ธุรกิจเพื่อการแก้ปัญหาสังคม

ธุรกิจเพื่อการแก้ปัญหาสังคม

เรื่องของธุรกิจกับสังคม เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในยุคหลังๆ ที่ผู้ประกอบการธุรกิจเริ่มมีกระบวนทัศน์ใหม่ต่อการดำเนินธุรกิจ

โดยเห็นว่า ธุรกิจจะมีความยั่งยืนได้ก็ต่อเมื่อธุรกิจและสังคมสนับสนุนเกื้อกูลซึ่งกันและกันได้อย่างแนบแน่น ธุรกิจที่สังคมให้การสนับสนุน จะเปรียบเสมือนภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดต่อความมั่นคงของธุรกิจ

แทนที่จะตั้งเป้าหมายไปที่การสร้างกำไรให้สูงที่สุดเพื่อสร้างผลตอบแทนกลับคืนมาต่อธุรกิจหรือเจ้าของธุรกิจ ธุรกิจสมัยใหม่ มักจะให้ความสำคัญไปที่เป้าหมายรวม ซึ่งได้แก่ ผลตอบแทนที่จะกลับคืนสู่ธุรกิจ ผลตอบแทนที่จะกลับคืนสู่สังคม และผลตอบแทนที่จะกลับคืนสู่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ซึ่งมักจะเรียกกันว่า ผลตอบแทนในแบบ 3 มิติ

ในขณะเดียวกัน ก็มีการพัฒนาธุรกิจในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า ธุรกิจ หรือ วิสาหกิจเพื่อสังคม เกิดขึ้นมา ซึ่งธุรกิจเพื่อสังคมนี้ มีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกันกับธุรกิจอื่นๆ ตามปกติ และคล้ายคลึงกับธุรกิจที่มีแนวคิดการทำธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนในแบบ 3 มิติ

ส่วนที่แตกต่างกันก็คือ เจตนารมณ์ของเจ้าของธุรกิจที่ต้องการจะช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก

ดังนั้น ธุรกิจเพื่อสังคม จะไม่เน้นผลตอบแทนที่จะกลับคืนสู่เจ้าของธุรกิจ เช่น การงดการจ่ายเงินปันผลคืนแก่เจ้าของหรือผู้ถือหุ้น เป็นต้น

แนวทางโดยทั่วไปที่มักจะเห็นได้ชัดเจนสำหรับธุรกิจเพื่อสังคมในปัจจุบัน อาจได้แก่

  1. การนำผลตอบแทนหรือกำไรที่เกิดขึ้นจากการใช้จ่ายของกลุ่มลูกค้าที่มาอุดหนุนธุรกิจ ไปใช้ประโยชน์ ช่วยเหลือ หรือสนับสนุนกลุ่มคนในสังคมที่ถือว่าเป็นกลุ่มด้อยโอกาส
  2. การจ้างแรงงานในสังคมหรือชุมชน เพื่อเปิดโอกาสในการสร้างอาชีพ หรือใช้ธุรกิจเป็นแหล่งสำหรับพัฒนาทักษะและอาชีพ เพื่อให้สมาชิกของสังคมสามารถนำทักษะที่เกิดขึ้นไปต่อยอดในการทำอาชีพอื่นที่สามารถทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
  3. เป็นตัวกลางหรือคนกลางทางการตลาด เพื่อนำสินค้าหรือบริการของสังคมท้องถิ่น กระจายออกไปสู่ตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้น หรือแม้กระทั่งการส่งสินค้าออกไปยังต่างประเทศ
  4. เป็นธุรกิจที่เชื่อมโยงหรือสร้างเครือข่ายเพื่อจับคู่ธุรกิจระหว่างธุรกิจในชุมชนหรือสังคมกับธุรกิจหรือหน่วยงานภายนอกอื่นๆ เพื่อขยายโอกาสทางการตลาด
  5. การจัดหาสินค้าหรือให้บริการ แก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคม ในราคายุติธรรมและใช้จ่ายได้
  6. การดำเนินธุรกิจในลักษณะคล้ายกับสหกรณ์ด้วยการคืนกำไรให้กับสมาชิก

ตัวอย่างบางส่วนของการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม อาจได้แก่

-       ร้านของชำหรือร้านสะดวกซื้อที่ติดต่อเหมาสินค้าเกรด 2 หรือ อาหารสดที่กำลังจะหมดอายุ และไม่สามารถขายได้ในร้านค้าขนาดใหญ่ มาจำหน่ายในราคาที่ถูกกว่าให้กับชุมชนรายได้น้อย

-       ศูนย์จำหน่ายสินค้าจากชุมชน

-       ร้านขายหนังสือตำราที่ให้ความรู้มือ 2 ราคาถูกและเป็นแหล่งรับแลกเปลี่ยนหนังสือตำรา

-       เว็บไซต์จำหน่ายสินค้าออนไลน์สำหรับสินค้าชุมชน

-       จำหน่ายอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการสร้างสุขอนามัยที่ดีของชุมชน เช่น เครื่องกรองน้ำราคาถูก เตาถ่านหุงต้มประสิทธิภาพสูง เครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดเล็กราคาถูก โทรศัพท์มือถือราคาถูก

-       ธุรกิจรีไซเคิลหรือการจัดการขยะเหลือทิ้ง

-       ตัวกลางการจัดหาแหล่งเงินหมุนเวียนวงเงินต่ำ (ไมโคร หรือ นาโน ไฟแนนซ์) หรือการระดมทุนผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ที่ถูกต้องตามกฎหมาย

-       ฯลฯ

จะเห็นได้ว่า แนวคิดสำหรับธุรกิจเพื่อสังคมหลายๆ ชนิด จะต้องอาศัยความคิดใหม่หรือนวัตกรรมในรูปแบบที่เพียงพอ หรือการนำเทคโนโลยีปัจจุบันมาใช้อย่างชาญฉลาด เพื่อวัตถุประสงค์ที่ต้องการจะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม