้างก็ตาม สำหรับการขัดสีนั้น หากเป็นเครื่องสีขนาดเล็กรุ่นเก่าก็อาจขัดสีรำออกไม่เกลี้ยง แต่ถ้าเป็นเครื่องรุ่นใหม่สามารถขัดสีได้ไม่แพ้ข้าวจากโรงสีขนาดใหญ่ แต่ก็ยังด้อยอยู่บ้างที่ไม่สามารถขัดสีจนวาวมันได้ แต่จะได้เปรียบในเรื่องคุณค่าทางโภชนาการ มากกว่าข้าวที่ขัดสีจนขาววาวมัน

ขั้นต่อไปคือ การตักข้าวบรรจุในถุงพลาสติกธรรมดา ขนาดที่เหมาะสม อาจมีทั้งขนาดสองกิโลกรัม ขนาดห้ากิโลกรัม นำขึ้นชั่งให้ได้น้ำหนักครบเต็ม และควรจัดทำสลากระบุชนิดข้าว น้ำหนัก ชื่อชาวนาหรือวิสาหกิจชุมชน วันที่ที่ผลิต สถานที่ตำบลที่ตั้งของผู้ผลิต อาจใช้กระดาษเอ4 เขียนด้วยลายมือชาวบ้าน หรือพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ แล้วพิมพ์ออกก็ได้ แล้วมัดปากถุงด้วยเชือกปอเย็บกระสอบหรือจะเย็บก็ได้ ซึ่งสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นในลำดับต่อไป ข้าวถุงดังกล่าวอาจเรียกได้ว่าเป็นข้าวถุงแฮนด์เมด และสามารถเสริมสร้างหรือระบุอัตลักษณ์เฉพาะโดดเด่นเพิ่มขึ้น เช่นเป็นข้าวพันธ์พิเศษเฉพาะท้องถิ่นก็ได้

ข้าวถุงแฮนด์เมด ดังกล่าวน่าจะสอดคล้องกับโครงการส่งเสริมข้าวไทยของกรมการค้าต่างประเทศ ตามที่ได้มีการแถลงข่าวเปิดตัวเมื่อเร็วๆ นี้ คือ กรมการค้าต่างประเทศ เปิดโครงการ อัตลักษณ์ข้าวไทย ทางเลือกใหม่สู่ความยั่งยืน ซึ่งเป็นโครงการที่นายกรัฐมนตรี ต้องการที่จะส่งเสริมให้คนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่อยู่ในอาชีพเกษตรกรรมปลูกข้าว น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต โดยสร้างศูนย์กลางข้อมูลและองค์ความรู้ข้าวเป็นศูนย์กลางข่าวสารสารสนเทศ และเชื่อมโยงผู้ผลิตกับผู้บริโภคทั่วโลก ใช้เป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย ปรับโครงสร้างการบริหารจัดการข้าว ทั้งระบบในรูปแบบที่ไม่ทำลายกลไกตลาด เน้นการรักษาสมดุลระหว่างความต้องการกับการผลิตให้สอดคล้องกับภาวะตลาด สามารถแข่งขันได้ สร้างค่านิยมให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญของการพึ่งพาตนเองและพัฒนาอย่างยั่งยืน มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาข้าวไทยอย่างเป็นระบบและยั่งยืนตาม นโยบายการพัฒนาสู่ตลาดข้าวคุณภาพ ซึ่งชาวนาสามารถติดต่อเข้าร่วมโครงการกับกรมการค้าต่างประเทศเพื่อต่อยอดพัฒนาต่อไปได้