ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯต่อเศรษฐกิจ และตลาดการเงินโลกและไทย

ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯต่อเศรษฐกิจ และตลาดการเงินโลกและไทย

เป็นที่ทราบกันดีว่า ขนาดเศรษฐกิจและจีดีพีของสหรัฐอเมริกานั้น ใหญ่ที่สุดในโลก

มีมูลค่าประมาณ 17,946 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (การคำนวณของธนาคารโลก) หรือ 18,558 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (การคำนวณของไอเอ็มเอฟ) คิดเป็นสัดส่วนประมาณหนึ่งในสี่ของเศรษฐกิจโลก โดยจีดีพีโลกอยู่ที่ 73.993 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้น “เศรษฐกิจจีน” จะเติบโตขึ้นมาอยู่อันดับสอง (หากไม่นับรวมอียู) แต่จีนก็ยังมีจีดีพีในระดับ 10.886 ล้านล้านดอลลาร์ยังห่างจากอันดับหนึ่งมาก เฉพาะบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่สัญชาติสหรัฐฯ ก็มีขนาดมูลค่าบริษัทและทรัพย์สินใหญ่กว่า หรือเท่ากับจีดีพีของประเทศไทยแล้ว ไล่เรียงตั้งแต่ General Electric, Ford Motor, General Motor, Exxon Mobil, Microsoft, Google, Facebook เป็นต้น บทบาทของเครือข่ายสถาบันการเงินสหรัฐฯ ที่มีต่อระบบการเงินโลกมีมาก เห็นชัดๆ ก็ตอนเกิดวิกฤตการณ์สินเชื่อซับไพร์มเมื่อปี ค.ศ. 2008-2009 จนกระทั่งบัดนี้ เศรษฐกิจโลกก็ยังไม่เข้าสู่ระยะการฟื้นตัวเต็มที่ แม้นธนาคารกลางประเทศพัฒนาแล้วจะประสานเสียงด้วยนโยบาย QE กันหลายรอบแล้วก็ตาม การตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ จึงส่งผลอย่างมากต่อความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้น ตลาดทองคำ ตลาดน้ำมันล่วงหน้า ค่าเงินสกุลหลักและเงินบาท รวมทั้งตลาดหุ้น

 แม้นเป็นระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่สหรัฐอเมริกาก็เป็นลูกหนี้รายใหญ่สุด มีหนี้สาธารณะจำนวนมาก มีสถาบันการเงินทั่วโลกทั้งธนาคารกลาง ธนาคารเอกชน นักลงทุน ถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เงินดอลลาร์สหรัฐฯอยู่จำนวนมหาศาล นโยบายเศรษฐกิจของท่านผู้นำคนใหม่จึงสำคัญต่อตลาดการเงินโลก ทำไมผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนจับตามอง เพราะมันมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกอย่างมาก แน่นอนที่สุด “ไทย” เป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมโลกก็ยากหลีกเลี่ยงผลอันอาจเกิดขึ้น

 เพียงแค่มีข่าวว่า คะแนนนิยมของ “โดนัล ทรัมป์แห่งพรรครีพับรีกัน” เริ่มมีคะแนนนิยมมากกว่า “ฮิลลารี่ คลินตลันแห่งพรรคแดโมแครต” เท่านั้น ตลาดการเงินโดยเฉพาะตลาดหุ้นก็ออกอาการทรุดลงทันที

ก่อนหน้าช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผลการสำรวจความเห็นให้ ฮิลลารี่ คลินตัน นำอยู่ 42% ต่อ 36% นั้น ตลาดการเงินคาดหวังในทางบวกและมองว่านโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศโดยเฉพาะด้านการค้าของสหรัฐจะไม่เปลี่ยนแปลงมาก ไม่มีการรื้อข้อตกลงการเปิดเสรีและการค้าต่างๆมาเจรจากันใหม่ ความเสี่ยงในการทำสงครามทางการค้ากับจีนมีน้อย การกีดกันทางการค้าและการปกป้องตลาดภายในไม่รุนแรง 

 สิ่งที่อ่อนไหวมาที่สุดจากผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ก็คือ ตลาดการเงินและการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้น การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ (Capital Flows) อาจแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ตามนิยามในการจัดทำดุลการชำระเงิน (Balance of Payment) คือ เงินลงทุนโดยตรง (Foreign Direct Investment), เงินลงทุนระยะสั้น (Portfolio Investment) และ เงินทุนเคลื่อนย้ายระยะสั้น (Short Term Capital Flows)

เงินลงทุนโดยตรงของบรรษัทข้ามชาติสหรัฐฯในไทย ซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาว เป็นการลงทุนที่เป็นประโยชน์ต่อการจ้างงานและประเทศไทยในด้านการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการส่งผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่          เม็ดเงินลงทุนเหล่านี้ไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากผลการเลือกตั้งอย่างมีนัยยสำคัญอะไร แต่การลงทุนส่วนหนึ่งอาจเคลื่อนย้ายไปพม่ามากขึ้น โดยเฉพาะถ้า “ฮิลลารี่ คลินตัน” ชนะเลือกตั้ง สหรัฐอเมริกาจะดำเนินนโยบายใกล้ชิดเมียร์มาร์มากขึ้น หลังจากรัฐบาลโอบามาได้ยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ คงได้เห็นบรรษัทข้ามชาติพลังงานสัญชาติสหรัฐฯเดินหน้าลงทุนในพม่าอย่างเต็มรูปแบบ ส่วน “ไทย” นั้น นโยบายการลงทุนของสหรัฐฯคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยสำคัญหากสามารถจัดการเลือกตั้งได้ในปลายปีหน้า เม็ดเงินลงทุนของกลุ่มทุนสหรัฐอเมริกาในไทยอยู่ในอันดับต้นๆมาตลอด ในปี พ.ศ. 2555 (ก่อนรัฐประหาร) อยู่ที่ 22,782 ล้านบาท ช่วง ส.ค. พ.ศ. 2558 ถึง ส.ค. พ.ศ. 2559 เม็ดเงินลงทุนอยู่ที่ราว 6,115 ล้านบาทหาก “สหรัฐฯ” เห็น “ไทย” เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคได้ ก็น่าจะเร่งลงทุนในไทยมากขึ้น 

ส่วนการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้น Portfolio Investment ที่เป็นการเก็งกำไรระยะสั้นนั้น สำหรับประเทศเปิดที่มีขนาดเล็ก (Small Open Economy)คงต้องเผชิญความผันผวนไประยะหนึ่งทั้งตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศช่วงก่อนและหลังเลือกตั้ง สำหรับไทยแล้ว ความผันผวนไม่น่าจะมาก โดยเงินบาทอาจมีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากเงินไหลกลับไปถือดอลลาร์มากขึ้นซึ่งเป็นผลจากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลาง มากกว่า ปัจจัยการเมือง (ผลการเลือกตั้ง) ส่วนตลาดหุ้นไทยการขึ้นลงในช่วงไตรมาสสี่น่าจะเป็นผลจากปัจจัยภายในมากกว่า ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีมีผลค่อนข้างจำกัดมากต่อตลาดหุ้น เสถียรภาพของตลาดทุนไทยกระเตื้องขึ้นจากการดำเนินการอย่างเรียบร้อยระยะเปลี่ยนผ่าน

หาก “โดนัล ทรัมป์”ชนะการเลือกตั้งซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ เพราะมีกลุ่ม Swing Vote อยู่จำนวนมาก และ มีหลายมลรัฐใหญ่เป็น Swing Vote State คนจะเป็นประธานาธิบดีไม่ใช่ผู้ชนะเสียงข้างมากจาก Popular Vote หากชนะต้องได้เสียงจากคณะผู้เลือกตั้งของแต่ละมลรัฐ Electoral Vote มากกว่า ผลการเลือกตั้งเคยพลิกผันมาแล้ว สมัย จอร์จ ดับเบิลยู บุช (ได้คะแนน Electoral Vote มากกว่า) แข่งกับ อัล กอร์ (ชนะ Popular Vote) หรือ ล่าสุด คนจำนวนมากก็คาดว่า ผล Brexit จะแพ้ แต่ในที่สุดชนะ และ อังกฤษต้องออกจากอียู ส่งผลต่อความผันผวนตลาดการเงินและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอียูมากพอควร

ยิ่งผลการเลือกตั้งมีความไม่แน่นอนสูงและโอกาส “ทรัมป์” ชนะเลือกตั้งมากเท่าไหร่ จะยิ่งส่งผลต่อความผันผวนในตลาดการเงินโลกมากเท่านั้น ส่วนตลาดการเงินไทยคงได้รับผลกระทบหางเลขไม่มาก

หาก “โดนัล ทรัมป์” ทำตามนโยบายที่ประกาศเอาไว้ อาจจะทำให้ความมั่นคงของระบบการเมืองระหว่างประเทศหวั่นไหวได้ โดยเฉพาะประเด็นไม่สนับสนุนพันธมิตรอย่าง NATO หรือ การลดบทบาทของสหรัฐฯในเอเชีย นโยบายท่าทีแข็งกร้าวทางการค้าต่อจีนมากขึ้นพรรครีพับรีกันเสนอมาตรการลดภาษีชุดใหญ่ทั้งภาษีบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลหวังกระตุ้นการลงทุน การจ้างงานและทำให้เศรษฐกิจขยายตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็จะตัดงบประมาณทางด้านสาธารณสุขและการศึกษาลงบางส่วนเพื่อให้เอกชนและกลไกตลาดเข้ามาทำหน้าที่แทนสวัสดิการโดยรัฐ ทบทวนข้อตกลงการค้า FTA ต่างๆคุมเข้มผู้อพยพ  ส่วน นโยบายของแดโมแครตนำโดย ฮิลลารี่ คลินตัน นั้น จะเน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ลงทุนกิจการพลังงานสะอาดพลังงานทางเลือก เดินหน้านโยบาย Obamacare สวัสดิการทางการแพทย์ และ ทำให้ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เดินหน้า TPP (อาจมีการทบทวนบ้าง) และ FTA ต่างๆ เปิดกว้างให้กับผู้อพยพมากกว่า

  .............................................................................................

 

ผลการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา ต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกและไทย ตอนจบ

ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของ ทรัมป์ หรือ นโยบายของ ฮิลลารี่ หลายนโยบายต้องผ่านรัฐสภา ซึ่งเป็นกลไกปรกติของประเทศประชาธิปไตย หากวิเคราะห์ผลกระทบ ต้องดูด้วยว่า ผลการเลือกตั้ง ส.ส. ประมาณ 2 ใน 3ในวันเลือกตั้งประธานาธิบดี ประชาชนตัดสินใจอย่างใด

ตอนนี้ พรรครีพับรีกันครองเสียงข้างมากทั้งสองสภา โอกาสในการเกิดสภาวะชะงักงันทางการเมือง (Political Gridlock) หลังการเลือกตั้งมีอยู่ไม่น้อย เสียงส่วนใหญ่พรรครีพับรีกันเคยทำให้ “บารัค โอบามา” เกิดการติดขัดในการบริหารประเทศมาแล้ว

ย้อนกลับไปช่วงปลายปี พ.ศ. 2556 เส้นตายเรื่องการขยายเพดานหนี้สาธารณะในวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556ได้สร้างความผันผวนปั่นป่วนต่อเศรษฐกิจโลกและตลาดการเงินโลกไม่น้อย และเกิดความหวั่นวิตกว่าหากสหรัฐอเมริกาผิดนัดชำระหนี้ อะไรจะเกิดขึ้น เพราะบรรดาธนาคารกลางประเทศต่างๆ ทุนสำรองระหว่างประเทศของประเทศต่างๆ สถาบันการเงิน ธนาคาร นักลงทุนถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯไว้จำนวนมาก

 การปิดที่ทำการบางแห่งของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเป็นผลจากรัฐสภาไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการจัดสรรงบประมาณปี 2014 ซึ่งพรรครีพับรีกันนำมาต่อรองเรื่องการบังคับใช้กฎหมายประกันสุขภาพของรัฐบาลโอบามา (ObamaCare) โดยทำให้เจ้าหน้ารัฐการไม่ได้รับเงินเดือนและหยุดงานชั่วคราวประมาณ 800,000 คนคิดเป็น 0.5% ของกำลังแรงงานของสหรัฐอเมริกา กรณีดังกล่าวส่งผลต่อความเชื่อมั่น การชะลอตัวของการบริโภคและการลงทุนในสหรัฐฯอยู่บ้าง แต่ไม่น่าจะรุนแรงหรือมีนัยยสำคัญมากเพราะเหตุการณ์ไม่น่าจะยืดเยื้อ ส่วนผลกระทบจากกรณีดังกล่าว

รัฐบาลโอบามาต้องการให้เก็บภาษีคนรวยในอัตราสูง ไม่ปรับลดสวัสดิการสำหรับคนมีรายได้น้อยและจัดการให้คนยากจนเข้าถึงการประกันสุขภาพ และ รัฐบาลฮิลลารี่คงรักษาจุดยืนทางนโยบายนี้ไว้ ขณะที่พรรครีพับรีกันต้องการให้มีการปฏิรูปภาษีโดยรวม ไม่มุ่งเป้าไปที่คนรวยหรือผู้ประกอบการนักลงทุนเพราะมองว่าจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวและการจ้างงานลดลง นอกจากนี้ยังต้องการให้มีการปรับลดสวัสดิการบางอย่างลง แน่นอน รัฐบาลทรัมป์ก็จะเดินตามแนวของรีพับรีกัน

อำนาจในการขยับเพดานหนี้นั้นเป็นอำนาจของสภาคองเกรสในการควบคุมฝ่ายบริหาร นับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐฯได้ขยับเพดานหนี้มาไม่ต่ำกว่า 100 ครั้ง ปรับเพิ่มเพดาน 94 ครั้ง ปรับลดลง 10 ครั้ง ระดับหนี้สาธารณะของสหรัฐฯปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังวิกฤตการณ์สถาบันการเงินและวิกฤติสินเชื่อซับไพร์ม จนกระทั่งหนี้สาธารณะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 105% ต่อจีดีพีจากระดับ 75% ในปี พ.ศ. 2551 บางครั้งการปล่อยให้กลไกตลาดทำงานโดยรัฐไม่เข้าไปควบคุมกำกับดูแลให้ดีอาจก่อให้เกิดความผันผวนต่อเศรษฐกิจมหภาคได้ อย่างเช่น วิกฤตการณ์สถาบันการเงินและตลาดการเงินในสหรัฐอเมริกาช่วงปี พ.ศ. 2551-2552 (ค.ศ. 2008)เกิดความไม่มีเสถียรภาพขึ้นในระบบการเงิน ว่างงานสูง รัฐจึงควรมีบทบาทในการบรรเทาความผันผวนและความไม่มีเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและเศรษฐกิจมหภาค ในกรณีของสหรัฐอเมริกา รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายแทรกแซงเพื่อเข้าอุ้มระบบสถาบันการเงินอย่างเต็มที่กรณีของสหรัฐอเมริกา รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายแต่นโยบายเหล่านี้ก็ก่อเกิดปัญหาหนี้ภาครัฐจำนวนมหาศาล หากเป็นประเทศเล็กๆอย่าง กรีซ สเปน ไซปรัส ก็คงสูญเสียความน่าเชื่อถือและถูกเรียกหนี้คืน ตราสารทางการเงินและพันธบัตรก็คงด้อยค่า สหรัฐฯยังคงได้เปรียบเนื่องจากผู้คนยังเชื่อถือเงินดอลลาร์และเงินยังคงไหลเข้ามาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอยู่เพราะยังไม่มีอะไรที่ทดแทนได้อย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็น “ทองคำ” หรือ “เงินสกุลหลักอื่นๆ”  

รายจ่ายก้อนใหญ่อีกก้อนหนึ่ง คือ บำนาญและผลประโยชน์ของข้าราชการคำนวณแล้วในอนาคตจะต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 23.4 ล้านล้านดอลลาร์ รัฐบาลจึงต้องหาเงินรายได้เพิ่มโดยรวมเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 86.8 ล้านล้านดอลลาร์ เท่ากับว่า หนี้สาธารณะต่อจีดีพี พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 550% ของจีดีพี (ข้อมูล2-3 ปีที่แล้วตอนเกิดความขัดแย้ง US Government Shutdown) หลักการของระบบประกันสังคมในสหรัฐฯ คือ คนทำงานในปัจจุบันจ่ายค่าสวัสดิการเกษียณอายุให้กับผู้ชราภาพในปัจจุบัน ในอนาคตปัญหาภาระทางการเงินของกองทุนประกันสังคมจะมากขึ้นตามลำดับ เพราะประชากรในวัยทำงานลดลง ขณะที่คนเกษียณอายุรอเงินสวัสดิการประกันสังคมดูแลเพิ่มมากขึ้น

ปัญหาเพดานหนี้สาธารณะจะยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลใหม่สหรัฐฯต่อไป รัฐบาลฮิลลารี่เลือกใช้วิธีขึ้นภาษีคนรวย ทรัมป์เสนอวิธีตัดสวัสดิการบางอย่างและให้ประชาชนช่วยเหลือตัวเอง สิ่งนี้ควรเป็นอุทาหรณ์บทเรียนให้รัฐบาลไทยพีงระมัดระวังในการก่อหนี้และการใช้จ่ายเงินให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใสเช่นกัน พรรคการเมืองไทยที่จะเสนอตัวมาบริหารประเทศปลายปีหน้าก็ต้องมีข้อเสนอทางออกเช่นเดียวกันว่า เราจะจัดการปัญหาหนี้ภาครัฐและโครงสร้างงบประมาณของเราอย่างไร 

แม้น ผมจะยินดีในฐานะอดีตกรรมการนโยบายและกำกับบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ที่ได้เห็นระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีล่าสุดของไทยลดลงในรอบหลายปี แต่ผมก็ยังคงกังวลว่า การก่อหนี้เพื่อการลงทุนยังไม่สามารถเดินหน้าได้ตามเป้า อาจทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจได้ในอนาคตหากไม่เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ

ไม่ว่า ไทย หรือ สหรัฐอเมริกา ล้วนใช้ระบอบประชาธิปไตยแต่ก็มีความแตกต่างกันทั้งเนื้อหา และ รูปแบบ ประชาธิปไตยไทยยังต้องพัฒนาอีกมากและไม่สมบูรณ์ ขณะที่ของสหรัฐอเมริกาก็มีจุดอ่อนจุดด้อยมากไม่ได้สมบูรณ์แบบ  การแข่งขันชิงทำเนียบขาวก็มีการโจมตีสาดโคลนกันอย่างหนัก แต่ขอให้ “ท่านผู้อ่าน” มองในแง่ดีว่า แบบนี้ดีกว่าระบบปิดที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ การแฉกันไปกันมาของนักการเมือง ย่อมทำให้ “ประชาชนตาสว่าง” มากขึ้น คุณภาพประชาธิปไตยเกิดขึ้นเมื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีความรู้มีวิจารณญาณที่ดี แยกแยะ “ข้อเท็จ” “ข้อจริง” สังเคราะห์ข้อมูลและเปรียบเทียบ “ข้อดี” “ข้อเสีย” ของนโยบาย จุดอ่อนจุดแข็งของผู้นำทางการเมืองที่เสนอตัวมารับใช้ได้ ย่อมดีกว่า ระบบที่ถูกออกแบบให้ “เสียงของประชาชน” ไม่มีความหมายและไม่มีสิทธิเลือกผู้นำของตัวเอง การเลือกตั้งที่ประชาชนไม่มีสิทธิเลือกผู้นำจะกลายเป็น “พิธีกรรม” รองรับผู้นำที่ไม่ได้ผ่านการเลือกจากประชาชน

ในประเทศที่มีระบบและกลไกที่ดี มีสถาบันต่างๆเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของทรัมป์ หรือของฮิลลารี่ ก็ต้องผ่านการตรวจสอบถ่วงดุลจากอำนาจรัฐสภา อำนาจตุลาการ อำนาจสื่อมวลชน อำนาจของกลุ่มผลประโยชน์ และเสียงทักท้วงจากนักวิชาการและระบบข้ารัฐการ ผลของการเลือกตั้งต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกจึงไม่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด โอกาสที่นโยบายไม่เข้าท่า มาตรการสุ่มเสี่ยง พฤติกรรมบ้าๆของผู้นำ สุดขั้วสุดโต่งมีโอกาสนำไปสู่การปฏิบัติได้น้อยมาก เพราะระบบของสหรัฐอเมริกานั้นย่อมไม่เหมือน ระบบของ “เกาหลีเหนือ” ไม่ใช่ “ซีเรีย” ไม่ใช่ “รัสเซีย” หรือ ไม่ใช่จีน

ความเสี่ยงที่ระบบการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาจะได้ ผู้นำแบบอด๊อฟ ฮิตเลอร์ เฟอร์ดินันท์ มาร์กอส จึงค่อนข้างต่ำ

แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่เกิดขึ้นในอนาคต เพราะทุกระบบมีจุดอ่อนทั้งนั้นแหละครับ

 ...........................................................

      ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ

      รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต

      [email protected]